ครั้งนึง DRM (Digital right management) เคยถูกยกย่องว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับการละเมิดลิขสิทธิ์เพลง แต่งานวิจัยล่าสุดกลับพบว่าผลตรงกันข้าม

นี่ถือเป็นเวลามากกว่า 10 ปีแล้วที่อุตสาหกรรมเพลงสู้รบกับการละเมิดลิขสิทธ์ผ่านทางออนไลน์ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ไฟล์เพลงถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็วผ่านอินเตอร์เน็ต ทางค่ายเพลงใหญ่ๆจึงได้ทำการเพิ่ม DRM เข้าไปในไฟล์เพลงด้วย แต่นั่นก็หยุดการละเมิดลิขสิทธิ์ได้เพียงเล็กน้อย ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดปัญหากับผู้ที่จ่ายเงินแบบถูกต้องด้วย เช่น การจำกัดเครื่องที่เล่น ไม่สามารถก็อปไปเล่นกับเครื่องอื่นได้ เป็นต้น นั่นจึงเป็นการผลักดันให้ผู้บริโภคบางส่วนไปหาโหลดของเถื่อนแทนของแท้ที่ก่อปัญหา ส่งผลให้ยอดขายของแท้ลดลงตามไปด้วย ล่าสุดนี้มีนักวิจัยชื่อว่า Laurina Zhang จาก University of Toronto ได้เผยแพร่เอกสารงานวิจัยที่ยืนยันเกี่ยวกับเรื่องนี้

Zhang ได้ทำการเก็บข้อมูลจากเพลง 5,864 อัลบั้มของศิลปิน 634 รายโดยทำการเปรียบเทียบยอดขายก่อนและหลังค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ 4 ค่ายอย่าง EMI, Sony, Universal และ Warner ตัดสินใจถอด DRM ออกไป นี่ถือเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการเปรียบเทียบอย่างนี้ ซึ่งผลการวิจัยพบว่า ยอดขายของเพลงดิจิตอลเพิ่มสูงขึ้นหลังจากที่ค่ายเพลงได้ถอด DRM ออกไป โดยยอดขายนั้นเพิ่มขึ้นประมาณ 10% แต่อัลบั้มที่อยู่อันดับท้ายๆไม่ค่อยมีคนโหลดนั้นพุ่งขึ้นถึง 30% เลนทีเดียว ซึ่งเธอได้ทำการควบคุมตัวแปรอย่าง วันที่อัลบั้มวางตลาด, แนวเพลงและตัวแปรอื่นๆที่ส่งผลต่อยอดขายแล้ว ผลการวิจัยครั้งนี้สรุปได้ว่าการถอด DRM ออกนั้น ส่งผลดีต่อทั้งศิลปินและค่ายเพลงด้วย

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ไม่ใช่ทุกอัลบั้มจะมียอดขายเพิ่มขึ้นเท่ากันหลังจากถอดข้อจำกัดนี้ออกไป อัลบั้มเพลงเก่าๆที่ขายได้น้อยกว่า 25,000 ก็อปปี้นั้นยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 41% ส่วนอัลบั้มที่ขายได้น้อยๆก็ยังเพิ่มขึ้น 30% ส่วนอัลบั้มที่ขายดีอยู่แล้ว ยอดขายก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นสักเท่าไหร่ ทาง Zhang ให้เหตุผลว่ายอดขาย 30% ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากคนแชร์เพลงและได้ฟังเพลงใหม่ๆได้ง่ายขึ้น

VIA TorrentFreak