ตอนเรียนคาบเรียนที่น่าเบื่อหลายๆคนคงเคยแอบหลับกัน เค้าก็เลยใช้หุ่นยนต์คุณครูมาทำหน้าที่สอดส่องระดับความสนใจของนักเรียน รวมถึงเลียนแบบพฤติกรรมและใช้เทคนิคเดียวกับคุณครูที่เป็นมนุษย์ในการดึงความสนใจของนักเรียนเพื่อไม่ให้เผลอหลับ โดยเฉพาะนักเรียนที่ศึกษาผ่านชั้นเรียนออนไลน์ ผลพบว่าการใช้เทคโนโลยีนี้ช่วยให้นักเรียนจำบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น

ระบบการศึกษาอัจฉริยะที่ใช้คุณครูเสมือนจริงในการปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนจะมีบทบาทสำคัญในการขยายขอบเขตการศึกษาออนไลน์ แต่ปัญหาที่เกิดก็คือ เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่านักเรียนมีสมาธิและให้ความสนใจกับบทเรียนมากน้อยแค่ไหน สิ่งที่คุณครูเสมือนจริงสู้มนุษย์ไม่ได้ก็คือ กลเม็ดต่างๆที่นำมาใช้เพื่อดึงความสนใจในชั้นเรียน ตั้งแต่การเปลี่ยนระดับเสียงสูงต่ำ/เปลี่ยนโทนเสียง ใช้ท่าทางประกอบการสอนเพื่อเน้นและดึงความสนใจจากนักเรียน

Bilge Mutlu และ Dan Szafir จาก University of Wisconsin-Madison ต้องการค้นคว้าว่าหุ่นยนต์จะสามารถใช้เทคนิคแบบเดียวกันนี้เพื่อดึงความสนใจได้หรือไม่ ทั้งสองคนเลยตั้งโปรแกรมให้หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ Wakamaru เพื่อเล่าเรื่องให้นักเรียนแบบหนึ่งต่อหนึ่ง หลังจากนั้นก็ทำการทดสอบความจำของนักเรียน ส่วนการวัดระดับการมีส่วนร่วมก็จะใช้เซนเซอร์ EEG ในการสอดส่องบริเวณ FP1 ของสมองที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนรู้และสมาธิ เมื่อคลื่นสมองลดลงอย่างเห็นได้ชัดนั่นหมายความว่าระดับความสนใจของนักเรียนลดลง โดยระบบจะส่งสัญญาณนี้ไปยังหุ่นยนต์เพื่อเป็นการบอกใบ้ให้รู้

เริ่มแรกเค้าจะให้หุ่นยนต์เล่าเรื่องสั้นเกี่ยวกับสัตว์ต่างๆในปีนักษัตรของจีน เพื่อใช้เป็นค่าพื้นฐานของการอ่าน EEG ต่อมาก็ให้หุ่นยนต์เล่านิทานชื่อดังของญี่ปุ่นที่เด็กๆไม่เคยได้ฟังมาก่อน ระหว่างการเล่าถ้าคลื่นสมองตกลงไป หุ่นยนต์ก็จะเพิ่มน้ำเสียงหรือใช้ท่าทางเพื่อดึงความสนใจของนักเรียน เช่น ใช้มือชี้ไปที่ตัวเองหรือชี้นักเรียน ใช้มือวาดภาพเป็นรูปภูเขา ส่วนเด็กนักเรียนที่รับการทดสอบอีกสองกลุ่มต่อมา ระบบจะไม่มีการบอกใบ้ใดๆให้กับหุ่นยนต์ระหว่างการเล่าเรื่อง หลังจากนั้นเหล่าเด็กๆก็จะถูกถามคำถามสองสามข้อเกี่ยวกับนักษัตรเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ ก่อนที่จะไปถามคำถามจริงๆเกี่ยวกับนิทานญี่ปุ่น ผลการทดสอบก็เป็นไปตามคาด นักเรียนกลุ่มที่มีการให้คำใบ้กับหุ่นยนต์จะจดจำเรื่องราวที่ฟังได้มากกว่าอีกสองกลุ่ม โดยพวกเค้าตอบคำถามถูก 9 ข้อจาก 14 ข้อ ส่วนอีกสองกลุ่มตอบคำถามถูกเฉลี่ย 6.3 ข้อเท่านั้น

ถ้าใครสนใจพวกเค้าทั้งคู่เตรียมนำผลการวิจัยครั้งนี้ไปแสดงในงาน Conference on Human Factors in Computing Systems ที่จัดขึ้นที่เมือง Austin รัฐเท็กซัสค่ะ

VIA Newscientist