แมลงเป็นแรงบันดาลใจให้กับการสร้างยานพาหนะขนาดเล็ก (Micro Air Vehicles : MAVs) ที่ใช้ในการบินตรวจสอบในสถานการณ์ที่อันตรายโดยที่ไม่ต้องส่งมนุษย์เข้าไปเสี่ยงอันตรายเลย และตอนนี้ทางนักวิจัยจาก University of Michigan College of Engineering กำลังนำเสนอวิธีการที่จะใช้แมลงที่มีชีวิตจริงๆ เสริมด้วยเซนเซอร์ไฟฟ้าเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์เดียวกัน เจ้าแมลงไซบอร์กนี้จะใช้พลังงานที่ได้จากความร้อนของร่างกายหรือการเคลื่อนไหวเป็นแหล่งพลังงานชีวภาพให้กับเซนเซอร์ขนาดเล็กที่ฝังอยู่บนร่างกายมัน โดยแมลงตัวนี้จะถูกนำไปใช้เก็บข้อมูลสำคัญๆจากสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยอันตราย

นักวิจัยได้ออกแบบเครื่องกำเนิดไฟฟ้ารูปก้นหอยที่จะเปลี่ยนพลังงานจลน์จากการขยับปีกของแมลงให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้า พลังงานนี้จะช่วยยืดอายุแบตเตอรี่ของอุปกรณ์ที่ใส่ในเป้ขนาดเล็กที่แมลงแบกอยู่บนหลัง อย่างกล้องดิจิตอลขนาดเล็ก, ไมโครโฟน เซนเซอร์ตรวจจับก๊าซหรืออุปกรณ์สื่อสาร เครื่องกำเนิดไฟฟ้ารูปก้นหอยตัวต้นแบบนี้ผลิตมาจากมาจาก bulk piezoelectric substrates และออกแบบมาเพื่อให้ผลิตไฟฟ้าได้มากที่สุดในบริเวณที่จำกัด

ทีมนักวิจัยได้พิจารณาและศึกษาเทคนิคต่างๆในการเก็บเกี่ยวพลังงานจากการขยับปีกของแมลง จนตีพิมพ์ออกมาในงานวิจัยที่มีชื่อว่า  “Energy scavenging from insect flight” ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Micromechanics and Microengineering ซึ่งตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยกำลังเตรียมจดสิทธิบัตรและหาพาร์ทเนอร์เพื่อจะผลิตออกมาขายในเชิงพาณิชย์ค่ะ

แต่การบังคับควบคุมแมลงให้ไปยังพื้นที่ที่ผู้บังคับอยากให้ไปก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องแก้ไขก่อนจะนำแมลงไซบอร์กนี้ไปใช้ในสนามจริง ซึ่งตอนนี้ทาง DARPA กำลังพัฒนาตรงส่วนนี้อยู่ โดยการใช้ Hybrid-Insect-Micro-Electro-Mechanical Systems (HI-MEMS) อินเตอร์เฟซในการควบคุมแมลงที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อนำเทคโนโลยีทั้งสองอันมาผนวกกันก็จะทำให้แมลงไซบอร์กพัฒนาขึ้นไปอีกขั้น และนำไปใช้ในสถานการณ์อันตรายก็คงจะไม่ไกลเกินเอื้อมค่ะ

VIA gizmag