ตอนนี้หลายๆเมืองในไทยนั้นเริ่มเปลี่ยตัวเองสู่ Smart City วันนี้เราจะพาไปดูต้นแบบของเมืองอัจฉริยะที่ทาง CISCO จับมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์พัฒนาขึ้นมา ภายใต้โจทย์ใหม่ คือเมื่อเมืองมีความฉลาดแล้วจะต่อยอดเอาไปใช้งานด้านไหนได้บ้าง

 

Smart City Cisco - PSU

โครงการที่มหาวิทยาลัยสงลานครินทร์ (มอ.) นั้นถือเป็นโครงการต้นแบบ แสดงให้เห็นว่าเมื่อนำเทคโนโลยีมาใช้แล้วจะเกิดประโยชน์และต่อยอดให้เกิดบริการใหม่ๆอะไรได้บ้าง ด้วยแนวคิด PSU Smart and Green Campus พร้อมพัฒนาบุคลากรในท้องถิ่นเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ภายในมหาวิทยาลัยมีการนำเทคโนโลยีต่างของ CISCO มาใช้ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านความปลอดภัย, ด้านความปลอดภัย, ด้านพลังงาน, การเดินทาง เรียกว่าครบคลุมทุกมิติเลยทีเดียว ลองไปดูตัวอย่างที่ใช้งานได้จริงแล้ว

ระบบรักษาความปลอดภัย Smart Gate

ในส่วนของทางเข้ามหาวิทยาลัยจะมีการติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยด้วยกล้องตรวจจับรถที่วิ่งเข้าออก โดยทางเข้าจะแบ่งเป็นช่องสำหรับบุคลากรและบุคคลทั่วไป

ถ้าเป็บบุคลากรภายในอย่างอาจารย์หรือนักศึกษาจะสามารถใช้บัตรสแกนเพื่อยกไม้กันได้ทันที โดยบัตรจะฝังชิป RFID แบบ Long range สามารถสแกนได้ในระยะ 10-15 เมตร ถ้าเป็นบุคคลทั่วไปนั้นจะต้องใช้บัตรประชาชนหรือใบขับขี่ส่องกับกล้องก่อนเพื่อเก็บข้อมูล ซึ่งในอนาคตจะเพิ่มเครื่องอ่านชิปในบัตรประชาชนเพื่อให้ใช้งานสะดวกขึ้น

ตัวกล้องที่ใช้นั้นจะมี 2 ตัว มุมกว้างจะเก็บทั้งคันรถและป้ายทะเบียน ส่วนกล้องมุมแคบนั้นจะเก็บใบหน้าของคนขับรถ โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งไปยังศูนย์ควบคุมกลางที่มีเจ้าหน้าที่คอยสอดส่องความปลอดภัย ในกรณีที่เราต้องการหาคนหรือรถต้องสงสัย เราก็สามารถป้อนข้อมูลสู่ระบบไว้ก่อน เมื่อเจอก็จะทำการแจ้งเตือนให้รู้ทันที ตัวระบบเองนั้นมาพร้อมกับ Machine Learning สามารถเรียนรู้ลักษณะรถและคนขับได้ เมื่อฉลาดขึ้นจะสามารถระบุลักษณะของรถและคน รวมถึงสีรถและยี่ห้อได้

นอกจากนั้นทางเจ้าหน้าที่ยังสามารถตรวจข้อมูลคนเข้าออกผ่านแท็บเล็ตได้แบบ Real-time ได้ด้วย

Smart Farming

ส่วนต่อมาคือ ฟาร์มอัจฉริยะ ที่นำเทคโนโลยีมาช่วยวางแผนการเพาพปลูกให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ภายในแปลงจะใช้เซ็นเซอร์ต่างๆในการเก็บข้อมูลสภาพอากาศ แสงแดดและความชื้นที่ส่งผลต่อการเติบโต โดยฟาร์มต้นแบบนั้นจะเป็นฟาร์มเมล่อน ซึ่งเค้าจะมีการติดตั้งเซ็นเซอร์จับน้ำหนักไว้ที่ตัวผลเมล่อน เพื่อวัดความเจริญเติบโต ซึ่งการเติบโตในแต่ละช่วงของเมล่อนนั้นจะให้ปุ๋ยและน้ำในระดับที่ต่างกันซึ่งจะส่งผลต่อความหวานนั่นเอง

ข้อมูลจะถูกส่งไปยังระบบ รายงานออกมาเป็นตัวเลขและพล็อตเป็นกราฟออกมาให้เข้าใจง่ายๆ เพื่อให้เกษตรกรเอาไปใช้วางแผนได้ถูกต้องยิ่งขึ้น รวมถึงการวางแผนเก็บเกี่ยวและการจัดส่งเพื่อให้ได้รสชาติที่อร่อยที่สุด ตัวเครื่องยังเชื่อมต่อกับระบบ Pre-Mix สำหรับผสมน้ำและปุ๋ยให้ได้ตามสูตรที่ต้องการ ไม่ต้องมาเสียเวลาผสมเอง แถมยังช่วยให้การใช้น้ำและปุ๋ยเกิดความคุ้มค่าที่สุด

จริงๆแล้วทางมอ.ก็มีฟาร์มตัวอย่างอีกแห่งบนพื้นที่ที่ใกล้กับสนามบิน ซึ่งใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกัน ซึ่งทางอาจารย์เองสามารถเช็คสถานะต่างๆได้ผ่านทางแอปบนสมาร์ทโฟน สำหรับเกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อขอคำปรึกษา รวมถึงยกระบบต้นแบบไปใช้กับฟาร์มของตัวเองได้เลย

Smart Living

ในส่วนของการใช้ชีวิตภายในมหาวิทยาลัยนั้นก็มีการเอา IoT มาอำนวยความสะดวกหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่เสาไฟอัจฉริยะ Smart Pole ที่เรียกว่าติดตั้งเซ็นเซอร์ต่างๆเอาไว้ครบครัน ไม่ว่าจะเป็น WiFi สำหรับปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ต, กล้องวงจรปิด, เซ็นเซอร์วัดสภาพอากาศ, เซ็นเซอร์วัดฝุ่นบอกได้ถึงระดับของ PM 2.5, ป้ายอัจฉริยะสำหรับแสดงข้อมูลต่างๆประชาสัมพันธ์ข่าวสารแสดงข้อความต้อนรับ ซึ่งต่อไปอาจจะใช้ลงโฆษณาใช้สร้างรายได้กลับคืนมาได้, ปุ่มฉุกเฉิน รวมถึงเป็น IoT Hub สื่อสารกับอุปกรณ์ต่างๆที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง

ด้านล่างของเสาไฟจะเป็นแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนที่เข้ามาใช้บริการในมหาวิทยาลัย เมื่อมีการเก็บค่าบริการเราจะต้องใช้บัตรแตพที่เครื่องเพื่อทำการจ่ายเงิน ที่พื้นยังมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจจับว่าที่จอดรถว่างอยู่หรือเปล่า ช่วยให้หาที่จอดรถได้เร็วขึ้น ไม่ต้องวนหาให้เสียเวลา ซึ่งต่อไปจะใช้งานได้ผ่านแอปของทางมหาวิทยาลัยเอง

หลอดไฟเองมาพร้อมสารพัดเซ็นเซอร์จับการเคลื่อนไหวสามารถหรี่ความสว่างลงเมื่อไม่มีคนอยู่ในบริเวณนั้นๆ มีการตรวจความเข้มของแสงปรับความสว่างให้เหมาะสม รวมถึงประหยัดพลังงานด้วย ข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งไปยังศูนย์กลางทำให้รู้ถึงการใช้พลังงานทั้งหมด นำมาวางแผนบริหารจัดการได้ดีขึ้น

ในส่วนของการเดินทางนั้น จะมีการใช้รถ EV เป็นพาหนะหลักในการรับส่ง ซึ่งตรงที่เป็นจุดรอรถจะมีป้ายอัจฉริยะ แสดงตำแหน่งรถ ระยะเวลาที่รถจะมาถึงได้แบบ Real Time

Smart People

สิ่งที่ทาง CISCO และมอ.ให้ความสำคัญคือการพัฒนาคนในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งภายในมหาวิทยาลัยเองก็กำลังสร้าง Learning Space เพื่อเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ พร้อมเครื่องไม้เครื่องมือที่ครบครัน เปิดให้นักศึกษาและสตาร์ทอัพที่สนใจเข้ามาใช้บริการได้ โดยมีกำหนดเสร็จในเดือนกันยายนนี้

รวมถึงมีการเปิด Research Market Platform ร่วมกับสตาร์ทอัพ เพื่อช่วยจับคู่นักประดิษฐ์และกับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

Intelligent Operation Centre (IoC)

ข้อมูลทุกอย่างในมหาวิทยาลัยนั้นจะถูกส่งมายัง IoC ที่เป็นเหมือนศูนย์ควบคุมกลางโดยเชื่อมต่อระบบอัจฉริยะทั้งหมดรวมถึงข้อมูลจากหน่วยงานอื่นๆเข้าไว้ด้วยกัน เอามาใช้วิเคราะห์และวางแผนบริหารจัดการทั้งเมืองได้ง่ายขึ้น

ตัวอย่างที่นำมาใช้ก็คือระบบการป้องกันภัยน้ำท่วมที่นำกล้องและเซ็นเซอร์ไปติดตั้งตามจุดต่างๆในเมืองสงขลา เมื่อระดับน้ำสูงใกล้ระดับที่มีความเสี่ยงจะได้แจ้งเตือนประชาชนได้ก่อน เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดกับชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนกล้องวงจรปิดในมหาวิทยาลัยนั้นใช้ AI มาช่วยคาดเดาการเคลื่อนไหวของคน ช่วยพยากรณ์พฤติกรรมที่น่าสงสัย

ระบบเครือข่ายทั้งหมดภายในมหาวิทยาลัยนั้นจะใช้โซลูชันของซิสโก้ ไม่ว่าจะเป็น เน็ตเวิร์กหลัก (core network) แพลตฟอร์มไอโอที (IoT) ที่ใช้เทคโนโลยีซิสโก้เป็นฐาน ทำให้การเชื่อมต่อแบบเอ็นด์ทูเอ็นด์มีความปลอดภัย และความสามารถในการบริหารจัดการที่ดีขึ้น เป็นรากฐานของมหาวิทยาลัยในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น เพื่อสร้างโมเดลเมืองอัจฉริยะที่เป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองแห่งอนาคตในทุกมิติ

นายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทยของซิสโก้ กล่าวว่า “การพัฒนาไปสู่เมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ทซิตี้ โดยทำให้เมืองมีความชาญฉลาดนั้น การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการยกระดับเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ อย่างไรก็ตามต้องมีการจัดลำดับว่าพื้นที่ส่วนไหนต้องเร่งพัฒนาด้านใดเพื่อสอดคล้องกับเอกลักษณ์ วิถีพื้นถิ่น และแผนกลยุทธ์การพัฒนาของเมืองนั้นๆ ซิสโก้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในหลายๆ ประเทศ เรามีความเชื่อมั่นในการนำเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานหรือ Core Network และดาต้าเซ็นเตอร์ที่ออกแบบเพื่อการใช้งาน AI ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาต่อยอดสมาร์ทโซลูชั่นและแอปพลิเคชันต่างๆ พร้อมระบบรักษาความปลอดภัยแบบเอ็นด์ทูเอ็นด์มาช่วยในการตอบโจทย์การสร้างสมาร์ทซิตี้อย่างสมบูรณ์

นอกจากนี้สมาร์ทซิตี้จะขับเคลื่อนอย่างรวดเร็วไม่ได้ถ้าขาดบุคลากรที่เข้าใจเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซิสโก้มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการเพิ่มพูนทักษะความเชี่ยวชาญให้แก่บุคลากรของ มอ.อย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการ Cisco Network Academy ที่ให้ความรู้เบื้องต้นทางด้าน IoT และ DevNet ซึ่งให้ความรู้เฉพาะทางด้านเน็ตเวิร์กจากนักพัฒนาซอฟแวร์ที่มีความสามารถทางด้านเน็ตเวิร์กด้วยเทคโนโลยีของซิสโก้ โดยซิสโก้ได้จัดการอบรม แบ่งปันความรู้และทักษะให้กับบุคลากรของ มอ.เพื่อรองรับความต้องการของโลกดิจิทัลในอนาคต”

“ความร่วมมือครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Co-Innovation ของซิสโก้ในการร่วมพัฒนาโซลูชั่นที่มีความหมายและสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ร่วมกับภาครัฐและเอกชน และเราภูมิใจที่ได้เป็นหนึ่งในอีโคซิสเต็มส์ของนวัตกรรมและการพัฒนาครั้งนี้

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) กล่าวว่า “ทางมหาวิทยาลัยฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ซิสโก้มาเป็นพันธมิตรช่วยผลักดันและร่วมพัฒนาเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นรากฐานและเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อการพัฒนาต่อยอดการสร้างสมาร์ทโซลูชั่นต่างๆ โดยหนึ่งในวาระเร่งด่วนคือการพัฒนาเมืองอัจฉริยะไปทั่วประเทศทั้งกลุ่มเมืองเดิมที่ต้องปรับปรุงให้น่าอยู่ และอัจฉริยะมากขึ้น และกลุ่มเมืองใหม่ที่จะต้องออกแบบให้สมบูรณ์ ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ ตามลักษณะของเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน ที่ประกอบด้วย (1) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) (2) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) (3) ขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) (4) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) (5) พลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) (6) การดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) และ (7) การบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance)

จากการที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ซึ่งรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับ 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อให้แต่ละเมืองได้เห็นโมเดลรูปแบบการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาเมืองและนำไปปรับใช้กับพื้นที่เขตความรับผิดชอบของตน ความร่วมมือระหว่างซิสโก้และมอ. นับเป็นการตอบโจทย์การสร้างโมเดลสมาร์ทซิตี้ให้เป็นต้นแบบการพัฒนาเมืองแห่งอนาคตที่มีความสมดุลในทุกมิติ ซิสโก้มีส่วนช่วย มอ.ในการพัฒนานวัตกรรมสมาร์ทโซลูชั่น แพลตฟอร์ม  IoT และเติมเต็มความสามารถทางดิจิทัลของบุคลากรเราเพื่อการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ที่เป็นไปอย่างราบรื่นและสมบูรณ์