วันนี้ทางทีมงานได้รับเกียรติให้เข้าพูดคุยกับคุณ K.M. Leong ผู้จัดการทั่วไปประจำภูมิภาค SEA ของ Xiaomi International มาพูดคุยถึงความสำเร็จของ Xiaomi ที่โตแบบก้าวกระโดดใน 10 ปีที่ผ่านมา พร้อมทิศทางในอนาคตสำหรับตลาดประเทศไทย

ต้นกำเนิด Xiaomi

จริงแล้วเดิมที่ Xiaomi นั้นไม่ได้เริ่มต้นการผลิตสมาร์ตโฟน แต่ทาง Lei Jun ผู้ก่อตั้งที่บริษัท Xiaomi เคยดำรงตำแหน่งเป็น CEO ของ Kingsoft บริษัทพัฒนาซอฟ์ทแวร์ชื่อดังของจีน ได้มองเห็นว่าเทรนด์ Mobile Internet นั้นกำลังมาจึงทำให้ มองเห็นโอกาสจึงตั้งบริษัท Xiaomi ในปี 2010 โดยคำว่า MI ในภาษาอังกฤษนั้นย่อมาจาก Mobile Internet นั่นเอง (ส่วนภาษาจีนจะหมายถึงเมล็ดข้าวเล็กๆ)

ในช่วงแรกนั้นเริ่มจากการพัฒนา ROM ชื่อว่า MIUI สำหรับผู้ใช้สมาร์ตโฟนแอนดรอยด์ โดยปล่อยให้โหลดใช้งานได้ฟรี เน้นความสวยงามและเรียบง่าย หลังจากปล่อยออกมานั้นเรียกว่าได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดีทั่วโลก ทั้งในสเปน รัสเซีย จนไปถึงไทย

เมื่อมองไปในตลาดช่วงนั้นจะเห็นว่ามือถือที่สเปคแรงนั้นจะมีราคาค่อนข้างสูง ทาง Xiaomi จึงเกิดไอเดียว่าทำไมไม่พัฒนาสมาร์ตโฟนของตัวเอง เน้นสเปคสูงในราคาจับต้องได้ นั่นจึงทำให้ทาง Xiaomi  ติดต่อกับผู้ผลิตชิปอย่าง Qualcomm รวมถึงซัพพลายเออร์เพื่อชิ้นส่วนที่ดีที่สุดไม่ว่าจะเป็น LG หรือ Phillips จนเกิดเป็นสมาร์ตโฟน  MI One เปิดตัวครั้งแรกในปี 2011 ที่เรียกกว่าสเปกแรงแต่ขายในราคาแค่ 299 ดอลลาร์เท่านั้น เรียกว่าถูกว่าเรือธงของบริษัทอื่นที่จะตั้งราคาขายที่ 399 ดอลลาร์ หรือ 499 ดอลลาร์  เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่ทุกคนเข้าถึงในราคาที่จับต้องได้

อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาเข้าถึงได้คือการใช้ช่องทางออนไลน์ในการขายสินค้า ทำให้ต้นทุนถูกกว่า รวมถึงตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่หันมาซื้อของผ่านระบบ e-Commerce มากขึ้น หลังจากนั้นแค่ 3 ปีทำให้ Xiaomi กลายเป็นสมาร์ตโฟนที่ขายดีที่สุดในจีน

R&D

สิ่งที่ Xiaomi ให้ความสำคัญสุดๆคือ R&D เพราะเขาถือว่า นวัตกรรมเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆที่สร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การพัฒนาเซ็นเซอร์กล้องความละเอียด 108 ล้านพิกเซลเป็นรายแรก จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ Xiaomi นั้นจะขึ้นแท่นบริษัทในจีนที่ลงทุนในงบ R&D มากที่สุด แค่ปีที่แล้วจ่ายเงินไปมากถึง 10,000 ล้านหยวน แถมยังตั้งเป้าใน 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 50,000 ล้านหยวนโดยจะเน้นเรื่องของ AI และ 5G

ตอนนี้เขามีศูนย์  R&D กระจายอยู่  11 แห่งทั่วโลกซึ่งแต่ละที่จะเน้นงานวิจัยที่ต่างกัน ในจีนจะอยู่เมืองใหญ่อย่างเซิ่นเจิ้น เซี้ยงไฮ้ อู่ฮั่น  ส่วนฟินแลนด์และปารีสนั้นจะเน้นพัฒนาเทคโนโลยีกล้องและการถ่ายภาพ ส่วนสหรัฐจะเน้นการทำงานกับผู้ผลิตชิป Qualcomm และ Google อย่างใกล้ชิด

เขาบอกว่าเราจะได้เห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของ Xiaomi ออกใหม่ทุกเดือน เดือนละอย่างน้อยหนึ่งชิ้น แต่วัดจากความสามารถของเขาออกวันละชิ้นก็ยังได้นะ อีกหนึ่งในผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดมากๆคือเรื่องของการ QC ที่ผู้บริหารบอกว่ามี Defect น้อยมากๆ

แฟนคลับคือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ( MI Fan)

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การพัฒนาตลาดจากฐานแฟนคลับ โดยฟังเสียงเหล่าผู้ใช้ว่าต้องการอะไร จากนั้นก็พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ออกมา

ที่น่าสนใจก็คือ แฟน 100 คนแรกที่เป็นคนทดสอบ MIUI นั้นจะได้เป็นแฟนกลุ่มแรกที่ได้ทดสอบ MIUI เวอร์ชั่นใหม่ๆก่อนที่จะปล่อยออกสู่ตลาด นั่นคือการให้ความสำคัญกับแฟนๆที่ติดตามมาอย่างเหนียวแน่นตั้งแต่เริ่มแรก

นอกจากนั้นแอป Mi Community ที่รวมตัวผู้ใช้ MI จากทั่วโลกซึ่งตอนนี้มียอดผู้ใช้งานหลายล้านคนทั่วโลก ซึ่งทางทีมงานจะเข้ามาเก็บข้อมูล สำรวจความคิดเห็น คอยช่วยเหลือแก้ปัญหา รวมถึงหยิบเอาไอเดียที่น่าสนใจไปใส่ในผลิตภัณฑ์

AIoT มาแรง เติมเต็ม ecosystem

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของ Xiaomi  นั้นไม่ได้มีสินค้าที่เป็นสมาร์ตโฟนเท่านั้นแต่ยังขยายสายผลิตภัณฑ์ไปยังกลุ่มอื่นๆทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ซึ่งทางผู้บริหารบอกว่ารวมแล้ว Xiaomi นั้นมีผลิตภัณฑ์มากกว่า 2,000 หมวดหมู่เลยทีเดียว

กลุ่มที่ถือเป็นยุทธศาสตร์ คือผลิตภัณฑ์กลุ่ม AIoT ที่สามารถสั่งงานผ่านแอป กลายเป็น Ecosystem ขนาดใหญ่ โดยปัจจุบันมีคนเข้ามาใช้งานผ่านแอปเป็นประจำเดือนละ 200 ล้านคนทั่วโลก

เราจะได้เห็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่มีความฉลาดใส่เข้าไป ไม่ว่าจะเป็น เครื่องดูดฝุ่น ที่เอากล้องและ AI มาช่วยสร้างแผนที่สามมิติวางแผนเส้นทางทำความสะอาดได้ดีขึ้น, Mi TV ที่สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมการดูทีวี นำเสนอคอนเทนท์ที่เราชื่นชอบได้ รองรับการสั่งงานด้วเสียงภาษาไทยเต็มรูปแบบ เป็นต้น โดยทั้งหมดเชื่อมต่อการทำงานกับมือถือช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายขึ้น

ทิศทางในไทยปีนี้

ตลาด SEA นั้นถือเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญของ Xiaomi  รองจากยุโรปและละตินอเมริกา ซึ่งภารกิจในปีนี้คือการขึ้นแท่นอันดับหนึ่งสมาร์ตโฟน 5G ของ SEA โดยมี ไทยเป็นตลาดสำคัญ เนื่องจากมีความพร้อมเรื่องของเครือข่าย

เมื่อดูตัวเลขไตรมาสที่สามของปีที่แล้วไทยมียอดเติบโตสูงถึง 234% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ส่งผลให้ทาง Xiaomi เองตั้งเป้าเพิ่มงบลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง  เริ่มจากการขยายสาขาจาก 36 สาขาเป็น 100 สาขา เพิ่มศูนย์บริการหลังการขายจาก 12 แห่งเป็น 25 แห่งเพื่อให้บริการได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น  ต่อมาคือขยายจุดขายจาก 4,000 แห่งเป็น 8,000 แห่งทั่วประเทศ ด้านของงบการตลาดเองก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ให้มากขึ้น ในส่วนของบริการหลังการขายนั้นก็จะมีบริการจุดรับสินค้าและบริการรับส่งสินค้าถึงหน้าบ้าน

ในฝั่งของผลิตภัณฑ์เองก็วางแผนที่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เดือนละหนึ่งชิ้นซึ่งจะมีทั้งสมาร์ตโฟน อุปกรณ์สวมใส่ อุปกรณ์ AIoT เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นโดยมีสมาร์ตโฟนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งสินค้าไฮไลต์ในปีนี้ก็จะมี Mi TV และลำโพงอัจฉริยะที่สั่งงานด้วยเสียง

รุกมือถือ 5G

ในฝั่งของสมารต์โฟนเองก็จะมีทั้งรุ่นเรือธงสเปคแรงในราคาจับต้องได้อย่าง Mi 11 แล้วเราจะได้เห็นสมาร์ตโฟน 5G ในราคาจับต้องได้มากขึ้น โดยในปีนี้เราจะได้เห็นสมาร์ตโฟน 5G ในราคา 5,000 บาทในไทยแน่นอน

สำหรับใครที่อยากดูบทสัมภาษณ์แบบเต็มๆ สามารถติดตามคลิปสัมภาษณ์คุณคุณ K.M. Leong ที่จะตามมาในเร็วๆนี้ค่ะ