ลองจินตนาการถึงอนาคตที่ผู้คนใช้รถไฟฟ้ากันอย่างแพร่หลายและการแวะเข้าปั๊มบนทางหลวงระหว่างการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปหาดใหญ่ที่ไม่ต้องมีการรอเสียบปลั๊กชาร์จไฟร่วมชั่วโมง หากแต่เป็นการวิ่งเข้าไปที่จุดให้บริการเปลี่ยนสลับแบตเตอรี่ ซึ่งพอไปถึงคนขับก็บอกเด็กปั๊มว่า “เปลี่ยนหมดยกรางเลยน้อง” แล้วเจ้าพนักงานก็เปิดฝากระโปรงรถพร้อมยกเอาแผงแบตเตอรี่ที่ไฟหมดเกลี้ยงถังออกก่อนนำเอาแบตเตอรี่ชุดใหม่ที่ทางปั๊มได้ชาร์จไฟเต็มเตรียมรอเอาไว้แล้ว ปิดฝากระโปรงคนขับกดโทรศัพท์จ่ายเงินผ่านแอป “เป๋าตัง” ก็เป็นอันเสร็จสิ้นการเติมไฟเพิ่มระยะทางวิ่งที่ใช้เวลาไม่ต่างกับการเติมน้ำมันในปัจจุบัน

ถ้าวันนั้นมาถึงมันจะคงเปลี่ยนความคิดของผู้คนที่ว่ารถไฟฟ้านั้นวิ่งทางไกล วิ่งต่างจังหวัดไม่ได้ วิ่งกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ วันเดียวไม่มีทางถึง ต้องเสียเวลารอชาร์จไฟกว่าจะไปถึงอย่างน้อยก็สองชั่วโมง แถมค่าเปลี่ยนก็แพงเปลี่ยนแบตเตอรี่ทีไม่ต่างกับซื้อรถใหม่

และวันนี้แนวคิดการสลับแบตเตอรี่ยกแผงหรือ Battery SWAP สำหรับการเติมประจุไฟให้กับผู้ใช้รถได้อย่างรวดเร็วไม่ต่างจากการเติมน้ำมันกำลังเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง โดยเริ่มแล้วกับมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าซึ่งแบตเตอรี่มีขนาดเล็กกว่า

ปตท. กับการเปิดตัวสถานีสลับแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ในสถานีให้บริการน้ำมันของ OR

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ปตท. ได้เปิดตัว Swap & Go ซึ่งเป็นธุรกิจให้บริการสลับแบตเตอรี่แบบไม่ต้องรอชาร์จ โดยร่วมมือกับ OR ในการให้บริการดังกล่าวในสถานีให้บริการน้ำมันของ OR กว่า 22 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ภายในสิ้นปี โดยมีเป้าหมายเจาะตลาดกลุ่ม “ไรเดอร์” ซึ่งรับ-ส่งของเดลิเวอรี่ให้สามารถสลับแบตเตอรี่ได้ไว ไปได้เร็ว

Swap & Go มุ่งเน้นออกแบบกระบวนการใช้งานให้ง่าย สะดวกและทันสมัย ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Swap & Go ที่สามารถเชื่อมต่อกับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่รองรับการใช้งานเพื่อตรวจสอบปริมาณไฟคงเหลือในแบตเตอรี่  ค้นหาตำแหน่งสถานี จองแบตเตอรี่ใหม่ล่วงหน้าและมีระบบนำทางไปยังสถานีที่เมื่อไปถึงสถานีแล้วสามารถสแกน QR code เพื่อสลับแบตเตอรี่ลูกเก่าที่หมดกับแบตเตอรี่ใหม่ที่พร้อมใช้งานในตู้ชาร์จได้ด้วยตัวเองอย่างสะดวกและรวดเร็ว

สำหรับรถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าที่สามารถสลับแบตเตอรี่ได้กับ Swap & Go ในปัจจุบันนั้นจะเป็นของแบรนด์ Molinks รุ่น B-Swap ของค่าย Xiaomi นั่นเอง นำเข้าและจำหน่ายโดยบริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. โดยปัจจัยหลักที่จะดึงดูดความสนใจของเหล่าไรเดอร์หรือแม้แต่ผู้ใช้งานทั่วไปในอนาคตก็คือราคาของรถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าที่รองรับการเปลี่ยนแบตแบบนี้มีราคาถูกกว่ามอเตอร์ไซด์ใช้น้ำมันและราคาต้นทุนวิ่งต่อกิโลเมตรก็ถูกกว่ารถที่วิ่งด้วยน้ำมัน

ไอเดียการสลับแบตเตอรี่นี้อาจจะเพิ่งเริ่มมีในบ้านเรา แต่ก่อนหน้านี้ Gogoro บริษัท Startup ในไต้หวันผู้ผลิตมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าและให้บริการสลับแบตเตอรี่ก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม สามารถเบียดแย่งส่วนแบ่งตลาดมอเตอร์ไซด์ในไต้หวันได้ถึง 11% ในครึ่งปีแรกของปี 2019 และสามารถขยายโครงข่ายสถานีสลับแบตเตอรี่จนมีมากกว่า 1,000 สถานีทั่วไต้หวัน

ซึ่งเป็นการพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าแนวคิดนี้มันเวิร์ค แต่ก็ยังเป็นเพียงกับมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า

แล้วในอนาคต Battery SWAP จะถูกนำมาใช้กับรถยนต์ไฟฟ้า(EV) ได้หรือไม่?

แน่นอนว่าไอเดียการสลับแบตเตอรี่นี้จะมาช่วยให้รถไฟฟ้าสามารถเอาชนะข้อเสียเปรียบที่ถูกมองเป็นจุดด้อยของรถไฟฟ้ามาตลอดซึ่งก็คือการใช้เวลาประจุไฟฟ้าที่นานกว่าการเติมน้ำมันมาก แม้ว่าปัจจุบันจะมีเทคโนโลยี DC Charge ซึ่งทำให้ประจุไฟได้เร็วกว่าเดิมมาก แต่ก็ยังต้องมี 15-20 นาทีเป็นอย่างน้อยต่อการรอประจุไฟฟ้า รวมถึงสถานีประจุและตัวรถเองที่ต้องรองรับการชาร์จเร็วด้วย

ซึ่งไอเดียการให้บริการสลับแบตเตอรี่สำหรับรถไฟฟ้านี้เคยมีการทำมาแล้ว โดย Better Place บริษัท Startup ในอิสราเอลที่ให้บริการสถานีสลับแบตเตอรี่สำหรับรถ EV ของแบรนด์ Partner อย่างเช่น Renault ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล ให้บริการในช่วงปี 2007-2013 แต่ก็ไม่ได้ไปต่อ ตัวรถขายได้เพียง 500 คัน อาจด้วยเพราะเทคโนโลยีที่มาเร็วเกินไป ตลาดรถ EV ในโลกขณะนั้นยังไม่ทันได้ตั้งไข่เสียด้วยซ้ำ แล้วประเทศอิสราเอลเพียงประเทศเดียวตลาดนั้นเล็กเกินไปที่ธุรกิจมันจะอยู่รอดได้ด้วยตัวเอง

จะเห็นได้ว่าแนวคิดการสลับแบตเตอรี่นี้เกิดได้และดูจะไปได้สวยกับมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าเพราะราคาตัวรถที่แข่งขันได้เมื่อเทียบกับมอเตอร์ไซด์น้ำมัน และลูกค้าไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับราคาการเปลี่ยนแบตเตอรี่เพราะค่าใช้จ่ายเหล่านี้จะถูกเปลี่ยนรูปเป็นค่าบริการโครงข่ายสถานีสลับแบตเตอรี่ซึ่งเป็นการแชร์ค่าใช้จ่ายร่วมกันระหว่างลูกค้าและผู้ให้บริการ แบตเตอรี่จะเปรียบเสมือนเป็นเหมือนถังแก๊สหุงต้มที่เราใช้กันตามบ้านทำหน้าที่เป็นเพียงภาชนะเก็บเชื้อเพลิง คงไม่มีอีกแล้วประโยคที่ว่า “เปลี่ยนแบตเตอรี่ทีซื้อรถใหม่เลยดีกว่า”

แต่คำถามคือแล้วรถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าแบบเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้จะสามารถสลับแบตเตอรี่ร่วมกันกับแบรนด์อื่นได้หรือไม่?

Gogoro ประสบความสำเร็จได้เพราะสามารถขายได้มากพอและสถานีสลับแบตเตอรี่ที่มีเยอะกระจายไปทั่ว จนคนเริ่มนิยมและส่งผลต่อยอดขายรถมอเตอร์ไซด์น้ำมันที่มีอยู่เดิม แต่ถ้ามีผู้ผลิตมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้ารายใหม่เข้ามาในตลาดก็ต้องมาพร้อมกับโครงข่ายสถานีสลับแบตเตอรี่ของตัวเองด้วยหรือไม่?

แล้วถ้าผู้ผลิตรายใหม่ผลิตแบตเตอรี่ที่สามารถใช้กับสถานีสลับแบตเตอรี่ของ Gogoro ได้เลยละ มันก็น่าจะเป็นประโยชน์ร่วมทั้ง 2 ฝ่าย กลายเป็น Share Economy และสุดท้ายประโยชน์ก็เกิดกับลูกค้าด้วยเพราะต้นทุนที่ลดลงค่าบริการก็ถูกลงไปด้วย

ปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้ Battery SWAP เกิดขึ้นกับรถ EV ได้

ดังนั้นแล้วนอกจากราคาตัวรถไฟฟ้าเองที่ต้องแข่งขันได้กับรถใช้น้ำมัน มาตรฐานแบตเตอรี่ที่สามารถใช้ร่วมกันได้กับรถทุกแบรนด์ทุกรุ่นคือหัวใจของไอเดียนี้เลยก็ว่าได้ ซึ่งจีนดูจะเป็นชาติแรกที่เล็งเห็นถึงโอกาสนี้ จึงได้มีการพัฒนามาตราฐานของแบตเตอรี่ชนิดถอดเปลี่ยนได้เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของผู้ผลิตรถ EV และมีใช้แพร่หลาย

ปัจจุบันจีนมีรถ EV ในประเทศเกิน 1 ล้านคันแล้ว โดยมียอดขายในปี 2019 เติบโต 4.5% ส่วนแบ่งตลาดรถ EV คิดเป็น 4.7% ของตลาดรถในจีน และจีนเองยังมีสถานีให้บริการชาร์จไฟรถ EV กว่า 1 ล้านแห่งทั่วประเทศและกำลังสร้างใหม่ทุกเดือนเฉลี่ยเดือนละ 11,700 สถานี

และล่าสุดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาจีนก็ได้อนุมัติเปิดสถานีสลับแบตเตอรี่รถ EV โดยค่ายรถยนต์ในจีนอย่าง NIO และ BAIC นั้นก็พัฒนารถยนต์ของตัวเองให้รองรับการใช้งานกับสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่เรียบร้อยแล้ว ส่วนค่าย  Geely ก็พยายามเร่งพัฒนาตามให้ทันอยู่และอีกหลายแบรนด์ก็กำลังตามมา

ไม่ใช่แค่ในจีนอย่างในอเมริกาเองก็มี Ample บริษัท Startup ที่มีไอเดียในการนำเสนอการให้บริการสลับแบตเตอรี่ภายใน 10 นาทีให้กับลูกค้า ซึ่งทาง Ample นั้นกำลังร่วมมือกับผู้ผลิตรถอย่างน้อย 5 แบรนด์ในการพัฒนาแบตเตอรี่ที่สามารถใช้บริการได้กับสถานีสลับแบตเตอรี่ของ Ample

ถ้าหากว่าผู้ผลิตรถไฟฟ้าต่างก็เล็งเห็นว่าการพัฒนาแบตเตอรี่ชนิดถอดเปลี่ยนที่เป็นมาตรฐานเดียวกันจะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อทุกคนในตลาดไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ลูกค้าหรือแม้แต่ผู้ให้บริการสถานีสลับแบตเตอรี่ก็คงไม่ไกลเกินฝัน

ค่ายรถกับการตอบสนองต่อเทคโนโลยีการสลับแบตเตอรี่

แม้ว่าคอนเซปของ Battery SWAP ดูจะมีข้อดีทั้งเรื่องความรวดเร็วในการเติมระยะทางวิ่งให้กับรถ EV รวมถึงผู้ใช้รถไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแบตเตอรี่หรือต้องกังวลว่าแบตเตอรี่จะเสื่อมไวขึ้นเพราะชาร์จเร็วบ่อย

แต่ที่กล่าวมาข้างต้นอาจจะไม่ได้เป็นอนาคตอย่างที่จินตนาการไว้ เพราะค่ายรถผู้ผลิตรถไฟฟ้าในปัจจุบันอาจไม่คิดเช่นนั้น อย่าง Tesla ซึ่งเคยนำเสนอไอเดียการสลับแบตเตอรี่ใน Model S ในปี 2013 แต่สุดท้ายก็ทิ้งไอเดียนี้ไป หันมามุ่งเน้นไปที่การพัฒนารถไฟฟ้าของตนให้มีระยะทางวิ่งต่อการชาร์จที่เพิ่มมากขึ้นรวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีชาร์จเร็วจนได้มาเป็น Tesla Superchargers สถานีประจุไฟความเร็วสูง ซึ่งสามารถชาร์จจนได้ระยะทางวิ่ง 480 กิโลเมตรภายในเวลา 20 นาที แล้วใยจะต้องมีสถานีสลับแบตเตอรี่อีก?

รวมถึงยังมีเสียงวิพากษ์จากผู้เชี่ยวชาญในวงการที่ระบุว่าแนวคิดนี้เป็นการสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการสร้างโครงข่ายสถานีสลับแบตเตอรี่ที่ต้องจัดเก็บและดูแลแบตเตอรี่จำนวนมากซึ่งจะสร้าง Carbon Footprint สูงกว่าสถานีประจุไฟฟ้าแบบชาร์จเร็วที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน

และการพัฒนามาตรฐานของแบตเตอรี่ที่จะใช้งานร่วมกันระหว่างรถ EV ยี่ห้อต่าง ๆ ในปัจจุบันก็ยังมีจีนเพียงชาติเดียวที่ดูเอาจริงเอาจัง ซึ่งการที่ชาติตะวันตกหรือญี่ปุ่นจะมายอมใช้มาตราฐานของจีนนั้นคงจะเป็นไปได้ยาก ปัจจุบันยังคงมีเพียงค่ายรถจากจีนที่มีการสลับแบตเตอรี่กันได้และปัจจุบันไม่มีผู้ผลิตรถไฟฟ้าเจ้าไหนทั้งใหญ่-เล็ก นอกจากในจีนที่ออกมาพูดถึงหรือสนับสนุนไอเดียการสลับแบตเตอรี่

ยังไม่นับรวมถึงการที่จะให้ค่ายรถต่าง ๆ นั้นยอมใช้แบตเตอรี่เป็นมาตรฐานเดียวกันได้ เพราะปัจจุบันขนาดแค่ให้สามารถใช้เทคโนโลยีการชาร์จเป็นมาตราฐานเดียวกันยังทำได้ยาก และการจะเปลี่ยนให้ค่ายรถแต่ละเจ้าหันมาใช้มาตราฐานเดียวกันนั่นหมายถึงการที่แต่ละแบรนด์ต้องแชร์เทคโนโลยีที่ได้มีการลงทุนค้นคว้าวิจัยและพัฒนาไปมหาศาล ไม่นับรวมเงินลงทุนในโรงงานผลิตของตน

**********************************************************************************

ไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้ว Battery SWAP หรือการสลับแบตเตอรี่ทั้งลูกในรถ EV จะได้เกิดหรือไม่ หรือสถานีชาร์จเร็วจะมาแทนที่ แต่ลองคิดดูว่าถ้าอนาคตมีรถ EV Plugin ที่สามารถเสียบชาร์จไฟที่บ้านราคาถูกก็ได้ แถมวิ่งทางไกลก็ได้ไม่ต้องกลัวไฟหมดเพราะสามารถแวะปั๊มสลับแบตเตอรี่ในเวลาที่ไม่ต่างกับการเติมน้ำมันสมัยนี้ มันคงตัดสินใจไม่ยากเลยใช่ไหมครับว่ารถคันใหม่ของเราควรจะเป็นรถน้ำมันหรือรถ EV

**********************************************************************************

อ้างอิง

https://mlmnewsonline.com/?p=7830

https://www.blockdit.com/posts/5da6c75a3e3ac953d21688db

https://www.caranddriver.com/news/a35717014/ample-battery-swapping-station/

https://www.dailygizmo.tv/2021/05/12/ev-battery-swapping/

https://www.blockdit.com/posts/5e303022af091c1a8f8fc58a?id=5e303022af091c1a8f8fc58a&series=5e08b6256515121785114ca7

https://spectrum.ieee.org/cars-that-think/energy/batteries-storage/ev-battery-swapping-how-is-this-a-good-idea