แค่ไตรมาสแรกของปีนี้ Line สามารถขายสติ๊กเกอร์ไปได้ถึง 17 ล้านดอลล่าร์ หรือ 510 ล้านบาทเอง
จากความสำเร็จของ Line จากเอเชียนี่เองที่ทำให้สติ๊กเกอร์กลายเป็นปรากฏการณ์เขย่าโลก ลามไปถึงแอพตัวอื่นๆของประเทศฝั่งตะวันตก เกิดเป็นอีโมติคอนที่คล้ายกับสติ๊กเกอร์ของไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Path, Facebook, Viber รวมถึงแอพส่งข้อความอื่นๆอีกเพียบ
สติ๊กเกอร์คืออะไร? ทำไมคนถึงซื้อ?
สติ๊กเกอร์ก็คืออีโมติคอนที่ขนาดใหญ่ขึ้นสำหรับใช้แทนคำพูดบนแอพส่งข้อความที่ได้รับความนิยมอย่างมากในแถบเอเชีย มันใช้บอกอะไรได้มากกว่าคำพูด เช่น แสดงความรู้สึก ทำให้เห็นภาพได้มากกว่าตัวอักษร สติิ๊กเกอร์มีให้เลือกโหลดมากมายทั้งแบบฟรีและเสียเงิน บางส่วนจะเป็นแบบจำกัดใช้เพื่อโปรโมทนสินค้า/บริการ, แบรนด์ต่างๆ รวมถึงเหตุการณ์/กิจกรรมพิเศษ ปัจจุบันไลน์มีสติกเกอร์รวมกันแล้วมากกว่า 250 แบบเลยทีเดียว
จุดกำเนิดสติ๊กเกอร์
จุดกำเนิดของสติ๊กเกอร์บนไลน์ก็คือเหตุการณ์สึนามิที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 เมื่อบริษัท Naver จากเกาหลีที่ให้บริการด้านอินเตอร์เน็ตเริ่มพัฒนาแอพไลน์ในญี่ปุ่น ด้วยการใช้ data-based calls และการส่งข้อความเพราะเครือข่ายของพวกเค้าทำงานได้ดีกว่าเครือข่ายของญี่ปุ่นซึ่งโดนผลกระทบจากสึนามิจนใช้งานไม่ได้
การที่ Naver ไม่เน้นตลาดที่เกาหลีเพราะมันเป็นเรื่องที่ท้าทายมากเพราะผู้ใช้ในเกาหลีกว่า 90% ได้ติดตั้งแอพแชท Kakao Talk ลงในสมาร์ทโฟนของตัวเองแล้ว การเข้าไปแข่งขันจึงทำได้ยาก
ไลน์ถือว่าเป็นผู้นำด้านการเอาอีโมติคอนมาใช้ในญี่ปุ่น แล้วก็เริ่มเติบโตขึ้นเรื่อยๆจนคนใช้มากกว่าเฟซบุ้ค,ทวิตเตอร์และสื่อสังคมออนไลน์อื่นๆ นั่นจึงช่วยทำให้สติ๊กเกอร์กลายเป็นเครื่องมือสื่อสารสำหรับผู้ใช้และเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้บริษัท
สติ๊กเกอร์เป็นการรวมกันระหว่างตัวการ์ตูนและ ‘emojis‘ ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้ได้รับความนิยมมากในญี่ปุ่นที่ถือว่าเป็นประเทศแม่ของมังงะและอนิเมะ พอมารวมร่างกันก็ทำให้ผู้ใช้มือถือติดกันงอมแงม เพราะเป็นการสื่ออารมณ์ที่ง่ายและรวดเร็วกว่าการพิมพ์ ลายต่างๆยังบ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของคุณ รวมถึงสร้างความสนุกในการสะสมสติ๊กเกอร์ลายต่างๆอีกสิ่งเหล่านี้ช่วยเพิ่มให้การดาวน์โหลดแอพสูงขึ้น ตัวละครที่เป็นสติ๊กเกอร์ก็เป็นที่รู้จักมากขึ้น จนกลายเป้นตุ๊กตาน่ารักๆผลิตออกมาขาย
ผลิตภัณฑ์ตัวละครของไลน์อย่างหมี ‘Brown’ และกระต่าย ‘Cony’ กำลังเป็นภัยคุกคามสินค้าอย่าง Angry Birds เพราะแผนการตลาดของไลน์ปูพรมครบทุกช่องทาง ทั้งตุ๊กตา หนังสือ เครื่องเขียน ตู้ตุ๊กตาหยอดเหรียญ การ์ตูนทีวี โฆษณา ป้ายโฆษณา รวมถึงการดึงคนดังมาร่วมทำการตลาด เช่น PSY เจ้าของท่าเต้นกังนัมสไตล์ก็ยังกลายมาเป็นสติ๊กเกอร์
ก้าวสู่ระดับโลก
รายได้ของไลน์ในไตรมาสแรกของปี 2013 กว่า 80% มาจากประเทศญี่ปุ่น รายได้ส่วนที่เหลือมาจากประเทศอื่นๆในเอเชีย ส่วนนึงเป็นเพราะวัฒนธรรมในเอเชียใกล้เคียงกับญี่ปุ่น ทางบริษัทยังมีรายได้จากการขายสติ๊กเกอร์ในประเทศตะวันตกไม่มากเท่าไหร่ แต่นั่นก็หมายถึงยังมีโอกาสเติบโตในยุโรปและอเมริกาได้อยู่
รายงานจาก Wall Street Journal ได้พูดถึงการใช้สติ๊กเกอร์ระดับโลกว่า หลังจากที่เฟซบุ้คเริ่มนำสติ๊กเกอร์มาใช้ คนฝั่งตะวันตกก็เริ่มรู้จักสติ๊กเกอร์มากขึ้น สติ๊กเกอร์จึงเป็นอะไรที่มากกว่าของน่ารักๆ เรียกว่าเป็นกลยุทธ์ของบริษัทไปซะแล้ว
ประเทศไทยและไต้หวันถือเป็นอีกตลาดต่งชาติที่สำคัญที่ใช้สติ๊กเกอร์สื่อสารแทนการพิมพ์ ซึ่งไลน์เองก็เป็นผู้นำด้วยการใช้โฆษณาและแคมเปญต่างๆเพื่อโปรโมทแอพของตัวเองให้โดเด่นกว่าคู่แข่งอย่าง WeChat และ Kakao Talk
การใช้สติ๊กเกอร์แทนคำพูดก็มีแนวความคิดเดียวกับการกดไลค์บนเฟซบุ้ค ซึ่งแทนคำว่า ใช่เลย โอเค เข้าใจล่ะ แม้จะประสบความสำเร็จในเอเชียแต่ตลาดฝั่งตะวันตกเป็นอะไรที่แตกต่างเพราะมีการใช้ emoji/การ์ตูนน้อยกว่ากันมาก
แอพไลน์ , Kakao Talk และ WeChat จึงยังอยู่ในช่วงเริ่มตั้งไข่ในประเทศตะวันตกซึ่งหลายประเทศยังไม่เข้าใจว่าสติ๊กเกอร์จริงๆเอาไว้ทำอะไร
โมเดลธุรกิจ
สติ๊กเกอร์เป็นแค่ช่องทางหนึ่งในการหารายได้ของไลน์, Kakao Talk และแอพอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีการขายไอเท็มในเกม, เปิดให้บริการ official account และอื่นๆ สติ๊กเกอร์ส่วนหนึ่งเปิดให้โหลดฟรี หรือใช้งานฟรีเฉพาะช่วงเวลาที่กำหนด ต่อจากนั้นก็จะออกมาเป็นเวอร์ชั่นเสียเงิน นอกจากนี้ไลน์ยังเปิดโอกาสซื้อสติ๊กเกอร์ส่งให้เพื่อนได้ โดยใช้ coin หรือเงินเสมือนจริงในแอพ ซึ่งฟีเจอร์นี้ถูกยกเลิกไปบน iOS เนื่องจากขัดกับนโยบายของแอปเปิ้ล ส่วนแอนดรอยด์ยังใช้ได้อยู่
ไลน์พยายามทำตัวเองให้เป็นมากกว่าแอพแชท ด้วยการนำตัวละครต่างๆมาต่อยอดเป็นเกมโซเชียล รวมถึึงแอพต่อเนื่อง เช่น Line Camera ที่ใช้ตัวละครของไลน์และแบรนด์ต่างๆแต่งรูปได้
ส่วนแบรนด์ธุรกิจหรือเซเล็บที่อยากทำสติ๊กเกอร์ก็ต้องจ่ายเงิน เมื่อผู้ใช้โหลดและใช้งานสติ๊กเกอร์เหล่านี้ก็จะจดจำและผูกพันกับแบรนด์นั้นๆมากขึ้น จากข้อมูลของไต้หวัน ไลน์จะเก็บเงินเริ่มต้นที่ 35,000$ ต่อสติ๊กเกอร์ 8 ลาย เปิดให้ดาวน์โหลดในระยะเวลา 1 เดือน ส่วนผู้ใช้จะใช้งานได้ราวๆ 6 เดือนก่อนจะหมดอายุและหายไป สติ๊กเกอร์ที่ทำขึ้นมาเพื่อโปรโมทก็มีหลากหลายตั้งแต่หนังเข้าใหม่, อัลบั้มเพลง, เครื่องดื่ม, สายการบินและอื่นๆอีกมากมาย สติ๊กเกอร์นี้จะเป็นส่วนเสริมสำหรับแผนการตลาดที่กำลังใช้อยู่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดยอดขายหรือเป็นที่จดจำ
รายได้ส่วนสุดท้ายมาจากการผลิตสินค้าที่ระลึกทั้งของเล่น เสื้อผ้า การ์ตูนทีวี แม้ว่าไลน์จะแสดงให้เห็นแล้วว่าความสำเร็จทางการเงินส่วนนึงมีผลมาจากสติ๊กเกอร์ ซึ่งหลายๆบริษัทก็เริ่มทำตาม แต่หัวใจสำคัญก็คือการทำให้ไลน์ผูกพันกับผู้ใช้และนำเสนออะไรที่แตกต่างจากคนอื่นนี่แหละคือกุญแจแห่งความสำเร็จ ในเอเชียคงไม่ต้องพูดถึงมากแต่ในตลาดฝั่งยุโรปก็ต้องรอดูต่อไปว่าจะบุกได้สำเร็จหรือไม่
VIA TNW