ดูเหมือนว่าความพยายามของแอปเปิ้ลที่จะหย่าขาดจากคู่แข่งอย่างซัมซุงดูจะเป็นไปได้ยากซะแล้ว

ในที่สุดความยายามของแอปเปิ้ลที่หาผู้ผลิตชิพรายใหม่เพื่อใช้ในไอโฟนและไอแพดมาแทนซัมซุงก็ประสบความสำเร็จ ด้วยการจดปากกาให้ผู้ผลิตชิพจากไต้หวันมาผลิตให้โดยจะเริ่มต้นตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป  ถึงจะขาดดีลนี้ไป ปีหน้าซัมซุงยังคงเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่อยู่ดี แอปเปิ้ลถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่ซื้อชิพซีพียูและเมโมรี่จากซัมซุง แต่ทั้งสองบริษัทเป็นคู่แข่งกันโดยตรงในตลาดมือถือ แถมสองปีที่ผ่านมาก็มีเรื่องฟ้องร้องกันด้วย

ทั้งสองบริษัทนี้เคยร่วมมือกันมาตั้งแต่ 10 ปีก่อนซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้เป็นคู่แข่งกัน หลังจากที่ซัมซุงโดดเข้ามาร่วมผลิตสมาร์ทโฟนหลังจากแอปเปิ้ลเปิดตัวไอโฟน ผู้บริหารของแอปเปิ้ลก็กังวลเรื่องการพึ่งพาซัมซุง รวมถึงจำกัดการต่อรอง, การควบคุมของแอปเปิ้ล และการนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ แอปเปิ้ลจึงเริ่มลดจำนวนการสั่งซื้อชิ้นส่วนบางอย่างจากซัมซุง จนในที่สุดก็เลิกซื้อจอไอโฟน ลดปริมาณการซื้อจอไอแพดจากซัมซุง หันไปซื้อชิพ  flash-memory จากผู้ผลิตรายอื่น

แต่สิ่งสำคัญที่แอปเปิ้ลยังต้องพึ่งซัมซุงอยู่ก็คือซีพียูที่เปรียบเหมือนสมองของไอพอด, ไอโฟนและไอแพด และจอไอแพดบางส่วนก็ยังใช้จอซัมซุงอยู่ ซึ่งผู้ผลิตชิพที่ตรงความต้องการของแอปเปิ้ลมีไม่กี่ราย ทำให้แอปเปิ้ลยังต้องซื้อชิพจากซัมซุง ในที่สุดแอปเปิ้ลก็ได้บริษัท TSMC จากไต้หวันมาผลิตให้ ซึ่งแอปเปิ้ลมีความต้องการผลิตชิพเองมานานแล้ว เมื่อปี 2008 ก็ซื้อบริษัมผลิตชิพเพื่อออกแบบชิพเอง แต่ก็ยังต้องให้ซัมซุงผลิตให้อยู่ เมื่อได้ TSMC ปีหน้าเราจะได้เห็นชิพตัวใหม่ที่ใช้เทคโนโลยี “20-nanometer” ที่นอกจากขนาดเล็กลง ยังมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย

ทางฟากซัมซุงยังมีเหตุผลที่ยังต้องรักษาความสัมพันธ์กับแอปเปิ้ลอยู่เพราะเค้าคือลูกค้าที่สั่งซื้อชิ้นส่วนรายใหญ่ ถ้าขาดแอปเปิ้ลไปหมายถึงรายได้จำนวนมหาศาลที่จะหายไป ปีที่แล้วแอปเปิ้ลสั่งชิ้นส่วนจากซัมซุงถึง 10,000 ล้านดอลล่าร์ (ยอดขายซีพียูอย่างเดียวอยู่ที่ 5,000 ล้านดอลล่าร์)

ความสัมพันธ์ของทั้งสองบริษัทเริ่มตั้งแต่ยุคไอพอดต้นปี 2000 หลังจากที่ไอพอดรุ่นแรกๆใช้ฮาร์ดดิกส์ขนาดเล็กในการเก็บข้อมูล แอปเปิ้ลเกิดอยากจะเปลี่ยนมาใช้ flash-memory แทนเพราะไว้ใจได้มากกว่าแต่กินไฟน้อยลง แต่ตอนนั้น flash memory ยังมีราคาสูงอยู่ เมื่อความต้องการไอพอดมากขึ้น แอปเปิ้ลจึงเซ็นสัญญากับซัมซุงเพื่อล็อคปริมาณการสั่งซื้อ ซึ่งรุ่นแรกที่มีการใช้ชิพของซัมซุงก็คือ iPod Shuffle ที่วางขายเมื่อปี 2005 ต่อจากนั้นซัมซุงก็ได้ผลิตซีพียูตัวใหม่ให้ไอพอดอีก ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2007 ที่ไอโฟนรุ่นแรกวางตลาด

ผู้บริหารของแอปเปิ้ลก็เห็นถึงความทะเยอทะยานของซัมซุงดี ในปี 2008 แอปเปิ้ลก็เริ่มสั่ง flash-memory จากซัมซุงน้อยลง ปีต่อมา Toshiba ก็กลายเป็นผู้ผลิต flash memory มาแทน ต่อมาก็เป็นการตัดขาดเรื่องหน้าจอซึ่งถือเป็นหน้าเป็นตาของไอโฟน ซึ่งผู้บริหารมองว่าถ้าให้คู่แข่งผลิตจอให้ มันก็เหมือนเป็นการบอกใบ้ข้อมูลสำคัญที่จะใช้ในผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งเทคโนโลยใหม่นั้นก็คือ Retina Display แอปเปิ้ลเลยเลิกสั่งจอจากซัมซุงนับตั้งแต่ไอโฟน 4 เป็นต้นมา โดยหันไปสั่งจาก Sharp และ Toshiba แทน

แต่ความพยายามที่จะแยกตัวจากซัมซุงต้องมาสะดุดลงเมื่อปี 2011 เมื่อแอปเปิ้ลออกแบบไอแพดรุ่นที่ 3 แล้วต้องการให้ Sharp ผลิตจอความละเอียดสูงให้ โดยจะเปิดตัวในเดือนมีนาคม 2012 แต่ Sharp ผลิตไม่ทันเส้นตายที่กำหนดแอปเปิ้ลก็เลยต้องกลับไปใช้บริการของซัมซุงเหมือนเดิม ล่าสุดเดือนมีนาคมที่ผ่านมาซัมซุงได้ซื้อหุ้นบริษัท Sharp 3% และสั่งซื้อจอ LCD เพิ่มด้วย จากดีลนี้ทำให้ซัมซุงกลายเป็นผู้ถือหุ้น Sharp มากที่สุดเป็นอันดับที่ 5 แถมควบด้วยการเป็นลูกค้ารายสำคัญ ซึ่งนี่อาจจะลดอำนาจการต่อรองของแอปเปิ้ลในการซื้อชิ้นส่วนจาก Sharp และอาจจะต้องหันกลับไปใช้บริการซัมซุงเหมือนเดิม

VIA WSJ