เริ่มวันนี้แล้วกับพรบ.ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้วันนี้ คนที่ทำคอนเท้นท์บนอินเตอร์เน็ต รวมถึงทีวีต้องทำความเข้าใจให้ดีถ้าไม่อยากมีปัญหาตามมา โทษทั้งจำและปรับ
สมัยนี้ถือเป็นยุคของข้อมูลข่าวสารที่สามารถทำรายได้แต่สิ่งที่หลายคนละเลยก็คือการนำสิ่งของคนอื่นมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ว่าจะเป็นคลิปวิดีโอ รูปภาพ เพลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่าเรากำลังทำผิดกฎหมายโดยไม่รู้ตัว เพราะผลงานสร้างสรรค์เหล่านี้ถือว่ามีลิขสิทธิ์อัตโนมัติซึ่งถ้าหากเจ้าของมาเจอและเรียกร้องค่าเสียหายย่อมทำได้
อาจารย์ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย และที่ปรึกษาด้านกฏหมาย กล่าวถึงกฎหมายลิขสิทธิที่คนทำเว็บและผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ต้องระวัง ในงานสัมมนางานจิบกาแฟคนทำเว็บ ( Webpresso ) เรื่อง ตอบคำถามกับปัญหาคาใจบนโลกออนไลน์ ว่า….
ในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ กฎหมายลิขสิทธิจะมีผลบังคับใช้ สิ่งที่กม.ฉบับนี้ให้ความสำคัญก็คือ “ข้อมูลบริหารสิทธิ์” หรือข้อมูลแสดงความเป็นเจ้าของ โดยมีเจตนารมย์คุ้มครองผู้สร้างสรรค์ผลงาน นั่นหมายความว่า เวลาจะเอาผลงานของใครมาใช้ไม่ว่าจะเป็นบนสื่อทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์อย่าง facebook , youtube , instagram , twitter รวมไปถึงเว็บไซต์และบล็อกต่างๆ จะต้องใส่ชื่อเจ้าของรูปภาพ, คลิปวิดีโอของคนๆนั้นมาใส่ แสดงความเป็นเจ้าของด้วย แต่ทั้งนี้ต้องใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือสาธารณะชนเท่านั้นถึงจะไม่ผิด หากใช้เพื่อการค้ายังไงก็ผิดทุกกรณี
1. รูปภาพ
เริ่มจากรูปภาพต่างๆ ถ้าเป็นผลงานที่เราถ่ายเองหรือจ้างถ่าย (ข้อหลังต้องมีหลักฐานจ้างที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาแสดงด้วย ถ้าไม่มีอาจจะถือว่าตากล้องให้เราสิทธิ์ใช้เป็นครั้งคราว) อันนี้ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ของเราใช้งานได้ตามสบาย ทั้งนี้รูปที่มีปัญหาส่วนใหญ่จะเป็นศิลปินดารา ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
หลายคนเวลาไม่มีรูปที่ต้องการมักจะค้นหาจากกูเกิลมาใช้ ต่อไปนี้จะนำมาใช้ต้องใส่ชื่อเจ้าของรูปทุกครั้ง ในกรณีที่ใช้งานส่วนตัวและไม่เป็นการแสวงหากำไร ถึงจะไม่มีความผิด ถ้ารูปนั้นมีลายน้ำติดมาด้วยจะต้องคงเอาไว้ ห้ามลบลายน้ำในรูป หรือทำการตัดครอปรูปเพื่อไม่ให้ติดชื่อเจ้าของภาพ หากนำไปใช้ในเว็บตัวเอง หรือแชร์ทาง Social Network โดยไม่อ้างอิงเจ้าของตัวจริง มี โทษจำคุก 6 เดือน และปรับ 2 แสนบาท ดังนั้น การ Copy รูปภาพบน facebook , youtube , instagram , twitter , flickr หรือจากเว็บอื่นๆ ต้องให้เครดิตใส่ชื่อเจ้าของรูปอ้างอิงไว้ด้วย
2. เนื้อหาบนหน้าเว็บ สื่อสังคมออนไลน์
หากเป็นการ copy เนื้อหาบนหน้าเว็บ มาโพสต์ทาง facebook หรือเว็บเรา ผิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ?ถ้าเป็นรายบุคคล เป็น facebook ใช้ส่วนตัว สามารถใช้ได้ ทั้งนี้ต้อง อ้างอิงแหล่งที่มา, ใช้ส่วนตัวและไม่แสวงหาผลกำไร ถึงจะไม่ผิดลิขสิทธิ์ แต่ถ้าในกรณีนิติบุคคล ถือว่าไม่ได้ ถ้าเว็บไซต์คุณมีแบนเนอร์ หรือ facebook มีกิจกรรมชิงโชค ถือว่าผิดลิขสิทธิ์
3. ถ้าเว็บไซต์ หรือ blog ของเรา นำ embed วีดีโอจาก youtube แปะใส่ในหน้าเว็บเราล่ะ ทำได้มั้ย ผิดหรือเปล่า?
การ embed โค้ดของ youtube ใส่หน้าเว็บเราเป็นสิ่งที่ถือว่าอันตราย เพราะลิขสิทธิ์ของเขา แต่อยู่ภายใต้เว็บของเรา ซึ่งผิดลิขสิทธิ์ ดังนั้นวิธีแก้คือ ใส่ภาพนิ่งเป็นตัวอย่างภาพวีดีโอนั้น พร้อมกับทำลิงค์ไปยังวีดีโอเจ้าของคลิป อันนี้สามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์
4. หากกลุ่มผู้ผลิตรายการทีวี ต้องการนำคลิป Youtube ไปใช้ควรทำอย่างไร ?
ต้องเผยชื่อ user ของเจ้าของคลิปนั้น เพื่ออ้างอิงสิทธิ์ และคลิปที่ใช้ได้ต้องเผยแพร่แบบสาธารณะ ถ้าเป็นคลิป youtube แบบ Private หรือแชร์ลิงค์เฉยๆที่ไม่ใช่สาธารณะนำมาใช้ ถือว่าผิดลิขสิทธิ์
5. กรณีแฟนเพจ facebook แชร์ภาพของ fanpage อื่น เพื่อเรียกเรตติ้ง มีความเสี่ยงถูกฟ้อง เพราะเรื่องแสวงหาผลกำไร
ดังนั้น หากไม่อยากโดนฟ้องเรื่องลิขสิทธิ์ภาพถ่าย ควรถ่ายเอง วาดเอง หรือขอจากเจ้าของรูปเอง ก็ใช้ได้ แต่ถ้าเอาจาก google อาจโดนฟ้องได้ และถูกเรียกเงินสูงด้วย
6. ถ้าแปลจากเว็บต่างประเทศ แล้วอ้างอิงให้แล้ว ผิดลิขสิทธิ์หรือไม่ ?
ถ้าเป็นเนื้อหาข่าว ไม่ผิดลิขสิทธิ์ แต่ถ้าเป็นบทความอาจผิดลิขสิทธิ์ได้ ถ้าใช้ในเรื่องแสวงหาผลกำไร หรือใช้ในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ การนำเนื้อหามารีไรท์เรียบเรียงใหม่ ถือว่าไม่ผิด แต่ถ้า copy paste แปลรายคำ ถือว่าผิดลิขสิทธิ์ ตัวอย่างเนื้อหาข่าวที่ไม่ผิดลิขสิทธิ์ เช่น เนื้อหาข่าวว่าเกิดอะไรขึ้น ข้อมูลทั่วไป ราคาหุ้น พยากรณ์อากาศ หนังฉายวันนี้ ราคาน้ำมัน ผลการแข่งขันฟุตบอล อันนี้ไม่เป็นลิขสิทธิ์ สามารถแชร์ หรือใช้ได้ แต่ถ้าเป็น พวกภาพข่าว รูป บทสัมภาษณ์ข่าว คอลัมน์ข่าว ถือว่าเป็นลิขสิทธิ์ หากนำไปใช้โดยไม่ขออนุญาตเจ้าของภาพ หรือเจ้าของคอลัมน์ อาจเสี่ยงถูกฟ้องในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ได้
7. เพลง
แน่นอนว่าเพลงทุกเพลงมีลิขสิทธิ์อยู่แล้ว ซึ่งการนำไปใช้งานแม้จะอ้างอิงถึงเจ้าของก็ยังมีความผิดอยู่ดีหากเจ้าของสิทธิ์ต้องการเอาเรื่อง ซึ่งการนำเพลงไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจะผิดถึง 5 ส่วนด้วยกันคือ ลิขสิทธิ์เนื้อร้อง, ทำนอง, การเรียบเรียง, เสียงของนักร้องและเจ้าของลิขสิทธิ์ (ซึ่งส่วนใหญ่ค่ายเพลงจะมัดรวมฟ้องทีเดียวเลย) ตามกฎหมายจะให้ความคุ้มครองตลอดอายุผู้สร้างสรรค์และบวกเพิ่มไปอีก 50 ปีหลังจากเสียชีวิต ซึ่งการนำเพลงไปใช้อย่างถูกต้อง จะต้องขอเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของสิทธิ์ตัวจริง เพื่อป้องกันการฟ้องร้องที่ตามมาภายหลังค่ะ
การฟ้องคดี
เมื่อเจ้าของลิขสิทธิ์รับรู้สามารถฟ้องร้องต่อศาลได้ 2 ช่องทางคือ ฟ้องแพ่งและฟ้องอาญา ซึ่งส่วนใหญ่จะฟ้องอาญา เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายและลงโทษ รวมถึงขอให้ระงับการใช้สิ่งที่มีการระเมิดลิขสิทธิ์นั้นๆ
บทลงโทษ
บทลงโทษขั้นรอง ปรับ 10,000 – 100,000 บาท ส่วนการละเมิดสิทธิ์เพื่อการค้า จำคุก 3 เดือนถึง 2 ปี /ปรับ 50,000 – 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เห็นมั้ยละค่ะว่า กฎหมายลิขสิทธิ์เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนควรรู้ไว้จะได้ไม่มีปัญหาตามมาค่ะ