ไม่น่าเชื่อว่าเศษขยะที่เหลือทิ้งจากโรงเรียนสอนศิลปะ จะนำกลับมาใช้ผลิตเป็นดินสอแท่งใหม่ได้

ที่ Royal College of Art ในลอนดอน นักศึกษาและทางโรงเรียนได้ร่วมมือกันในการใช้ขยะที่เกิดขึ้นภายในสถาบันมาสร้างสรรค์เป็นเครื่องเขียนเพื่อให้นักศึกษาใช้กันฟรีๆ แถมเหลือก็เอามาขายเพิ่มรายได้อีกทางด้วย โครงการนี้มีชื่อว่า From Here for Here ที่เปลี่ยนโรงเรียนให้กลายเป็นโรงงานรีไซเคิลจากขยะต่างๆที่นักศึกษาแต่ละแผนกเหลือใช้จากการทำโปรเจคต่างๆ ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นนึงที่นักศึกษาศิลปะทุกคนต้องใช้ นั่นก็คือ ดินสอ นั่นเองๆๆๆ

Ariane Prin นักศึกษาผู้ที่เพิ่งจบปริญญาโทหมาดๆเป็นผู้ที่ริเริ่มโครงการนี้ โดยเธอได้แรงบันดาลใจจากการสังเกตเห็นขี้เลื่อยจำนวนมากในห้องปฎิบัติการเกี่ยวกับไม้ในโรงเรียน โดยขี้เลื่อยเหล่านี้ปลิวมาจากเครื่องตัดไม้มากองรวมกันบนพื้นผสมกับเศษวัสดุอื่นๆอย่างเช่น พลาสติก, เรซิ่น, ไม้และไฟเบอร์บอร์ด ซึ่งของพวกนี้จะต้องนำไปทิ้งอยู่แล้ว Prin ได้นำเศษขยะพวกนี้มาผสมเข้ากับน้ำและแป้งที่เธอขอมาจากห้องอาหารของโรงเรียน เมื่อมันแห้งจะได้วัสดุที่มีความเหนียวและแข็งแรงเหมาะสำหรับทำสิ่งที่ใช้หุ้มไส้ดินสอ แถมพื้นผิวของมันก็ยังสากติดมือ ไม่ลื่น จึงทำให้มันกลายเป็นวัสดุที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ในส่วนของการทำไส้ดินสอ เธอได้เริ่มทดลองใช้วัสดุหลายๆอย่างจากหลายๆแผนก ในช่วงแรกเธอประสบความสำเร็จในการใช้ของต่างๆมาผสมกันจนได้สีที่น่าสนใจ อย่างเช่น ใช้ดินเหนียวจากแผนกเครื่องปั้นมาผสมกับกราไฟต์แบบเหลวจากแผนกเครื่องแก้ว หรือใช้น้ำหมึกที่เหลือจากแผนกสิ่งพิมพ์มาผสมกับขี้ผึ้งจากแผนกเครื่องประดับ เรียกได้ว่าทุกแห่งในโรงเรียนแทบจะเป็นขุมทรัพย์ของเธอเลยทีเดียว

Prin ยอมรับว่าในช่วงเริ่มต้นของโครงการนี้ เธอยังไม่รู้หรอกว่าดินสอมีขั้นตอนทำยังไงบ้าง แต่เธอก็ได้ติดต่อดูงานกับผู้ผลิตดินสอและนั่งศึกษาคลิปวิดีโอการผลิตดินสออีกมากมาย ในช่วงแรกเธอประกอบดินสอด้วยมือโดยใช้แม่แบบหลายๆอัน ต่อมาจึงได้พัฒนามาใช้เครื่องจักรที่คล้ายเข็มฉีดยา และด้วยความช่วยเหลือจากทีมวิศวกรในสถาบัน ในที่สุดเธอก็ได้เครื่องมือที่มีชื่อว่า ” co-extruder ” อุปกรณ์ง่ายๆที่บีบไส้และหุ้มตัวดินสอออกมาด้วยสัดส่วนที่เหมาะสม

Prin และทีมงานของเธอได้ผลิตดินสอออกมาประมาณ 160 แท่งเพื่อแสดงในงาน Royal College of Art show และขายหมดไปอย่างรวดเร็ว ส่วนรายได้จากการขายก็นำเข้ากองทุนของทางโรงเรียน ส่วนทางโรงเรียนเองก็สามารถนำเครื่องนี้ไปใช้ผลิตดินสอให้กับนักศึกษาทั้งหมด 1,044 คนได้อีก

ถึงแม้เครื่องนี้จะทำงานได้ดี แต่เธอก็ไม่คิดที่จะต่อต้านหากจะมีการขยับขยายเครื่องนี้เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้มากขึ้น เพราะขี้เลื่อย 1 ถุงสามารถทำดินสอได้ 90 แท่ง ซึ่งห้องปฎิบัติการไม้ของโรงเรียนสร้างเศษขี้เลื่อยประมาณ 170 ถุงต่อปี นั่นหมายความว่ายังมีดินสออีก 15,300 แท่งที่รอการผลิตอยู่  นี่ยังไม่รวมกับการขอความร่วมมือจากโรงเลื่อยไม้ที่อยู่ใกล้ๆบริเวณนั้นอีกนะ โดยเธอเตรียมนำเครื่องนี้เข้าไปพูดคุยกับวิศวกรในโรงงานผลิตดินสอเพื่อเพิ่มกำลังผลิตให้มากขึ้น

http://vimeo.com/25672804

VIA fastcompany