สายตาเรามีสั้นยาวเปลี่ยนไปได้ตามช่วงอายุ แต่ปัญหาก็คือถ้าเปลี่ยนไปมากๆก็ต้องเปลี่ยนแว่นใหม่ตามไปด้วย ทางนักวิจัยเลยคิดค้นแว่นที่สามารถปรับโฟกัสได้ตามจุดที่เรามอง
นักวิจัยจาก Stanford University ประสบความสำเร็จในการพัฒนา autofocals แว่นที่สามารถจับการเคลื่อนไหวของดวงตา จากนั้นก็ปรับโฟกัสให้อัตโนมัติตามสิ่งที่เรากำลังมองอยู่ ช่วยให้ผู้ใส่ใช้ชีวิตสะดวกขึ้นกว่าเลนส์ชนิดอื่นๆ
ปกติแล้วความสามารถในการโฟกัสวัตถุใกล้ๆของคนเราจะเริ่มแย่ลง เมื่อมีอายุเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่อาการสายตายาวจะเริ่มปรากฎชัดเมื่อเข้าใกล้อายุ 45 ปี ซึ่งอาการสายตายาวนี้เรียกว่าส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลกมากกว่าพันล้านคนเลยทีเดียว นั่นจึงไม่แปลกใจที่เราจะเห็นคนสูงวัยพกแว่นตาสำหรับอ่านหนังสือติดตัวกันเป็นประจำ เมื่อเลนส์ทั่วไปนั้นจะมีระยะโฟกัสที่คงที่ พอค่าสายตาเราเปลี่ยนไปเช่น สายตายาวขึ้นกว่าเดิม เลนส์เก่าก็อาจจะใช้งานไม่ค่อยได้ทำให้คนแก่ต้องไปตัดแว่นใหม่ ดังนั้น autofocals จึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ
ตัวกระจกแว่นนั้นจะเลียนแบบการทำงานของลูกตา โดยจะใส่ของเหลวเข้าไปที่สามารถขยายหรือหดตัวเวลาที่เราเปลี่ยนจุดการมอง นอกจากนั้นเค้ายังติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวของดวงหาให้รู้ว่าเรากำลังจ้องอะไรอยู่ ทั้งสองส่วนนี้จะทำงานร่วมกันโดยมีซอฟท์แวร์ในการควบคุมการปรับโฟกัสของเลนส์ให้เหมาะสม จากการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่าง 56 คนพบว่า แว่นตา autofocals ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าแว่นที่ใช้เลนส์ประเภทอื่นๆในการอ่านหนังสือ
แน่นอนว่ายังต้องใช้เวลาอีกสักพักใหญ่กว่าจะพัฒนาออกมาขายจริงได้ เพราะตัวแว่นเวอร์ชั่นนี้ยังมีขนาดใหญ่เทอะทะ ไม่เหมาะกับการใช้งานในชีวิตประจำวันเลยค่ะ ถ้าปรับดีไซน์ให้ใกล้เคียงกับแว่นตาทั่วไปเมื่อไหร่ รับรองขายดีชัวร์
VIA Engadget