ตอนเด็กๆคุณคงเคยตัดกระดาษเป็นรูปตัวการ์ตูนมาแปะหน้าไฟฉายแล้วส่องเล่นกับกำแพงใช่ป่ะ ยิ่งทำหลายๆตัวมาวิ่งไล่กันก็ยิ่งสนุก แต่ตอนนี้มีเทคโนโลยีที่ทำให้ตัวการ์ตูนเหล่านั้นมาโลดแล่นราวกับมีชีวิตจริงๆ แถมยังโต้ตอบกันเองได้ด้วย

นี่คืออุปกรณ์ตัวต้นแบบที่มีชื่อว่า SidebySide พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของ Disney Research, Pittsburgh และ Carnegie Mellon University โดยระบบนี้จะทำให้ภาพเคลื่อนไหวจากโปรเจคเตอร์แบบพกพาสองตัวสามารถปฎิสัมพันธ์กันได้ ไม่ว่าจะบนพื้นผิวของวัตถุใดๆก็ตาม

อุปกรณ์แต่ละตัวไม่ได้ใส่แค่ pico projector ไว้ ภายในยังมีตัวส่งแสงอินฟราเรด, กล้อง, เซนเซอร์จับระยะและ IMU (inertial measurement unit) แต่ผู้ใช้จะเห็นแค่แสงที่ส่งออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหวเท่านั้น ในขณะที่กล้องจะใช้เป็นตัวอ่าน image marker codes เมื่อระบบเห็นว่า markers ของตัวเองเข้าใกล้ marker ของอุปกรณ์อีกตัวนึง ภาพที่ฉายออกมาก็จะโต้ตอบเป็นการเคลื่อนไหวกลับไป

ส่วน IMU จะทำให้ระบบรู้ว่าผู้ใช้จะเคลื่อนย้ายทิศทางของแสงว่าจะไปทางไหน ในขณะที่เซนเซอร์จับระยะจะเป็นตัวบอกว่าโปรเจคเตอร์อยู่ใกล้กับพื้นผิวที่ฉายภาพลงไปมากน้อยแค่ไหน ซึ่งทั้งสองตัวนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลว่าภาพจะเคลื่อนไหวยังไง

ตัวเดโมแอพพลิเคชั่นสำหรับ SidebySide ที่ทำออกมา ส่วนใหญ่จะเป็นเกมแบบง่ายๆ อย่างเช่น เกมชกมวย, เครื่องบินที่พยายามยิงลิงกอริล่า และเกมปืนใหญ่ยิงกำแพงอิฐ นอกจากนี้ทางทีมของ Disney/Carnegie Mellon ยังได้สาธิตแอพที่นำไปใช้ได้จริงอย่างการใช้หมุนและสำรวจโมเดลวัตถุสามมิติ, การเลือกและโอนไฟล์ระหว่างอุปกรณ์สองเครื่อง และโปรแกรมสอนคำศัพท์ให้กับเด็กๆ ถ้าใครสนใจคลิ๊กดูคลิปได้ที่ลิ้งค์ข้างล่างค่ะ

VIA gizmag