ในช่วงเวลาที่ข้อมูลเรื่องเชื้อไวรัส Covid-19 หลั่งไหลมาจากทุกหนทุกแห่ง จริงบ้าง ปลอมบ้าง ทำให้ทุกวันนี้เจออะไรก็จะปักใจเชื่อเลยทันทีไม่ได้ ทาง BBC เค้าก็เลยแนะวิธีที่จะหยุดการระบาดของข้อมูลที่ผิดๆเหล่านี้มา 7 ข้อด้วยกัน เราไปดูกันเลยว่ามีวิธีไหนกันบ้าง

  1. หยุดและคิด – โดยก่อนที่เราจะแชร์ข้อมูลที่เราได้รับมาจากแหล่งต่างๆไปให้เพื่อน ครอบครัว หรือที่ทำงาน วิธีที่ง่ายมากๆเลยก็คือการหยุดและคิดก่อนที่จะแชร์นั่นเอง และหากว่าเรามีคำถามคาใจเกี่ยวกับข้อมูลนั้นๆก็ต้องเช็คก่อนแชร์นะจ้ะ
  2. เช็คแหล่งข้อมูล – ก่อนจะส่งต่อข้อมูลใดๆ ให้ดูก่อนว่าข้อมูลนั้นมาจากที่ไหน เราไม่ควรแชร์ข้อมูลที่มีแหล่งข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในตอนนี้ ที่ควรแชร์ข้อมูลที่มาจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) หน่วยงานหรือผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข
  3. ข่าวปลอม? – อาจมีการปลอมแปลงข่าวหรือข้อมูลต่างๆให้ดูเหมือนว่ามาจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ วิธีเช็คง่ายๆว่าเป็นข่าวปลอมหรือเปล่า ก็คือความง่ายในการค้นหาข่าวนั้นๆ ถ้าหาเจอได้อย่างง่ายๆ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะไม่ใช่ข่าวปลอม หรือการดูวิดีโอคลิปที่มีความทะแม่งๆ ดูแปลกๆ ก็ให้สงสัยไว้ก่อนได้เลยว่าปลอมรึเปล่านะ ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังบอกอีกว่าให้ดูที่รูปแบบของตัวหนังสือหรือฟอนต์ที่ดูแปลกๆ ก็เป็นอีกวิธีที่สังเกตข่าวปลอมได้ด้วยเหมือนกัน
  4. ถ้าไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ อย่าแชร์ – เพราะการแชร์ข้อมูลที่เราไม่แน่ใจว่าถูกหรือผิด อาจจะก่อให้เกิดอันตรายกับคนที่เราแชร์ข้อมูลไปให้ได้ และควรแน่ใจจริงๆด้วยว่าข้อมูลนั้นเป็นเรื่องจริงและถูกต้องเท่านั้นถึงจะกดแชร์ต่อ ทั้งนี้ เราควรระวังการแชร์รูปภาพหรือข้อความที่อาจถูกแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงหลังจากที่เราแชร์ด้วย
  5. เช็คความถูกต้องของข้อมูลอย่างละเอียด – ข้อมูลบางอย่างก็ถูกส่งต่อมาเป็นก้อนใหญ่ๆ ซึ่งอาจจะดูเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือเมื่อไม่ได้ลงอ่านรายละเอียดข้างใน แต่จริงๆแล้วรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆอาจจะไม่ถูกต้องหมดทุกอย่างก็ได้ ฉะนั้น ต้องเช็คอย่างละเอียดก่อนแชร์

  6. ระมัดระวังการโพสด้วยอารมณ์ – การโพสหรือแชร์ด้วยอารมณ์ต่างๆในตอนนั้น อาจส่งผลให้ข้อมูลที่ผิดๆถูกส่งต่อไปได้
  7. อคติ – ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า คนเรามีแนวโน้มที่จะแชร์สิ่งที่ตรงกับความเชื่อของเรา มากกว่าสิ่งที่เป็นความจริง ดังนั้น เราก็ควรที่จะแชร์ข้อมูลที่เป็นจริงเท่านั้น

ที่มา BBC