หลายๆคนในญี่ปุ่นเพิ่งฟื้นตัวจากเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวและซึนามิเมื่อปีก่อน แต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็ยังคงทิ้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเอาไว้ ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าผีเสื้อที่อยู่รอบๆโรงไฟฟ้ามีการกลายพันธุ์ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น
ผีเสื้อที่นักวิทยาศาสตร์พบหลังจากเหตุการณ์โรงไฟฟ้ารั่ว มีจำนวนขาและหนวดที่เพิ่มขึ้น ปีกของมันมีการเปลี่ยนรูปทรงไปจากเดิม ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบความเชื่อมโยงระหว่างการกลายพันธุ์กับสารกัมมันตภาพรังสีที่รั่วออกมา
เมื่อเดือนมีนาคม 2011 สองเดือนหลังจากโรงไฟฟ้าระเบิด นักวิจัยญี่ปุ่นได้ทำการเก็บตัวอย่างผีเสื้อพันธุ์ pale grass blue ตัวโตเต็มวัย 144 ตัวจาก 10 สถานที่ทั่วญี่ปุ่นซึ่งมีฟุกุชิมะรวมอยู่ด้วย นักวิจัยบอกว่าช่วงที่เกิดนิวเคลียร์รั่วไหล ตอนนั้นผีเสื้อเหล่านี้ยังเป็นหนอนตัวอ่อนอยู่ เมื่อนำผีเสื้อตัวเต็มวัยมาเปรียบเทียบกับพันธุ์เดียวกันที่เก็บมาจากแหล่งอื่น ทีมนักวิจัยก็รู้ได้ทันทีว่ากัมมันตภาพรังสีในธรรมชาติที่ฟุกุชิมะเพิ่มขึ้นจนทำให้ผีเสื้อมีปีกที่เล็กลงและตาที่ผิดปกติ นอกจากนี้นักวิจัยยังพบว่าการกลายพันธุ์นี้ยังสืบทอดไปยังลูกหลานของมันด้วย
เพราะหกเดือนหลังจากที่เก็บตัวอย่างผีเสื้อรุ่นแรกแล้ว นักวิจัยก็ออกไปเก็บตัวอย่างผีเสื้อตัวเต็มวัยอีกครั้งในพื้นที่เดียวกับที่เคยเก็บครั้งแรก พวกเค้าค้นพบว่าอัตราการกลายพันธุ์ของผีเสื้อที่ฟุกุชิมะเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 2 เท่า ผีเสื้อรุ่นลูกที่พบที่ฟุกุชิมะจะมีหนวดที่ผิดแปลกออกไป (ปกติผีเสื้อจะใช้หนวดในการสำรวจสิ่งแวดล้อม หาอาหารและใช้หาคู่) นั่นหมายความว่าอัตราการกลายพันธุ์เป็นผลโดยตรงมาจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี และมันสามารถส่งต่อจากพ่อแม่ไปยังรุ่นลูกได้
VIA Slashgear