เรียกว่า “Mother Gamer เกมเมอร์เกมแม่” เป็นอีกหนึ่งหนังไทยที่มีความกล้าที่จะฉีกแนวเดิมๆ ด้วยการหยิบเอาพล็อตเรื่องของ e-Sport มานำเสนอได้อย่างน่าสนใจ

เนื้อเรื่องย่อ

เมื่อความลับของการเป็นเกมเมอร์มือโปรถูกล่วงรู้ถึงหูแม่ ปฏิบัติการฟอร์มทีม “เกมแม่” เพื่อล้มทีม “เกมเมอร์” จึงเริ่มต้นขึ้น พร้อมเปิดสมรภูมิอีสปอร์ตที่งานนี้ “แม่” กับ “ลูก” จะต้องไฝว้เพื่อชัยชนะเท่านั้น

ในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน “เบญจมาศ” (อ้อม พิยดา) ผู้เป็นทั้งแม่และครูพยายามควบคุมเส้นทางชีวิตของลูกชาย “โอม” (ตน ต้นหน) เพื่อหวังให้สอบชิงทุนเรียนได้สำเร็จ แต่แล้วความต้องการที่อยากผลักดันเส้นทางของลูกชายนั้นก็ไม่เป็นดังหวัง เมื่อเธอจับได้ว่าโอมเป็นนักกีฬาอีสปอร์ตในทีมชื่อดังอย่าง “Higher” และยิ่งไปกว่านั้น โอมกำลังจะลงแข่งขันเกมครั้งสำคัญเพื่อเป็นตัวแทนไปชิงแชมป์ระดับโลกในวันเดียวกับสอบชิงทุนเสียด้วย

ศึกระหว่างแม่กับลูก

เพื่อให้ลูกไปสอบชิงทุน แม่จึงจะต้องขัดขวางการคว้าแชมป์ประเทศด้วยการฟอร์มทีมซะเอง !

เมื่อคำสั่งห้ามของแม่ใช้ไม่ได้ผล เบญจมาศจึงต้องหาทางสกัดกั้นไม่ให้โอมก้าวไปสู่ชัยชนะ ด้วยการยื่นข้อเสนอให้ “กอบศักดิ์” (เติร์ด ลภัส) เด็กหลังห้องอดีตโปรเพลเยอร์ของ Higher มาช่วยตั้งทีมอีสปอร์ตหน้าใหม่ “Ohmgaga” เพื่อแลกกับที่เบญจมาศจะช่วยให้กอบศักดิ์เรียนจบ กอบศักดิ์เลยพาเหล่าเกมเมอร์ตัวจี๊ดมาร่วมทีม Ohmgaga ทั้ง “มะปราง” (วี วีรยา) สาวเปรี้ยวสุดเท่, “ไกด์” (บอส ธนบัตร) นักวางแผนฝีมือฉกาจ, “แบงค์” (นนท์ ศุภวัจน์) สายเปย์ตัวเป้ง และ “แม็ก” (เตชินท์ ณัฐชนน) จอมโวยวายจากร้านเกม

แต่สิ่งที่เบญจมาศไม่ได้คาดคิดเอาไว้ก็คือ เธอต้องลงสนามในฐานะนักกีฬาของทีม เคียงข้างกับกอบศักดิ์ผู้พยายามพิสูจน์ตัวเอง พร้อมเผชิญหน้ากับโอมลูกชายที่อยากขีดเส้นทางชีวิตด้วยตัวเอง

บนเส้นทางแห่งการแข่งขันเกม RoV แบตเทิลครั้งนี้ “เกมเมอร์” หรือ “เกมแม่” ใครกันแน่จะเป็นผู้ชนะ…

ไม่ต้องรู้เรื่องเกมก็ดูหนังได้

คำถามที่หลายคนอยากรู้ก็คือ ไม่ได้เล่นเกมนี้จะดูหนังรู้เรื่องมั้ย ตอบเลยค่ะ ดูรู้เรื่องและสนุกไปกับหนังได้เพลิน ๆ เลยค่ะ เพราะในหนังเองจะมีการค่อย ๆ ปูพื้นมาให้บ้าง ส่วนใครที่เป็นแฟนเกม ROV อยู่แล้วน่าจะทำให้อินกับเนื้อเรื่องไม่ยาก รวมถึงยังมีคนในวงการ e-Sport ที่คุ้นตามาร่วมแจมหลายคน ไม่ว่าจะเป็น นักกีฬา e-Sport ตัวจริง รวมถึงนักพากย์เกม

ความต่างระหว่างคนสองยุค

ส่วนเนื้อเรื่องเรียกว่าค่อนข้างเดินเป็นเส้นตรงตามสูตรสำเร็จ คาดเดาตอนจบได้ไม่ยาก มีการจิกกัดสังคมไม่ว่าจะเป็น ผู้ปกครอง-เด็ก, ระบบการศึกษาจนไปถึงการเล่นเกมเอง มีหยอดมุกตลกมาเป็นช่วงๆให้คนดูได้ผ่อนคลาย  บทค่อนให้คะแนนกลางๆมีหลายประเด็นที่หนังปูไว้แต่ไม่ขยี้ต่อให้สุด ตัวหนังไม่ได้เล่าถึง Background ของหลายตัวละครหลักเท่าที่ควร นอกจากนั้นนักแสดงหลายคนน่าจะมีผลสำคัญต่อเนื้อเรื่องหรือบางประเด็นกลับไม่เล่นต่อซะงั้น หายไปดื้อๆ

สิ่งที่โดดเด่นคือเรื่องของโปรดักชั่นที่ใส่ Visual Effect ที่จัดเต็มแสงสีเสียง เหมือนเรากำลังเล่นเกมอยู่ มีการทดลองมุมกล้องแปลก ๆ ทำให้ดูตื่นตาตื่นใจ ซีนการแข่งขันเกมก็ทำออกมาสนุกทำให้เราลุ้น เอาใจช่วยตามไปด้วย ที่สำคัญยังใส่ใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างฉากดวลกันตัวต่อตัวนั้นท่าทางการสู้นั้นเอามาจากตัวละครในเกมจริง ๆเลยค่ะ

หนังนำเสนอความแตกต่างระหว่างคนสองยุคระหว่างครูเบญและโอม ซึ่งครูเบญก็เหมือนตัวแทนของผู้ใหญ่ที่เติบโตในสภาพสังคมแบบเก่า ยึดติดว่าการเรียนสูง ๆ เรียนให้เก่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยการันตีความสำเร็จในอนาคต มีความเจ้ากี้เจ้าการกำหนดชีวิตลูกให้เป็นอย่างที่ตัวเองเป็นโดยที่ไม่เคยถามเลยว่าลูกของเธอต้องการอะไร เธอมอง “เด็กเล่นเกม = เด็กติดเกม” ทั้งที่ไม่เคยลงไปสัมผัสด้วยตัวเองให้รู้ว่าเกมดีไม่ดียังไงน่าเสียดายที่หนังน่าจะเพิ่มปมของตัวละครนี้ว่าเคยเจออะไรมาบ้างถึงให้ให้เธอเป็นแบบนี้

ฝั่งของโอมถือเป็นตัวแทนของเด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตในยุคที่เทคโนโลยีเฟื่องฟู มีนวัตกรรมและอาชีพใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย หนึ่งในนนั้นก็คือ e-Sport เอาเกมแข่งเป็นกีฬา มีการฝึกซ้อม วางแผน เล่นเป็นทีม กลายเป็น Entertainment รูปแบบใหม่ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก ยิ่งนักกีฬาที่มีชื่อเสียงนั้นทำรายได้เป็นหลักแสนหลักล้านต่อเดือนก็มี

ตัวโอมถือเป็นเด็กที่โชคดีรู้ตัวว่าชอบอะไร โดยเฉพาะเรื่องพรสวรรค์ด้านการเล่นเกม แต่เขาเองก็พยายามแบกความหวังของแม่ ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดทั้งเรื่องของการเรียนและการเล่นเกม แต่สุดท้ายกลับเป็น ผู้ใหญ่เองที่ไม่เคยถามความต้องการของลูกเลย ว่าจริงๆแล้วลูกเธอชอบไม่ชอบอะไร จนทำเกิดการแตกหักกับแม่ขึ้นมา

ฝั่งของทีม “Ohmgaga” เรียกว่าเป็นตัวแทนของเด็กเล่นเกมที่โตมาจากสังคมที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเห็นได้จริงๆ ถ้าเพิ่มแรงจูงใจของแต่ละคนในการเข้าร่วมทีมน่าจะทำให้ดูสนุกกว่านี้ เพราะการรวมตัวเหมือนง่ายเกินไป อยากรวมก็รวมเหมือนเพื่อนชวนเล่นเกมก็มา

ในส่วนของไคลแมกซ์นั้นถ้าหากมีการสร้างปมของตัวละครแต่ละตัวให้ลึกขึ้นน่าจะทำให้ลุ้นได้มากกว่านี้

มาดูฝีไม้ลายมือของนักแสดงนำกันบ้าง

  • พี่อ้อม พิยดา ถือเป็นนางเอก เรียกว่าเอาหนังอยู่ ไม่ว่าจะซีนอารมณ์หรือตลกแต่ เนื่องจากตัวบทและนักแสดงรอบข้างเอง ยังถือว่าดึงศักยภาพที่พี่อ้อมมี ออกมาใช้ได้ไม่เต็มที่สักเท่าไหร่
  • “ต้นหน” แม้บทจะไม่เยอะเท่าคนอื่น แต่ต้องบอกว่ามาน้อยแต่มาก น้องมีความโดดเด่นโดยเฉพาะซีนอารมณ์
  • “เติร์ด” ถือว่ามีผลงานมาจากเลือดข้นคนจางและ The Great Man Academy มาแล้ว กับบทเด็กหลังห้องที่มีความขบถเล็ก ๆ การแสดงถือว่าได้มาตรฐานเข้ากับวีและนักแสดงคนอื่นได้ดี แต่ด้วยบทเองยังไม่เปิดช่องให้แสดงอะไรได้มากนัก
  • “วี วีรยา จาง หรือ WEE BNK48” นี่ถือเป็นการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกของน้องวี  ซึ่งตัวเธอเองก็เป็นคอเกมอยู่แล้ว ทำให้การแสดงค่อนข้างลื่นไหล น่าเสียดายที่บทน้อยไปนิด ไม่ได้เปิดให้น้องได้โชว์ฝีมือสักเท่าไหร่ แต่ก็มีซีนคิ้วๆที่ตกแฟนคลับหน้าใหม่ให้มาเป็นแฟนคลับเธอได้ไม่ยาก

สิ่งที่ชอบ

  • แม้หน้าหนังจะเหมือนเป็นหนังเฉพาะกลุ่มแต่สามารถดูได้ทุกเพศทุกวัย แม้ไม่ได้เล่นเกมก็สนุกกับเนื้อเรื่องได้
  • การตัดต่อ เอฟเฟกต์ เสียงเพลง จัดเต็มเหมือนเรากำลังเล่นเกมอยู่
  • ใส่ใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย

จุดสังเกต

  • พล็อตเรื่องน่าสนใจแต่ยังไม่สุด ยังขยี้ให้สนุกกว่านี้ได้อีก
  • การปูพื้นหลังของตัวละครยังน้อยไป ถ้าเพิ่มปมให้ตัวละครหลักให้ลึกขึ้น น่าจะทำให้ช่วงไคลแม็กซ์ของหนังตื่นตาตื่นใจยิ่งขึ้น
  • นักแสดงหลายคนถูกทิ้งกลางทางไม่ขยี้ต่อ

โดยรวมแล้ว Mother Gamer แม้จะยังไม่ได้เป็นหนังที่สมบูรณ์ไปทุกด้าน แต่มาตรฐานที่ทำออกมาบอกได้เลยว่าหนังไทยไม่แพ้ใคร  ยิ่งถ้าเล่น ROV อยู่แล้วยิ่งทำให้ดูหนังสนุกขึ้นอีก หรือพ่อแม่ผู้ปกครองที่อยากรู้ว่าเด็กเล่นเกมสมัยนี้เป็นยังไงก็สามารถติดตามชมได้ในโรงภาพยนตร์ตั้งแต่ 10 กันยายนเป็นต้นไป