ที่ผ่านมาเราได้เห็นพัฒนาการของเทคโนโลยีที่นำมาใช้สำหรับหุ่นยนต์เพื่อรับรู้การสัมผัสได้ แต่ยังไม่มีเทคโนโลยีไหนน่าประทับใจเท่าอันนี้เลยล่ะ

นี่คือเซนเซอร์รับการสัมผัสที่พัฒนาขึ้นโดยนักวิจัยจากคณะ Viterbi School of Engineering แห่ง University of California ด้วยการนำเซนเซอร์ BioTac มาสร้างเลียนแบบปลายนิ้วมือของมนุษย์เพื่อให้ระบุวัสดุต่างๆ ซึ่งมันมีความเป็นไปได้ในการต่อยอดประยุกต์ใช้กับหุ่นยนต์หรือการผลิตอวัยวะเทียม

เซนเซอร์ขนาดเท่านิ้วมือนี้ประกอบไปด้วย ผิวภายนอกที่อ่อนนุ่มและยืดหยุ่น ส่วนภายในบรรจุของเหลวเอาไว้  ในส่วนของผิวหนังจะมีการพิมพ์ลายนิ้วมือเอาไว้เพื่อเพิ่มความไวต่อการจับแรงสั่นสะเทือน เพราะเมื่อเซนเซอร์นี้เคลื่อนที่ไปบนพื้นผิวของวัสดุใดๆก็ตาม มันก็จะเกิดการสั่นที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์เสริมอย่างไมโครโฟนที่ออกแบบมาสำหรับใช้จับการสั่นสะเทิอนใต้น้ำ (hydrophone) แต่อย่างไรก็ตามนิ้วหุ่นยนต์นี้จะมีความไวและสามารถระบุแรงสั่นสะเทือน, แรงที่มากระทบกับนิ้ว รวมถึงอุณหภูมิของวัตถุที่สัมผัสได้ดีกว่ามนุษย์

ทางนักวิจัยได้ทำการพัฒนาอัลกอริทึ่มแบบใหม่ที่จำลองการคลำเพื่อสำรวจวัตถุโดยใช้พื้นฐานจากประสบการณ์ในการสัมผัสวัตถุแบบเดียวกันก่อนหน้านี้ เพื่อให้หุ่นยนต์บอกว่าวัตถุใหม่ที่สัมผัสคืออะไรที่มีชื่อเรียกว่า “Bayesian Exploration” ซึ่งมันใช้การสัมผัสเฉลี่ยแค่ 5 ครั้งก็สามารถระบุว่าสิ่งที่สัมผัสคือวัสดุอะไร โดยมีความแม่นยำอยู่ที่ 95%

ปัจจุบันนิ้วหุ่นยนต์นี้สามารถระบุวัสดุต่างๆได้มากถึง 117 ชนิด ทั้งผ้าและของที่ขายในร้านเครื่องเขียนและร้านขายฮาร์ดแวร์ ถ้าใครสนใจก็สามารถไปอ่านต่อในงานวิจัยที่ชื่อ “Bayesian exploration for intelligent identification of textures,” ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Frontiers in Neurobotics ได้ค่ะ

VIA Gizmag