นอกจากคำถามเกี่ยวกับมือถือที่มักจะถูกถามอยู่เป็นประจำแล้ว ก็ยังจะมีเรื่องของการใช้อินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยในการใช้บริการออนไลน์ต่างๆ ตั้งแต่อีเมล์ไปจนถึงอีคอมเมิร์ซ วันนี้ซีมีทิปมาฝากกันค่ะ

หลักพื้นฐานง่ายๆ สำหรับการใช้ระบบออนไลน์ให้ปลอดภัยก็คือ เราคงต้องยอมเพิ่มขั้นตอนในการเข้าถึงบริการต่างๆ สักเล็กน้อย ซึ่งมันอาจจะทำให้ยุ่งยากขึ้นบ้าง แต่ก็จะช่วยให้เราใช้บริการออนไลน์ได้ปลอดภัยขึ้นค่ะ เพราะต้องยอมรับว่า แฮคเกอร์วันนี้เก่งกาจขึ้นเรื่อยๆ เมื่อคืนนี้ Adobe เองก็เพิ่งแถลงข่าวว่า ถูกแฮคบัญชีผู้ใช้ที่ลงทะเบียนใช้ซอฟต์แวร์ของบริษัทไปกว่า 2.9 ล้านราย ขนาดบริษัทซอฟต์แวร์ชั้นนำระดับโลกนะคะเนี่ย ยังโดนเจาะข้อมูลไปมากมาย ผู้ใช้ตาดำๆ อย่างเราคงต้องป้องกันตัวเองเหมือนกันนะคะ เอาเป็นว่า ลองมาติดตามทิปทั้ง 7 ข้อที่ซีนำมาฝากกันดีกว่าค่ะ

1. ใช้บัญชีผู้ใช้อีเมล์แตกต่างกันในแต่ละบริการ

ถ้าเพื่อนๆ เป็นคนที่ใช้อีเมล์เดียวกับทุกบริการ รับรองว่า คุณจะต้องปวดหัวกับสแปม (spam) อีเมล์ขยะที่ถล่มจนล้นเมล์บ๊อกซ์ อีกทั้งยังเป็นการเสี่ยงต่อการโดนแฮคที่น่ากลัวทีสุดอีกด้วย เพราะแฮคเกอร์แค่เจาะเมล์คุณได้เพียงบัญชีเดียวก็สามารถเข้าใช้บริการอื่นๆ ได้หมดเลย :O คำแนะนำง่ายๆ ในข้อแรกนี้ก็คือ เราควรจะมีอีเมล์ที่แตกต่างกันสำหรับการใช้บริการออนไลน์แต่ละประเภท เช่น อีเมล์หนึ่งใช้กับธนาคารออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซ ส่วนอีกอีเมล์หนึ่งใช้กับโซเชียลเน็ตเวิร์ก อีกวิธีหนึ่งที่ใช้สำหรับการใช้บริการบางอย่างแค่ชั่วคราวแค่ครั้งสองครั้ง ไม่ได้ต้องการใช้ประจำ และไม่อยากใช้อีเมล์ที่ใช้บริการหลัก ที่สำคัญไม่อยากเปิดอีเมล์เพิ่ม แนะนำให้ใช้บริการอีเมล์ชั่วคราวอย่างเช่น 10minutemail.com ค่ะ ที่นี่อีเมล์แอดเดรสที่ให้จะใช้งานได้แค่ 10 นาทีแล้วจะหายไป

2. ท่องเว็บในโหมดล่องหน

ปัจจุบัน บราวเซอร์จะมีโหมดการท่องเว็บแบบ Anonymous ซึ่งจะให้ความเป็นส่วนตัวกับผู้ใช้ โดยบราวเซอร์จะไม่เก็บข้อมูลประวัติการท่องเว็บของเรา ดังนั้นเวลาไปใช้คอมพิวเตอร์ของคนอื่น หรือร้านเน็ต แล้วไม่ต้องการให้เจ้าของเครื่อง หรือสถานบริการรู้ได้ว่า เราเข้าไปที่ไหน ล็อกอินอะไรบ้าง แนะนำให้เปิดโหมดการทำงานแบบ Anonymous ค่ะ โดยถ้าเป็น Chrome ให้คลิกที่เมนู (ปุ่มสี่เหลี่ยมมีสามขีดหนาๆ ตรงกลางสามเส้นที่อยู่ขวาสุดข้างช่องป้อน URL ค่ะ) เลือก New Incognito window ส่วน IE คลิกเมนู Settings (ปุ่มรูปเกียร์ที่อยู่ถัดจากช่องพิมพ์ URL) เลือก Safety เลือก Inprivate Browsing ค่ะ และสำหรับ  Firefox คลิกเมนูเลือก New Private Window แต่ถ้าจะให้ปลอดภัยขึ้นไปอีกอาจจะลองดาวน์โหลด Tor  (torproject.org) มาติดตั้งไว้ในเครื่อง ซึ่งมันจะช่วยให้การท่องเว็บของคุณอยู่ในโหมดนิรนามไร้ตัวตนได้เช่นกัน

3.  นักชอปออนไลน์ อย่าใจง่ายให้เว็บไซต์เก็บข้อมูลเครดิตของคุณนะคะ

สำหรับใครที่ชอบช้อปออนไลน์อยู่เป็นประจำ เราจะเห็นออปชันให้จัดเก็บข้อมูลที่ใช้ในการชำระค่าสินค้า หรือบริการ โดยอ้างว่า เพื่อความสะดวกสบายในการสั่งซื้อสินค้าในครั้งต่อไป ประเด็นคือ เราไม่อาจแน่ใจได้เลยว่า ข้อมูลของเราที่ทางเว็บไซต์เหล่านั้นจัดเก็บไปจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางอื่นใดหรือไม่ ใครเข้าถึงข้อมูลนั้นได้บ้าง และหากเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซที่เราเข้าไปชอปปิ้งเกิดมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ไม่ดีพอ ข้อมูลของเราตลอดจนหมายเลขบัตรเครดิตก็มีสิทธิ์ติดร่างแหโดนขโมยไปด้วย ซ้ำร้ายกว่านั้น หากเว็บไซต์ดังกล่าวเจ๊งปิดไซต์ไป จะแน่ใจได้อย่างไรคะว่า ข้อมูลเราเขาจะทำลายไม่นำไปใช้ต่อ งานนี้ซีว่าขยันพิมพ์ใหม่ดีกว่าขี้เกียจ แล้วต้องมาเจอดีในภายหลังนะคะ

4. เลือก Public Network Wi-Fi เวลาใช้บริการเน็ตสาธารณะ

เชื่อว่า เพื่อนๆ ต้องเหมือนซีแน่ๆ โดยเฉพาะใครที่ต้องเชื่อมต่อเน็ตนอกสถานที่ และใช้เน็ตสาธารณะตามร้านกาแฟ คำแนะนำสำหรับการป้องกันตัวเองก็คือ ให้เพื่อนๆ เลือกตั้งค่า Set Network Location บน Windows เป็น Public Network ค่ะ เนื่องจากในโหมดนี้ จะทำให้คอมพิวเตอร์ของเพื่อนๆ ปลอดภัยจากการมองเห็นโดยคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นๆ ที่เชื่อมต่อบนเครือข่ายเดียวกัน และป้องกันการโจมตีจากมัลแวร์ต่างๆ เนื่องจากมันจะมีการจำกัดการทำงานของซอฟต์แวร์บางตัวที่มีการสื่อสารออนไลน์ และติดตั้งอยู่ในคอมพิวเตอร์ของเราด้วย ยังไงก็ก่อนไร้สายผ่านเครือข่ายสาธารณะ อย่าลืมตั้งเป็น Public Network นะคะ

5. คำถามลับสำหรับระบุตัวตน อย่าตอบตามจริง?

เวลาสมัครใช้บริการออนไลน์ต่างๆ บางแห่งจะมีการให้คุณคิดคำตอบสำหรับคำถามเบื้องต้นทีมีให้เลือก เพื่อเอาไว้ระบุตัวตนของคุณ เวลาที่เราต้องการแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลของเรา ตัวอย่างคำถามเช่น สัตว์เลี้ยงตัวแรกชื่ออะไร? ครูที่คุณชอบ? เพื่อนที่ดีที่สุดสมัยตอนเด็ก? คำแนะนำก็คือ อย่าตอบตามจริง หลายคนพาซื่อตอบด้วยข้อมูลจริง ซึ่งอันนี้จะถูกแฮคง่ายมาก โดยเฉพาะคนใกล้ชิดที่รู้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวคุณค่ะ การเลือกตอบไม่ให้ตรงเป๊ะกับ secret question เหล่านี้ อาจจะใช้การคิดตรงข้ามก็ได้ แทนที่จะตอบเพื่อนที่ดีทีสุด อาจจะใส่ชื่อเพื่อนที่แย่ที่สุดไปแทน เป็นต้น – -”

6. จะแชร์อะไรในโซเชียลก็ระมัดระวังกันหน่อย

หลายคนคุ้นเคยกับการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก โดยเฉพาะ Facebook จนบางครั้งบางทีเผลอคิดไปว่า เรามีแต่เพื่อนๆ เท่านั้น การเลือกค่า privacy โดยเฉพาะเวลาโพสต์ข้อความ ซึ่งปกติจะไม่ค่อยได้ใส่ใจกันมากนัก เอะอะรู้สึกอย่างไรก็โพสต์เลย บางทีเรื่องส่วนตัวก็เลยกลายเป็นเรื่องสาธารณะไปซะงั้น บางเรื่องอยากจะบอกระบายกับแค่เพื่อนสนิท ก็กลายเป็นแฉเรื่องส่วนตัวสาธารณะไปเลย ตรงนี้ต้องระวังนะคะ เวลาโพสต์ข้อความ รูปภาพ หรือคลิปบนออนไลน์ มันไปแล้วอยู่เลย ถึงลบหาย แต่ถ้าถูกก็อปปี้ไปแล้ว มันก็ไม่ปลอดภัยอยู่ดีค่ะ เรื่องส่วนตัวบางเรื่่องถ้าเลี่ยงที่จะโพสต์ได้ อาจใช้โทรคุยจะดีกว่า หรือถ้าจะโพสต์ก็เลือกให้มันไปถึงเฉพาะกลุ่มที่เราต้องการจะดีกว่านะคะ

7. ตั้งค่า Wi-Fi ในบ้านให้ปลอดภัยขึ้นอีกนิด

สำหรับคำแนะนำข้อสุดท้ายในการเข้าสู่โลกออนไลน์อย่างปลอดภัยจะเป็นเรื่องของการตั้งค่าเราท์เตอร์สำหรับ Wi-Fi ในบ้านของเรา หรือออฟฟิศน้อยๆ ของเราค่ะ นอกจากการตั้ง password และมีการเข้ารหัสข้อมูลแล้ว มันยังมีอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น แต่อาจจะต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญนิดนึงเวลาทำนะคะ นั่นก็คือ การกรอง (filter) MAC Address โดย MAC Address จะหมายถึง หมายเลขประจำตัวที่อยู่ในการ์ดเน็ตเวิร์กที่อยู่ในคอมพิวเตอร์ของเรา ซึ่งชุดหมายเลขนี้จะไม่มีการซ้ำกัน นั่นหมายความว่า ผู้ที่จะเข้าถึงเครือข่ายไร้สายของเราได้นั้นจะต้องมีการ์ดเน็ตเวิร์กที่เราให้อนุญาตเท่านั้น ถ้าไม่มีก็หมดสิทธิ์ ทิปข้อสุดท้ายนี้อาจจะยากสักหน่อยสำหรับมือใหม่ แต่ซีเชื่อว่า ไม่ยากเกินไปถ้าเราจะลองศึกษาจากเน็ต แล้วลองทำดูนะคะ

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=r_97ppR1UxQ[/youtube]

หวังว่า ทิปทั้ง 7 ข้อที่แนะนำมาข้างต้น จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ นะคะ ที่สำคัญซีเชื่อว่า มันจะช่วยให้การใช้ชีวิตบนออนไลน์ของเราปลอดภัยกว่าเดิม ใช้เน็ตอย่างมีสติ ก่อนคลิกทุกครั้งนะคะ ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จาก Intel.com/lifehacks นะคะ

via Digital Security Life Hack