ปัจจุบันนี้นับว่าสัมคมไร้เงินสดได้ก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งชีวิตของคนเราไปโดยปริยาย โดยเฉพาะการทำธุรกรรมธนาคารผ่านช่องทางออนไลน์ หรือ “โมบายล์ แบงก์กิ้ง” นับว่าเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะทั้งสะดวก รวดเร็ว ตรวจสอบเองได้ แถมยังลดเวลาที่จะต้องเดินทางไปทำธุรกรรมที่ธนาคารด้วย

ซึ่งครั้งนี้นับว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคสู่สังคมไร้เงินสดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะเกิดขึ้นมาแล้วหลายปีก็ตาม แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยหลายๆ อย่าง หรือข้อสงสัยของใครหลายๆ คนต่างตั้งคำถาม และจับตาดูว่า แนวโน้มการใช้งาน โมบายล์ แบงก์กิ้ง ต่อจากนี้ไป หรือ ความปลอดภัยของการใช้งานดังกล่าว สุ่มเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบอะไรหรือไม่

โจรไซเบอร์เพิ่มขึ้นต้องระวัง

ไม่แปลกใจเลยค่ะว่าทำไมในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเงิน จะเกิดการโจรกรรมข้อมูลง่ายขึ้น แหม่ถ้าพูดกันตรงๆ ถึงแม้จะหนีความเสี่ยงจากการถูกขโมยด้วยการถือเงินสด แล้วย้ายเงินมาอยู่บนโลกออนไลน์ แต่อย่าลืมนะคะว่าโจรฉลาดในโลกออนไลน์ก็ร้ายไม่แพ้กัน

มีข้อมูลจาก Hootsuite ผู้ให้บริการระบบจัดการ Social Media และ Marketing Solutions รวบรวมสถิติผู้ใช้งานโมบายล์ แบงก์กิ้งในประเทศ พบว่า มีจำนวนผู้ใช้งานสูงถึง 74% หรือราว 51 ล้านคน และยังคงมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในทางกลับกันก็อาจเป็นช่องทางให้เกิดการโจรกรรมผ่านไซเบอร์ หรือ Cyber Crime เพิ่มขึ้นได้เช่นเดียวกัน โดยกว่า 91% ของการหลอกลวงหรือการโจรกรรมข้อมูลมาจากอีเมล (Email) และ 35% ของผู้ใช้งานโมบายล์ แบงก์กิ้ง ได้รับข้อความ (SMS) จากผู้ไม่ประสงค์ดีที่ต้องการนำข้อมูลไปใช้ในการทุจริต และทำให้เกิดความเสียหายตามมากับทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ

เคยเจอกันใช่ไหมละคะ กับอีเมลที่ล่อตาล่อใจให้เราคลิกเข้าไป แล้วกรอกข้อมูล แต่พอกรอกไปกรอกมารู้ตัวอีกทีก็โดนขโมยข้อมูลไปส่ะแล้ว เพราะฉะนั่นวิธีป้องกันต้องสังเกตกันดีๆ นะคะ 

ธนาคารต้อง R&D ระบบความปลอดภัย

ต้องยอมรับว่าหลายปีที่ผ่านมามีธนาคารหลายแก่งพยายามปรับตัวเพื่อตอบรับกับความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคแม้ว่าธนาคารผู้ให้บริการจะออกแบบโมบายล์แอปพลิเคชันมาให้ลูกค้าใช้งานได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วแล้ว ก็มีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องพัฒนาระบบความปลอดภัยเพื่อป้องกันการถูกโจรกรรมข้อมูล รวมถึงควรมีบริการต่างๆ ที่คอยแจ้งเตือนลูกค้าอย่างทันท่วงที

ฟังก์ชันที่ธนาคารต้องมี!! เพื่อช่วยให้ลูกค้าลดความกังวล เมื่อทำธุรกรรมผ่านโมบายล์ แบงก์กิ้ง

1 รู้ทุกทีที่ใช้งาน แสดงรายการเรียลไทม์ เพื่อให้ผู้ใช้งาน สามารถตรวจสอบการทำธุรกรรมต่างๆ บนแอปฯ ของธนาคารได้ทันที รวมถึงควรมีระบบแจ้งเตือน เมื่อเกิดการ โอน – รับ – ใช้จ่าย ผ่านโมบายล์แอปฯ ซึ่งจะทำให้ลูกค้าสามารถตรวจสอบรายการ และทราบถึงการทำรายการที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา

โดยส่วนตัวมองว่าฟังก์ชันนี้เป็นสิ่งที่ทุกธนาคารต้องมีเนื่องจากบางธุรกรรมผู้ใช้งานอาจจะเกิดคำถามว่าทำธุรกรรมนี้ไปตอนไหน ทำไปเมื่อไหร่ ซึ่งการแจ้งเตือนแบบนี้นับว่าเป็นสิ่งที่เตือนความจำผู้ใช้งานได้อย่างดี อีกทั้งยังช่วยให้กลับมาดูย้อนหลังได้อีกด้วยว่าเราทำธุรกรรมอะไรไปบ้าง

2 ใส่ โอทีพี (One-Time Pin) และโมบายล์ โทเค็น (Mobile Token) ก่อนทำธุรกรรม หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับรหัสที่ต้องใช้ยืนยันก่อนที่จะทำธุรกรรมต่างๆ ผ่านแอป โดยหนึ่งในสเต็ปหลักประกันก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง ที่ผู้ใช้งานจำเป็นต้องใส่รหัสการใช้งานครั้งเดียว หรือ โอทีพี (One-Time Pin) ที่ส่งตรงจากธนาคารเข้าสู่โทรศัพท์ส่วนตัวของผู้ใช้ เพื่อใช้ยืนยันการทำในแต่ละธุรกรรม

นอกจากนี้ ในบางธนาคารผู้ใช้งานยังให้บริการยืนยันการทำธุรกรรมด้วย “โมบายล์ โทเค็น” หรือรหัสส่วนตัวที่กำหนดโดยตัวผู้ใช้งานเอง ช่วยเพิ่มขีดความปลอดภัย กรณีการถูกดักโจรกรรมข้อมูลผ่านทาง SMS และสามารถทำรายการต่อได้แม้ว่าจะเดินทางอยู่ในต่างประเทศและไม่ได้เปิดบริการโรมมิ่ง

ฟังก์ชันนี้เป็นหนึ่งฟังก์ชันที่เราพบในการทำธุรกรรมหลายๆ อย่างอยู่แล้ว เพราะเปรียบเสมือนการยืนยันตัวตนว่านี่คือเจ้าของบัญชี เจ้าของบัตร เจ้าของการทำธุรกรรมนี้เท่านั้น โดยส่วนตัวมองว่าเป็นฟังก์ชันที่มีความปลอดภัยอยู่แล้วในระดับหนึ่ง แต่ที่ยังดูว่าอาจจะเป็นที่กังวลได้ ในอนาคต คือ การสุ่มตัวเลขของมิจฉาชีพที่อาจมีโอกาสตรงตามตัวเลขจริง แม้จะมีโอกาสน้อยมากแต่ก็อาจจะเกิดขึ้นได้

3 เชื่อมต่อทุกทางรับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค

ผู้บริโภคส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ได้ติดตามข้อมูลจากธนาคารอย่างใกล้ชิด ธนาคารจึงจำเป็นต้องพัฒนา และเชื่อมต่อการแจ้งเตือนธุรกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคได้ในทุกกลุ่ม ตั้งแต่ทางอีเมล ข้อความ SMS  และแอปพลิเคชันไลน์ (LINE)

จริงๆ แล้วการแจ้งเตือนผ่านทุกช่องทาง นับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าไลฟ์สไตล์คนส่วนมากอาจจะใช้งานเพียงแค่ไม่กี่ช่องทางเท่านั้น แต่เท่าที่เห็นในปัจจุบันก็ต้องยอมรับว่า การแจ้งเตือนธุรกรรมต่างๆ มีธนาคารหลายแห่งที่ทำได้ดี

4 ป้องกันรายการน่าสงสัยผ่าน 2-way SMS

2-way SMS เป็นอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่เสริมความปลอดภัยของการใช้บัตร เมื่อธนาคารพบว่ามีรายการที่น่าสงสัยผ่านบัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต ธนาคารจะส่งข้อความไปยังลูกค้าเพื่อตรวจสอบว่าลูกค้าได้ทำรายการดังกล่าวจริงหรือไม่ ในกรณีที่ลูกค้าตอบกลับว่าลูกค้าไม่ได้ทำรายการนั้นๆ ด้วยตนเอง ธนาคารฯ จะทำการอายัติบัตรและติดต่อลูกค้าเพื่อให้คำแนะนำในลำดับต่อไป ซึ่งเป็นการป้องกันรายการทุจริตอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกหลังจากนั้น

โดยส่วนตัวแล้ว พึ่งเคยได้ยินฟังก์ชันนี้จริงๆ แต่จากขั้นตอนการตรวจสอบกรณีที่เราไม่ได้เป็นผู้ใช้งานเองก็ถือว่าเป็นระบบความปลอดภัยที่น่าสนใจเลยทีเดียว 

5 พิสูจน์ตัวตนทางชีวภาพ

ยุคนี้เทคโนโลยีมาล้ำ อย่างตัวล่าสุดที่พัฒนาขึ้นสอดรับกับความสามารถของสมาร์ทโฟน ซึ่งบางธนาคารได้นำเอาการพิสูจน์ตัวตนทางชีวภาพ หรือ ไบโอเมตริกซ์ (Biometric Authentication) เช่น การตรวจสอบลายนิ้วมือ และการจดจำใบหน้า ใช้การเข้าล็อกอินสู่แอปฯ และใช้ยืนยันตัวตนก่อนทำธุรกรรม ซึ่งเป็นความปลอดภัยที่สูง ยากที่จะถูกลอกเลียน เมื่อเปรียบเทียบกับการใส่รหัสผ่านหรือโอทีพี

การยืนยันตัวตนในรูปแบบดังกล่าวนี้อยู่ใกล้ตัวเราเองอยู่แล้วค่ะ และจริงๆ ก็เกิดขึ้นในหลายๆ แอปฯ ที่ทำธุรกรรมทางการเงินแล้วด้วย แต่สิ่งที่เราพบจากการใช้งานเราคิดว่าอาจจะยังไม่เสถียรมากพอเท่าไหร่ ซึ่งตรงนี้ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นที่แอปฯ หรือ ระบบของสมาร์ทโฟน แต่โดยรวมถือเป็นฟังก์ชันตรวจสอบความปลอดภัยที่ดีเลยทีเดียวเพราะคงไม่มีใครหน้าเหมือนเรา หรือลายนิ้วมือเหมือนกันจนปลดล็อคกันได้

จริงๆ แล้วเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นสิ่งที่เข้ามาเสริมศักยภาพการใช้งานของ โมบายล์ แบงก์กิ้งในยุคสังคมไร้เงินสดได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ใช้งานเองก็ต้องตระหนักถึงความปลอดภัยเกี่ยวกับธุรกรรมของตนเองด้วย ซึ่งการใช้งานธุรกรรมทางเงินที่ดีและปลอดภัยมีอยู่ด้วยกัน 5 ข้อ คือ
1 ปิดการใช้งานบน WiFi ซึ่งมีหลายแอปฯของธนาคารมักขึ้นแจ้งเตือน หรือ จะไม่ให้ใช้งานหากเรากำลังใช้งานผ่าน WiFi
2 ตรวจสอบการใช้จ่ายของตัวเองในทันทีหลังทำธุรกรรม ทุกๆ ครั้งจะมีการแจ้งเตือนผ่านหลายๆ ช่องทางที่เราเชื่อมไว้ ลองเปิดเช็คกันสักนิดว่าถูกต้องตามยอดที่เราใช้งานหรือไม่ก็ดี
3 ถ้าพบรายการที่น่าสงสัย หรือ ไม่ได้เป็นผู้ใช้งานเอง ต้องสั่งระงับทันที!
4 หมั่นเปลี่ยนรหัสผ่าน เสมอ ไม่ว่าจะเป็นช่องทางเข้าแอปฯ หรือ เข้ามือถือ รวมถึงรหัสที่ใช้ยืนยันตน
5 หากพบปัญหาที่สงสัย หรือ ไม่เข้าใจว่าจะแก้ไขยังไง ติดต่อเจ้าหน้าที่ด่วน!

เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่ดีค่ะ แต่บางทีก็มักแอบแฝงมากับการฉวยโอกาสของคนบางกลุ่ม ดังนั้นใช้เทคโนโลยีให้ดีต้องพึงระมัดระวังสิ่งรอบตัว และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นด้วย สนุกกับเทคโนโลยีได้ แต่อย่าลืมป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นด้วยนะคะ

ข้อมูลจาก : ธนาคารซิตี้แบงก์