ในปัจจุบันนั้นเทคโนโลยี AI ได้เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินชีวิตมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกแวดวง ไม่เว้นแม้แต่วงการกีฬาอย่างมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าโอลิมปิก ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2020 ที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หรือที่รู้จักกันในชื่อ “Tokyo Olympic 2020” นั่นเอง

แต่ถ้าคุณกำลังคิดว่า AI จะช่วย Tokyo Olympic แค่ในเรื่องของการท่องเที่ยวละก็.. คุณคิดผิด เพราะนอกจาก AI จะทำหน้าที่ของหุ่นยนต์นำเที่ยวแล้ว ญี่ปุ่นก็ยังให้ AI ได้มีบทบาทในการแข่งขันกีฬาโดยตรงอีกด้วย ด้วยการเข้ามาช่วยในระบบการให้คะแนน รวมไปถึงให้น้อง AI เข้ามาช่วยจัดการเรื่องปัญหาเกี่ยวกับการจราจรเพื่อช่วยลดปัญหาการจราจรที่แออัดอีกด้วย เอาล่ะ.. วันนี้เราจะมาดูกัน.. ว่ามีเทคโนโลยี AI ใดบ้าง ที่ญี่ปุ่นเขานำมาใช้กับโอลิมปิกคราวนี้

 

1.การให้คะแนนด้วย AI

เทคนิคการให้คะแนนในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกนั้นนับว่าเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนมากนะ นับเป็นการยากที่จะสามารถตัดสินได้โดยใช้เพียงสายตาของมนุษย์ และถึงแม้ว่าจะมีการย้อนภาพด้วย VTR แล้วก็ตาม แต่ความผิดพลาดก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ และถ้าหากเกิดความผิดพลาดขึ้นมา นั่นหมายถึงชีวิตของนักกีฬาคนหนึ่งเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการพูดคุยเกี่ยวกับระบบการให้คะแนนด้วยระบบ AI ที่มีความแม่นยำสูง และเป็นสาเหตุให้ “3D Sensing” ที่ได้รับการพัฒนาโดย Fujitsu ถือกำเนิดขึ้น โดยการเคลื่อนไหวของผู้เข้าแข่งขันจะถูกจับด้วยระบบเซ็นเซอร์ 3 มิติ  ทำให้สามารถให้คะแนนได้อย่างถูกต้องและแม่นยำกว่าการตัดสินด้วยสายตามนุษย์อย่างไม่มีข้อกังขา

*ภาพจาก : Youtube Fujitsu Global

นอกจากนี้การเข้ามาช่วยของระบบการให้คะแนนด้วย AI นี้ ยังช่วยให้สามารถช่วยให้ออกผลคะแนนได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้การแข่งขันเป็นไปอย่างราบรื่นขึ้น ในทางกลับกันนั้นผู้ชมก็จะสามารถเพลิดเพลินไปกับผลการตัดสินที่มีความโปร่งใส เห็นได้ถึงกระบวนการการให้คะแนนอย่างชัดเจน

 

2.การใช้ AI ช่วยจัดการระบบการจราจรที่แออัด

รถติด.. ปัญหาระดับโลกที่แม้แต่ประเทศที่ได้รับการพัฒนาขั้นสุดอย่างญี่ปุ่นก็ต้องเผชิญ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงช่วงการแข่งขันโอลิมปิกที่จะต้องมีทั้งคณะนักกีฬา สต๊าฟ กองเชียร์ รวมๆแล้วร่วมหมื่นร่วมแสน ซึ่งการจราจรบนท้องถนนคงจะติดอย่างสาหัสสากันยามที่การแข่งขันแต่ละสนามจบลง

นั่นแหละ.. ที่เป็นคิวของน้อง AI ที่จะเข้ามาช่วยดูแลระบบการจราจร ภายใน 30 นาที AI จะช่วยวิเคราะห์เส้นทางที่สามารถสัญจรได้อย่างสะดวก ช่วยให้หลีกเลี่ยงเส้นทางที่แออัดได้ ซึ่งไม่เพียงแสดงผลอยู่แค่บนป้ายอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่ทั่วญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังสามารถเช็คข้อมูลต่างๆที่ AI ได้วิเคราะห์และเก็บข้อมูลไว้ได้โดยตรงจากสมาร์ทโฟนของเราได้เลย

 

3. หุ่นยนต์นำเที่ยว

เพราะคนที่จะมาเข้าร่วมมหกรรมโอลิมปิกไม่ได้มีแค่นักกีฬาหรือคนวัยผู้ใหญ่เท่านั้น แต่รวมไปถึงเด็กๆและเหล่าผู้สูงอายุอีกด้วย หุ่นยนต์นำเที่ยวจึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างความทรงจำและความสุขให้กับผู้ที่มาเข้าร่วมให้ประทับใจไม่รู้ลืม

“เป็ปเปอร์” เป็นชื่อของเจ้าหุ่นยนต์นำเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดในญี่ปุ่น แต่นอกจากน้องเป็ปเปอร์แล้ว ก็ยังมีหุ่นตัวอื่นๆอีก อย่างเช่นเจ้า “EMIEW3” ของ HITACHI ที่มีขนาดที่เล็กกว่าเป็ปเปอร์ แต่ความสามารถไม่เล็กนะจ๊ะ.. น้องเขาสามารถหยุดยืนคุยกับคนที่เรียกเขา และถ้าเกิดน้องล้มหงายท้องเอ้งแม้งขึ้นมา.. น้องเขายืนหยัดด้วยตัวเองได้ ไม่ต้องห่วง

 

*ภาพจาก : Softbank Robotics และ Youtube HITACHI

 

4. Robot Taxi

ปี 2020 เป็นปีที่ญี่ปุ่นประกาศว่าจะผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับการใช้ Robot Taxi ให้สามารถให้บริการได้อย่างถูกกฎหมาย และนั่นเองที่ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง DeNA, SONY และ SoftBank มีความกระตือรือล้นในการพัฒนาหุ่นยนต์แท็กซี่เป็นอย่างมาก แม้ว่าทั้ง 3 บริษัทนั้นจะไม่ใช่บริษัทผลิตรถยนต์โดยตรงก็ตาม ซึ่งเป้าหมายของการใช้แท็กซี่หุ่นยนต์นั้นไม่ได้มีแค่สำหรับขนส่งผู้โดยสารเท่านั้นนะ แต่หมายถึงการขนส่งสิ่งของต่างๆยามที่ว่างเว้นจากการรับ-ส่งผู้โดยสารอีกด้วย และนั่นทำให้เทคโนโลยีนี้เป็นที่น่าสนใจยิ่งขึ้นไปอีก

ซึ่งเราก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปีหน้า ร่างกฎหมายนี้จะผ่าน และทำให้ผู้เข้าร่วมงานได้เปิดประสบการณ์แปลกใหม่ในชีวิตด้วยการนั่งเจ้าแท็กซี่หุ่นยนต์นี้กันนะจ๊ะ

 

5. หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย

ในภาวะที่เผชิญกับปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรบุคคล การใช้หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัยนี้นับว่าเป็นตัวช่วยที่ดีตัวหนึ่ง ที่จะทำให้ญี่ปุ่นสามารถรับมือกับจำนวนคนที่มากมายมหาศาลที่จะหลั่งไหลเขาสู่ญี่ปุ่นในปี 2020 ได้

*ภาพจาก : Youtube ALSOK

REBORG-Z เป็นหุ่นยนต์รักษาความปลอดภัยที่ได้รับการพัฒนาโดย ALSOK ที่จะช่วยให้คุณอุ่นใจยิ่งขึ้นด้วยฟังก์ชั่นเกี่ยวกับความปลอดภัยที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมจดจำใบหน้า ที่สามารถแยกแยะใบหน้าของผู้ต้องสงสัยที่อยู่ในรายชื่อออกมาจากฝูงชนได้ ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น หรือโปรแกรมการตรวจจับแก๊สพิษที่สามารถตรวจจับการรั่วซึมของแก๊สได้ และยังมีโปรแกรมสำหรับตรวจจับผู้บุกรุกในยามวิกาลอีกด้วย

 

ญี่ปุ่นได้เตรียมความพร้อมอย่างมากในแง่ของเทคโนโลยีต่างๆที่จะเข้ามารองรับให้ผู้เข้าร่วม Tokyo Olympic 2020 นั้นได้รับความสะดวกสบายมากที่สุด ที่ไม่ต้องกังวลไปนะ.. เพราะต่อให้มหกรรมกีฬาครั้งนี้จะจบลงไปก็ตาม ญี่ปุ่นเขาก็มีความตั้งใจที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่ให้เสียชื่อประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีแห่งหนึ่งของโลกอย่างแน่นอน…