เราอาจจะได้แหล่งพลังงานชีวภาพแห่งใหม่จากเศษผักและผลไม้ที่หลายคนทานเหลืออยู่ทุกวัน
หลายปีที่ผ่านมาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงได้ดีดตัวสูงขึ้นมาก ทำให้หลายคนหันมาติดก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงแทน แต่ก๊าซธรรมชาติก็เหมือนน้ำมันที่มีวันหมดเหมือนกันและราคาก็ขยับสูงขึ้นตามจำนวนผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นด้วย ทางนักวิจัยจาก Fraunhofer จึงได้พัฒนาโรงงานต้นแบบ หมักขยะที่เหลือจากตลาดขายส่งผักผลไม้และร้านอาหารต่างๆเพื่อผลิตเป็นก๊าซมีเทนสำหรับนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับรถยนต์
โรงงานต้นแบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ETAMAX ที่่สร้างขึ้นติดกับตลาดค้าส่งในเมืองสตุ๊ดการ์ด โรงงานแห่งนี้เพิ่งเริ่มเปิดใช้งานเมื่อสองสามเดือนก่อน ผลิตก๊าซมีเทนด้วยการใช้จุลินทรีย์ชนิดต่างๆมาทำปฏิกิริยากับเศษอาหารเพื่อให้เกิดกระบวนการ two-stage digestion ซึ่งกินระยะเวลา 2-3 วันจนได้ก๊าซมีเทน
ขยะจะประกอบไปด้วยน้ำและมีปริมาณ lignocellulose ต่ำ จึงทำให้การหมักเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่จุลินทรีย์ต้องการสิ่งแวดล้อมที่คงที่ถึงจะทำงานได้ดี และขยะในแต่ละวันก็มีสัดส่วนและองค์ประกอบไม่เหมือนกัน บางวันอาจจะมีกรดไซตรัสถ้ามีผลไม้มาก ดังนั้นทางนักวิจัยจึงต้องทำการปรับค่า pH ให้เหมาะสมด้วยการจัดการขยะตั้งต้นก่อนนำเข้าสู่กระบวนการผลิต ด้วยการแยกขยะเป็นหลายๆถังโดยใช้ตัวชี้วัดต่างๆมาคำนวณหาค่าที่เหมาะสม รวมถึงค่า pH ด้วย แถมยังมีระบบจัดการที่ออกแบบมาเป็นพิเศษคอยตัดสินว่าปริมาณขยะจำนวนเท่าไหร่ จากถังไหนบ้างที่ควรจะนำมาผสมกันเพื่อนำมาเลี้ยงจุลินทรีย์ได้ดีที่สุด
โรงงานแห่งนี้ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะของทุกๆอย่างที่โรงงานผลิตออกมา สามารถนำมาใช้งานได้หมด เช่น ของเหลวที่เหลือจากการหมักที่จุลินทรีย์ไม่สามารถย่อยสลายได้ มันจะมีไนโตรเจนและฟอสฟอรัสเป็นส่วนประกอบก็นำไปใช้ในโครงการย่อย อย่างการเพาะเลี้ยงสาหร่ายในเมือง Reutlingen ขยะที่นำมาผลิตก๊าซชีวภาพจะได้ก๊าซมีเทนจำนวนสองในสาม ส่วนที่เหลือจะเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งก็นำไปเลี้ยงสาหร่ายเช่นกัน
โครงการ ETAMAX ยังให้ความร่วมมือกับ Baden-Württemberg (EnBW) บริษัทด้านพลังงานที่ใช้เมมเบรนมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ รวมถึงบริษัท Daimler ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในการช่วยออกแบบรถยนต์ตัวอย่างที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นตัวขับเคลื่อน นอกจากนี้ทางกระทรวง Federal Ministry of Education and Research (BMBF) ของเยอรมันยังให้เงินทุนสนับสนุนเป็นจำนวน 6 ล้านยูโรด้วย ถ้าทุกองค์ประกอบสามารถทำงานร่วมกันได้ดีตามที่คาด เราอาจจะได้เห็นโรงงานแบบนี้ไปสร้างตามที่ต่างๆที่มีขยะชีวภาพอีกหลายแห่งเลยล่ะ
VIA gizmag