ยุคต่อไปของอุปกรณ์พกพาจะเน้นแข่งกันด้าน ecosystem มากกว่าการจับยัดสเปคแรงๆลงไปในเครื่อง หากค่ายไหนยังจับกระแสนี้ไม่ได้ รับรองในไม่ช้าก็จะสู้คู่แข่งไม่ได้
ในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา ซัมซุงได้ก้าวขึ้นไปเป็นผู้ผลิตที่ขายมือถือได้มากที่สุดในโลกแซงโนเกียไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่โนเกียรักษาสถิตินี้ได้มายาวนานถึง 14 ปี ในขณะที่ยอดขายไอโฟน 5 ในสัปดาห์แรกก็เปิดตัวได้สวยงามถึง 5 ล้านเครื่อง ส่วนยอดขายของ Galaxy S III ก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจ
หากสังเกตกันอย่างละเอียดจะพบว่า สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆที่ออกในปีนี้สิ่งที่เราเห็นก็คือฮาร์ดแวร์ของเครื่องไม่ใช่จุดขายหลักอีกต่อไป แต่จะเป็นเรื่องของฟีเจอร์,แอพพลิเคชั่นหรือบริการใหม่ๆ ยกตัวอย่างเช่น โนเกียเปิดตัว Nokia Music มาพร้อมกับ Lumia ระบบปฏิบัติการ Windows Phone 8, LG Intuition มาพร้อมกับ “QuickMemo” ที่ช่วยให้จดโน้ตบนหน้าจอได้อย่างง่ายดาย, ซัมซุงก็ใส่ฟีเจอร์ใหม่ๆลงใน S3 และ Note 2 มาให้เพียบ, โซนี่ก็เน้นเรื่อง Sony Universe ที่เน้นการใช้งานร่วมกับของกล้องดิจิตอล อุปกรณ์เล่นเกม เครื่องเล่นเพลงแบบพกพา รวมถึงอุปกรณ์เสริมต่างๆมากมาย ด้าน Apple ก็เน้นแนวทางนี้มาตั้งแต่ไอพอดรุ่นแรกออกวางตลาด ด้วยการพัฒนา iTunes เพื่อใช้งานร่วมกับ Mac นี่เป็นหลักฐานว่าการสร้าง ecosystem ไม่ใช่เรื่องของอนาคต แต่ละค่ายก็มี ecosystem ของตัวเอง
software ecosystem นี่แหละคือจุดที่สร้างความแตกต่าง การที่มีซอฟท์แวร์, media network, แอพพลิเคชั่น, ระะบบขายเพลง,หนังและหนังสือดิจิตอลเป็นของตัวเองนั่นจะสร้างผลประโยชน์มากกว่าการสร้างระบบ hardware ecosystem ของตัวเอง เพราะเครื่องขายแล้วขายเลยส่วนใหญ่อัพเกรดไม่ได้ แต่บริการหรือซอฟท์แวร์สามารถอัพเดทได้เรื่อยๆแถมใช้กับอุปกรณ์รุ่นเก่าๆได้ เปิดโอกาสให้ผู้พัฒนาคิดช่องทางการหารายได้ใหม่ๆใส่เพิ่มเข้าไปทีหลังได้ ถ้าคิดระบบดีๆจะช่วยป้องกันไม่ให้ลูกค้ย้ายไปหาค่ายอื่นได้ง่ายๆเช่นกัน
ปัจจุบันอิทธิพลของแบรนด์เริ่มมีบทบาทมากขึ้น เช่นเดียวกับแอพใหม่ๆที่ลงได้เฉพาะตระกูลของอุปกรณ์นั้นๆ เช่น สิริของแอปเปิ้ล ทางฟากซัมซุงก็มีแอพเฉพาะที่หาโหลดใน Play Store ไม่ได้ ส่วนโนเกียก็เข้าใจถึงจุดนี้ดีก็เลยออกสมาร์ทโฟนตระกูล Windows Phone 8 ที่นอกจากจะเพิ่มความน่าเชื่อถือของแบรนด์แต่ยังได้ ecosystem ของ Microsoft มาด้วย นั่นจึงทำให้หลายๆคนหันกลับมามองโนเกียอีกครั้ง
นับถึงตอนนี้การพัฒนาฮาร์ดแวร์ของสมาร์ทโฟนไต่ขึ้นมาเกือบสูงสุดแล้ว ต่อไปเราก็ต้องมาดูกันว่าใครจะพัฒนาระบบ ecosystem เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานอุปกรณ์ให้โดยใจลูกค้ามากกว่ากัน นั่นแหละจะเป็นผู้ชนะตัวจริง