ในอดีตมีคนกลุ่มนึงที่ทนไม่ได้ต่อระบบการปกครองของแบบบ้าอำนาจประเทศอังกฤษ ก็เลยล่องเรือหนีออกมาเพื่อหวังหาดินแดนเพื่อสร้างสังคมแห่งใหม่ โชคดีที่พวกเค้าได้พบโลกใหม่ซึ่งต่อมาก็ได้กลายเป็นประเทศอเมริกา นักเสรีนิยมสมัยใหม่บางคน อย่างเช่น Peter Thiel หนึ่งในผู้ก่อตั้ง PayPal ก็มีความฝันที่อยากจะล่องเรือแสวงหาอาณานิคมใหม่ที่สงบสุขเช่นกัน แต่ตอนนี้พื้นที่ทุกหนแห่งบนพื้นโลกก็ถูกรัฐบาลแต่ละประเทศจับจองเป็นเจ้าของหมดแล้ว พวกเค้าก็เลยหาทางออกด้วยการสร้างเมืองแห่งใหม่ในน่านน้ำทะเลสากลในชื่อว่าโปรเจคว่า seasteads
แนวความคิดนี้ไม่ได้เป็นอะไรที่เพ้อเจ้อซะทีเดียว เพราะสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ทางทะเลที่มีโครงสร้างคล้ายกับเมือง seasteads ก็มีอยู่แล้ว อย่างเช่น เรือเดินสมุทรขนาดยักษ์ที่สามารถบรรจุคนได้เป็นพันๆพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกอันหรูหรา แท่นขุดเจาะน้ำมันนอกชายฝั่งที่ทนต่อสภาพอากาศและคลื่นยักษ์ และ Sealand ป้อมปราการคอนกรีตนอกชายฝั่งของอังกฤษที่ก่อสร้างในยุคสงครามโลกครั้งที่สองที่ตอนนี้พยายามต่อสู้ทางกฎหมายเพื่อให้ป้อมแห่งนี้กลายเป็นรัฐอิสระค่ะ
ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นภาพของนวัตกรรมของอาณานิคมลอยน้ำแบบถาวร ที่มีอำนาจปกครองตนเองในจินตนาการของชาวเมือง seasteads การจะทำความฝันให้เป็นจริงได้ ก็ต้องเอาชนะปัญหาทางด้านเทคนิคการก่อสร้าง, ปัญหาด้านกฎหมายและวัฒนธรรม สิ่งแรกที่ต้องคิดก็คือจะสร้างเมืองแห่งนี้ยังไง หาวิธีที่ไม่ให้ถูกพันธนาการทางกฎหมายจากจากรัฐต่างๆ และให้เหตุผลที่เพียงพอกับผู้คนว่าทำไมถึงต้องย้ายมาอยู่ที่เมืองนี้
โปรเจคนี้ได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก Mr. Thiel และคนอื่นๆรวมถึง Seasteading Institute (TSI) ที่สนับสนุนการศึกษาทุกความเป็นไปได้ในการสร้างเมืองในทะเลแห่งนี้ รวมถึงคอยตอบคำถามทุกแง่มุมในด้านกฎหมายและการเงิน ถึงแม้ว่าโปรเจ็คนี้ยังไกลความจริงอยู่มาก แต่การเคลื่อนไหวของ seasteading ก็ถือว่าเป็นการวางรากฐานที่จะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุด
ไอเดียลอยน้ำ
การออกแบบของ Seastead แบ่งออกเป็น 3 หมวด ได้แก่ โครงสร้างที่เป็นเรือ, โครงสร้างขนาดใหญ่คล้ายกับโป๊ะลอยน้ำ และแท่นแพลตฟอร์มที่ติดอยู่กับเสาที่ฝังอยู่ในน้ำกึ่งนึงคล้ายกับแท่นขุดเจาะน้ำมัน
ในงบประมาณที่เท่ากัน โครงสร้างแบบเรือสามารถจุพื้นที่สำหรับทำอพาร์ตเม้นท์และสำนักงานได้มากกว่าสองแบบที่เหลือ แต่ข้อเสียก็คือ มันมีโอกาสโคลงเคลงมากๆเมื่อเจอคลื่นลมแรงๆ ถ้าหากจะใช้ stabilisers แบบที่เรือใหญ่ๆใช้เพื่อเรือมีความนิ่ง ก็จะได้ผลก็ต่อเมื่อสภาพคลื่นลมปานกลางและเรือต้องแล่นไปด้วยความเร็ว ถึงจะแล่นฝ่าพายุไปได้โดยไม่โคลงเคลง แต่โครงสร้างของ seasteads จะยึดติดอยู่กับที่จึงจำเป็นต้องหาวิธีแก้กันต่อไป
โครงสร้างแบบโป๊ะเป็นการก่อสร้างที่มีค่าใช้จ่ายถูกที่สุด แต่มันไม่ค่อยมั่นคงถ้าเจอคลื่นลมแรงๆ ทางผู้ผลิตเรืออย่าง Mitsubishi Heavy Industries จากญี่ปุ่นได้ยื่นแบบของเมืองลอยน้ำที่ใช้โป๊ะลอยน้ำขนาดยักษ์ที่มาพร้อมตึกระฟ้าที่โผล่มาเหนือ waterline แต่โครงสร้างแบบนี้เหมาะกับน่านน้ำที่เงียบสงบมากกว่า ซึ่งนั่นหมายความว่ามันต้องสร้างใกล้ๆแผ่นดินซึ่งอาจจะอยู่ในอาณาเขตของรัฐบาลประเทศใดประเทศหนึ่ง George Petrie ศาสตราจารย์สาขาสถาปัตยกรรมทางน้ำจาก Webb Institute นิวยอร์คคำนวนแล้วว่า ต่อให้สร้างแถวฮาวายที่คลื่นลมสงบ โครงสร้างแบบนี้ยังทำให้คนที่อาศัยอยู่บนนั้นเมาคลื่นได้เลย
ส่วนโครงสร้างแบบแท่นขุดเจาะน้ำมันที่สร้างอยู่บนเสาเป็นแบบที่มีความมั่นคงแข็งแรงที่สุด แต่ค่าก่อสร้างก็สูงที่สุดด้วย และคนที่จะเข้ามาอาศัยอยู่ที่นี่แบบถาวร มักจะคาดหวังเรื่องความสะดวกสบาย แม้ในสภาวะอากาศที่สงบนิ่ง โครงสร้างเสาลอยน้ำก็จะยกตัวขึ้นๆลงๆไปตามแรงคลื่นข้างใต้ ให้หลายคนอาจจะเมาคลื่นได้ เพื่อป้องกันไม่ให้มันไหลไปตามกระแสน้ำและแรงลม seasteads อาจจำเป็นต้องใช้ dynamic-positioning thrusters แต่นั่นก็ทำให้ค่าก่อสร้างสูงขึ้นไปอีก ถ้าสร้างในระดับน้ำที่ลึกไม่เกิน 1,800 เมตรทางออกที่ถูกที่สุดคือการผูกโครงสร้างนี้ไว้กับก้นทะเล ถ้าใช้วิธีนี้สถานที่ก่อสร้างได้น่าจะใกล้เกาะนอกชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย แต่บริเวณนั้นก็มีความเสี่ยงเรื่องภูเขาไฟระเบิดอยู่
ถึงแม้จะเคาะพิมพ์เขียวโครงสร้างของเกาะออกมาได้แล้วว่าจะใช้โครงสร้างไหนดี แต่ปัญหาด้านเทคนิคก็ยังไม่จบ เพราะคนที่มาอาศัยที่นี่ยังต้องพึ่งพาน้ำ อาหารและพลังงานจากแผ่นดินใหญ่อยู่ดี จึงเป็นการยากที่จะให้พวกเค้าย้ายออกมาจากประเทศเดิมที่อาศัยอยู่ ถึงแม้ว่าในทะเลจะมีพลังงานหมุนเวียนอย่าง พลังงานลม พลังงานคลื่น และพลังงานแสงอาทิตย์ แต่การสร้างระบบพลังงานหมุนเวียนที่ทนต่อพายุก็เป็นเรื่องที่ยาก แถมมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ปัญหาอีกข้อก็คือเรื่องการสื่อสาร ถ้าคนมาอยู่ก็คงต้องพึ่งการสื่อสารผ่านดาวเทียมที่ทั้งช้าและมีราคาแพง หากจะวางใยแก้วนำแสงในทะเลก็เป็นเรื่องยาก หรือจะใช้ point-to-point laser หรือ microwave ก็อาจจะเวิร์คแต่ถึงยังไงมันก็ต้องพึ่งพาสถานีส่งสัญญาณบนแผ่นดินอยู่ดี
เงื้อมือของกฎหมาย
นอกจากความท้าทายด้านเทคนิคการสร้างแล้ว คำถามต่อมาก็คือ seasteads มันมีความเป็นไปได้แค่ไหนในการสร้างรัฐที่มีอิสระในการปกครองตนเองอย่างแท้จริงในมหาสมุทร เพราะชาว seasteads พร้อมจะตัดขาดจากแผ่นดินใหญ่เพื่อสร้างอาณานิคมแห่งใหม่ในระยะที่ห่างชายฝั่งไม่เกิน 12 ไมล์ทะเล (22กม.) ซึ่งเป็นเขตน่านน้ำสากล ถ้าไกลกว่านั้นจะทำให้การเดินทางใช้เวลานานเกินไป แต่ปัญหาก็คือกฎหมายทางทะเลที่ให้อำนาจทุกประเทศในการบังคับใช้กฎหมายอาชญากรรมในระยะครอบคลุม 24 ไมล์ทะเล และยังให้สิทธิควบคุมดูแลกิจกรรมทางเศรษฐกิจบนเขตเศรษฐกิจจำเพาะในระยะ 200 ไมล์ทะเลอีกด้วย
ในบางประเทศอย่างอเมริกามีสิทธิขยายอำนาจการตัดสินคดีในเรื่องที่มีผลกระทบกับพลเมืองของตนเองได้ทั่วโลก ทาง seastead อาจจะถูกบังคับให้ลงทะเบียนกับ “flag state” เพื่อให้อยู่ภายใต้กฎหมายพาณิชย์นาวีของรัฐเจ้าของธงนี้ แต่ flag states ของบางประเทศก็ไม่เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเท่าไหร่ แต่ถ้าอเมริกาไม่เห็นชอบกับเมืองลอยน้ำ seasteads ก็อาจจะทำให้การพึ่งพากันลำบาก และต้องออกกฎหมายมาบังคับใช้กับเอง ยกตัวอย่างเช่น ในยุค 1960s รัฐบาลอังกฤษได้ระงับเรือวิทยุโจรสลัดโดยไม่ต้องส่งทหารเรือไปสู้ด้วย เพียงแค่แบนคนที่ส่งเสบียงและการค้าขายกับพวกโจรเท่านั้นเอง
ผู้นำในการขับเคลื่อน seasteads ยอมรับว่า พวกเค้าต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เมืองนี้ไปเกี่ยวพันกับสิ่งผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น ยาเสพติด, หนังโป๊ หรือการฟอกเงิน ส่วนในเรื่องของภาษี อเมริกาต้องการให้พลเมืองของที่นี่จ่ายภาษีไม่ว่าพวกเค้าจะอยู่ที่นี่หรือที่อื่นในโลกก็ตาม ซึ่งอาจทำให้ประเทศอื่นเก็บภาษีแบบนี้ตามอเมริกาด้วย แม้ว่า seasteaders จะสามารถเก็บเงินฝากธนาคารในสถาบันการเงินอิสระบนเมืองลอยน้ำได้ แต่ยังไงก็ไม่พ้นเงื้อมือของสรรพากรอยู่ดี
ปัจจัยทางด้านภาษีอาจจะไม่เป็นสิ่งที่ดึงดูดพอให้คนมาอาศัยอยู่ที่นี่ แม้ว่าที่นี่จะเป็นรัฐอิสระแต่หลายคนก็อาจอยากจะอยู่ในเมืองที่มีกฎหมายเข้มงวดหรือเก็บภาษีแพงอย่าง ลอนดอนหรือนิวยอร์คมากกว่า ในอดีตเมื่อ 10 ปีก่อนก็เคยมีโปรเจคที่ชื่อว่า “Free State Project” ที่ให้คน 20,000 คนลองย้ายไปยังรัฐนิวแฮมป์เชียร์และให้มีส่วนร่วมโหวตในการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ก็ยังห่างจากความสำเร็จอยู่มาก
การย้ายมาอยู่เมืองลอยน้ำทำให้หลายคนต้องยอมสละการใช้ชีวิตและวัฒนธรรมแบบเดิม ทิ้งสวนสาธารณะ ร้านอาหารร้านโปรด ห้างที่ไปช็อปเป็นประจำ ดังนั้นการออกแบบสภาพแวดล้อมให้เหมือนจริงที่สุดจะช่วยลดจำนวนผู้ที่จะเข้ามาอาศัยที่นี่คือต้องทำให้มันหรูเวอร์ไปเลย แต่ชาว seasteads บางคนคิดหาวิธีที่จะสร้างเมืองลอยน้ำเสรีในฝันให้มีขนาดไม่ต้องใหญ่มาก เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของแนวความคิดนี้ก่อน ด้วยการพาตัวเองไปตั้งรกรากนอกอาณาเขตน่านน้ำของประเทศใดประเทศหนึ่งเพื่อหลีกเลี่ยงการอยู่ภายใต้กฎหมาย
เมืองลอยน้ำนี้จะแสดงให้รัฐบนแผ่นดินใหญ่รู้ว่า การเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำ, การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เข้มงวด และแรงงานต่างด้าวสามารถเข้าออกเมืองได้อย่างอิสระจะสร้างความรุ่งเรืองโดยไม่มีผลทางด้านลบได้อย่างไร การดำเนินธุรกิจทางทะเลอาจจะเป็นอีกก้าวที่ผลักดันให้เกิดเมืองลอยน้ำอย่างแท้จริง
Stepping stones to a seastead
ในปี 2010 กลุ่มนักวิศวกรทางทะเลได้ทำการศึกษารายละเอียดการดีไซน์ของ ClubStead—เมืองรีสอร์ทลอยน้ำที่อยู่นอกชายฝั่งแคลิฟอร์เนีย 100 ไมล์ทะเล ที่นี่มีพนักงาน 70 คนรองรับแขกได้สูงสุด 200 คน ซึ่งการออกแบบเป็นการผสมผสานระหว่างเรือและแท่นขุดน้ำมันทำให้ช่วยป้องกันทั้งลมและคลื่น เมืองนี้มีอาคารอยู่ 7 อาคาร โดยใช้โครงสร้างเสาเลียนแบบสะพานในการรับน้ำหนัก ด้วยพื้นที่ดาดฟ้าที่เปิดพื้นที่มากขึ้นเพื่อใช้ขึงสายเคเบิ้ล ถึงแม้ว่าส่วนหลังคาตึกจะติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์เอาไว้ แต่ ClubStead ก็ยังพึ่งพาแหล่งพลังงานหลักจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซลอยู่ดี ในส่วนของน้ำจืด รีสอร์ทแห่งนี้ใช้น้ำทะเลมาผลิตค่ะ
การศึกษาการออกแบบของ ClubStead รวมถึงศึกษารายละเอียดการต้านทานคลื่นและลม, วิธีการก่อสร้าง และอื่นๆอีกมากมาย แต่ผู้ที่ออกแบบก็ยอมรับว่ามีอะไรมากมายที่ต้องทำก่อนที่จะเขียนพิมพ์เขียนออกมาได้สำเร็จ พร้อมก่อสร้าง Nigel Barltrop ศาสตราจารย์ด้านสถาปัตยกรรมทางเรือจาก Strathclyde University สก็อตแลนด์กล่าวว่า “ ไม่สงสัยเลยที่คุณสามารถทำอะไรแบบนี้ได้ แถมยังทำได้เวิร์คซะด้วย” แต่เค้าคิดว่าโครงสร้างนี้จำเป็นต้องเสริมอีกหน่อยเพื่อป้องกันการเสียหาย เพราะข้อต่อโลหะต่างๆมักจะส่งเสียงเอี๊ยดอ๊าดเมื่อโดนคลื่น ไม่อย่างนั้นอาจจะเกิดภัยพิบัติอย่างการพังของที่พักลอยน้ำของพนักงานแท่นขุดเจาะน้ำมันในปี 1980 ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 123 คน
นอกจากส่วนของที่พักแล้ว ClubStead ยังมีส่วนของคาสิโนและศูนย์พยาบาลนักท่องเที่ยว ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคนอเมริกันจึงมีปัญหาเรื่องวีซ่า พวกเค้าต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในทะเลและกลับขึ้นฝั่งบ้างด้วยวีซ่านักท่องเที่ยว ที่นี่ใช้ค่าก่อสร้างทั้งหมด 114 ล้านดอลล่าร์ซึ่งถูกกว่าโรงแรงหรูๆบนแผ่นดินใหญ่บางแห่งซะอีก ซึ่งค่าก่อสร้างส่วนใหญ่หนักไปที่ก็คือส่วนที่เป็นอพาร์ทเม้นท์ ส่วนค่าบริหารจัดการรายปีอยู่ที่ 3.4 ล้านดอลล่าร์ต่อปี
อีกทีมนึงที่แยกตัวออกมาจาก TSI ก็กำลังศึกษาแนวความคิดที่ทั้งง่ายและถูกกว่าในชื่อว่า “Blueseed” ไอเดียนี้คือการเปลี่ยนเรือสำราญให้กลายเป็นสถานที่ฟักไข่นอกชายฝั่งสำหรับบริษัทไฮเทคเปิดใหม่ขนาดเล็ก ตั้งอยู่นอกอาณาเขตน่านน้ำของอเมริกา ห่างจากแคลิฟอร์เนียออกไป เพื่อดึงดูดให้บริษัทเหล่านี้สามารถจ้างงานวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติได้โดยไม่มีปัญหาเรื่องวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน การดัดแปลงเรือสำราญจะมีค่าใช้จ่ายราวๆ 15-50 ล้านดอลล่าร์ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือ ค่าเช่าสำนักงานและที่พักอาศัยรวมกันอยู่ที่ราวๆ 2,000$ ต่อเดือน ซึ่งใกล้เคียงกับ Silicon Valley โปรเจคนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการระดมเงินทุน ต้องชี้แจงตอบข้อสงสัยของนักลงทุนให้หมด รวมถึงกฎหมายพาณิชย์นาวีด้วยซึ่งเป็นเรื่องที่นักธุรกิจหลายคนไม่คุ้นกัน ปัญหาอีกอย่างก็คือยังไม่ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ของอเมริกาจะตีความกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองอย่างไร เพราะบางข้อก็เขียนไว้อย่างคลุมเคลือ
ถ้าโปรเจค ClubStead และ Blueseed สามารถพิสูจน์ตัวเองได้ ก็จะดึงดูหลายๆอุตสาหกรรมที่มีรายได้มหาศาลจากการใช้พนักงานที่มีทักษะจำนวนไม่กี่คน ที่ต้องเจอภาษีหนักๆหรือกฎข้อบังคับมากมาย เช่น สถาบันการเงิน, บ่อนคาสิโน,ธุรกิจศัยกรรมความงาม เป็นต้น โรงพยาบาลเอกชนสามารถทำการรักษาด้วยวิธีใหม่ๆที่ได้รับการอนุมัติในประเทศอื่นมาแล้ว แต่ในอเมริกายังไม่ยินยอมได้
แทนที่จะไปตัดสินล่วงหน้าว่าธุรกิจใดเหมาะที่จะมาอยู่บนเมืองลอยน้ำแห่งนี้ Petrie กลับมีไอเดียที่มากไปกว่านี้ ด้วยการสร้างแผ่นดินลอยน้ำขนาดใหญ่กลางมหาสมุทรแล้วก็ให้ใครก็ได้ที่อยากเช่าพื้นที่มาเช่า ด้วยที่พักส่วนบุคคลและสำนักงานน่าจะมีคนสนใจ ถ้าใครไม่จ่ายค่าเช่าก็ไล่ออกแล้วหารายใหม่มาแทน เมือง seasteads จะค่อยๆพัฒนาและหาหนทางของตัวเองจนเจอ Petrie ยังตั้งเป้าว่าค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตอยู่ที่เมืองลอยน้ำนี้ไม่ควรเกินค่าเฉลี่ยรายได้ครัวเรือนระดับชนชั้นกลางไปถึงสูงของคนอเมริกัน
Who will jump in first?
นอกจากค่าใช้จ่ายที่สูงและความเสี่ยงต่างๆแล้ว บางที่ผู้ที่จะมาอาศัยที่นี่เป็นกลุ่มแรกอาจจะไม่ใช่กลุ่มหัวสมัยใหม่อย่าง Blueseed team แต่อาจจะเป็นบริษัทวิศวกรยักษ์ใหญ่อย่าง Mitsubishi, Tata group ของอินเดีย หรือซัมซุงจากเกาหลีใต้ Keenan ได้ตั้งข้อสังเกตว่าโมเดลการเมืองสำหรับ seastead อาจจะไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่อาจจะเป็นระบบ enlightened corporate dictatorship แทน
หลายคนกล่าวว่าเมืองลอยได้บนท้องฟ้าน่าจะสร้างได้จริงมากกว่าเมืองลอยน้ำ แต่ชาว seasteads ก็ไม่ยอมให้ใครมาขัดขวางความฝัน เพราะว่าปัจจุบันยังไม่มีเมืองลอยน้ำสักแห่งบนพื้นโลก การสร้างเมืองในน้ำก็โอเคอยู่ถ้าทำที่แรกได้สำเร็จ เดี๋ยวก็จะมีเมืองอื่นๆตามมาเองนั่นแหละ
VIA economist