ปัจจุบันเราสามารถชาร์จโทรศัพท์แบบไร้สายกันได้แล้ว แต่คำว่าไร้สายที่ว่านี้ก็ยังคงต้องวางโทรศัพท์ทิ้งไว้บนแทนชาร์จอยู่ดี ซึ่งก็ยังไม่สะดวกต่อการใช้งานทำให้สุดท้ายหลายคนก็ยังคงนิยมใช้สายเสียบชาร์จไฟระหว่างใช้โทรศัพท์กันอยู่ดี แต่ถ้าเราสามารถชาร์จไฟขณะที่เรานั่งเล่นโทรศัพท์ไปด้วยได้มันก็คงจะดีกว่ามากเลยทีเดียว
ลองนึกถึงภาพห้องนั่งเล่นที่อุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดไม่ว่าพัดลม ทีวี Notebook Tablet ที่ทำงานได้โดยไม่ต้องมีสายไฟต่อระโยงระยาง นั่นคงเป็นโลกในฝันของใครหลายคนเลยทีเดียว
แล้วรู้หรือไม่ว่าส่วนประกอบหลักอย่างหนึ่งที่จะกลายไปเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ก็คือสายไฟนั่นเองทั้งส่วนที่เป็นฉนวนหุ้มและสายไฟทองแดงด้วย เพราะฉะนั้นแล้วโลกไร้สายนั้นไม่ได้แค่เพิ่มความสะดวกสบายแต่ยังช่วยลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้กับโลกด้วย แล้วมันจะเป็นไปได้แค่ไหนกันกับโลกในฝันนี้
Mi Air Charger Technology
ซึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา Xiaomi ได้เปิดตัว Mi Air Charger Technology ระบบชาร์จไร้สายระยะไกลจาก Xiaomi ที่ไม่ต้องเอาเครื่องไปวางกับแท่นชาร์จหรือเสียบสายใดๆ ให้เกะกะอีกต่อไป ซึ่งสามารถชาร์จได้หลายอุปกรณ์พร้อมๆ กันชาร์จไปใช้ไปไม่มีสายเกะกะ และชาร์จพร้อมกับใช้มือถือระหว่างเดินไปเดินมาได้แม้จะมีสิ่งกีดขวางอยู่ก็ตาม
Mi Air Charger นั้นจะสามารถชาร์จอุปกรณ์ที่ลงทะเบียนไว้กับเครื่องเมื่อเข้ามาอยู่ในระยะการชาร์จ(ประมาณ 5 เมตร) ได้โดยอัตโนมัติโดยมีกำลังชาร์จได้ประมาณ 5 วัตต์ต่ออุปกรณ์ ซึ่งจุดเด่นของ Mi Air Charger คือระยะการชาร์จที่ถือได้ว่าไกลกว่าที่เคยมีการเปิดตัวมา โดยเทคโนโลยี
ซึ่งหลังจากที่ Xiaomi เปิดตัว Mi Air Charger ได้ไม่กี่วัน Motorola ก็ได้เปิดตัวเทคโนโลยีไร้สายระยะไกลที่จะใช้กับโทรศัพท์มือถือของ Motorola ในซีรี่ย์ Motorola Edge ซึ่งสามารถทำการชาร์จได้แม้โทรศัพท์จะอยู่ห่างถึง 1 เมตร
แม้ว่าระยะการชาร์จจะดูสั้นกว่าของ Xiaomi แต่ตัวอุปกรณ์ปล่อยสัญญาณนั้นมีขนาดเล็กกว่า โดยมีขนาดไม่ต่างจากแท่นชาร์จไร้สายที่มีใช้งานอยู่ในปัจจุบันทำให้สามารถเคลื่อนย้ายตัวแท่นชาร์จได้สะดวกกว่า
และก่อนหน้านั้นเมื่อปี 2017 ก็ได้มีบริษัท Startup ทั้ง WattUp Mid Field และ Motherbox ที่ทำการเปิดตัวเทคโนโลยีการชาร์จไร้สายที่สามารถชาร์จอุปกรณ์ได้โดยไม่ต้องวางอุปกรณ์บนแท่นชาร์จ แต่ระยะการชาร์จนั้นก็ยังได้ประมาณไม่เกินเมตร และยิ่งอยู่ห่างจากเครื่องชาร์จกำลังชาร์จก็จะลดลงตามระยะ
แล้วการชาร์จไร้สายแบบนี้มันจะมีอันตรายต่อสุขภาพหรือส่งผลกระทบต่อคนที่ใส่อุปกรณ์เสริมทางการแพทย์ในร่างกายหรือไม่?
สำหรับสัญญาณไร้สายในปัจจุบันนี้เราคงคุ้นชินกันแล้วทั้ง คลื่นโทรศัพท์ 5G การส่งสัญญาณ Wi Fi ในบ้าน ซึ่งคลื่นสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าเหล่านี้อาจส่งผลต่อสุขภาพเราได้ ดังนั้นอุปกรณ์ที่ส่งสัญญาณไร้สายเหล่านี้จึงต้องมีการพิจารณาและทดสอบความปลอดภัยในการใช้งานซึ่งปัจจุบันได้แก่ มาตรฐาน SAR (Specific Absorption Rate)
ซึ่งตามมาตรฐาน FCC นั้นกำหนด เอาไว้ไม่ให้เกิน 1.6 วัตต์ ต่อเนื้อเยื่อร่างกาย 1 กก. (โทรศัพท์ของเรานั้นส่งคลื่นออกมาประมาณ 1.1 วัตต์ ต่อเนื้อเยื่อ 1 กก.)
แต่สำหรับการชาร์จไฟเพื่อส่งพลังงานไปยังอุปกรณ์ไร้สายของเรานั้นการส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากำลังสูงนั้นอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้ใช้งานได้ ดังนั้นเรามาทำความรู้จักกับเทคโนโลยีการส่งพลังงานแบบไร้สายในปัจจุบันและที่กำลังพัฒนากันดีกว่า
1. การส่งพลังงานผ่านแสงอินฟราเรดหรือแสงเลเซอร์ ซึ่งเทคนิคนี้ใช้แสงอินฟราเรดเหมือนกับที่เราใช้อยู่ในรีโมททีวีนั่นเอง ซึ่งมีความปลอดภัยต่อการใช้งานอยู่แล้ว โดยมีมาตราฐานรองรับในปัจจุบัน เช่น UL (Underwriters Laboratories) หน่วยงานที่ไม่แสวงหาผลกำไรที่กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยในด้านต่างๆ
วิธีนี้มีระยะการส่งที่ไกลที่สุด แต่เทคนิคนี้ต้องมีการบีมลำแสงอินฟราเรดไปยังอุปกรณ์ที่ต้องการส่งพลังงานให้ซึ่งต้องล็อคลำแสงไปยังอุปกรณ์ตลอดเวลาที่ชาร์จ และต้องไม่มีสิ่งกีดขวางลำแสง
2. ส่งพลังงานผ่านคลื่นวิทยุ วิธีนี้มีข้อดีคือชาร์จอุปกรณ์หลายชิ้นพร้อมกันในเวลาเดียวกันได้ แต่อุปกรณ์ที่ใช้งานร่วมก็ต้องมีตัวรับสัญญาณเพื่อแปลงเป็นพลังงานกลับมาชาร์จแบตเตอรี่ในตัว
3. ส่งพลังงานผ่านคลื่นความถี่ย่าน 5G ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการชาร์จอุปกรณ์ไร้สายในรถยนต์ได้หรือแม้แต่การประจุไฟให้กับรถ EV ที่กำลังวิ่งอยู่บนท้องถนน แต่ก็ยังอยู่ในขั้นพัฒนา
แน่นอนว่าทั้ง 3 รูปแบบนี้ก็ต้องมีการตรวจสอบด้านความปลอดภัยอย่างเข้มข้น ซึ่งก็ต้องมีการทดสอบด้านสุขภาพและความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานรวมถึงต้องมีการทดสอบดูว่าคลื่นที่ใช้ในการส่งพลังงานนั้นจะไปรบกวนการทำงานของอุปกรณ์ทางการแพทย์หรือไม่ เทคโนโลยีเหล่านี้จึงได้รับรองมาตราฐานความปลอดภัยก่อนมาถึงมือเราให้ได้ใช้งานกัน
แล้วจะเป็นไปได้แค่ไหนกับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ในบ้าน
แม้ว่าการชาร์จอุปกรณ์สำหรับสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตแบบไร้สายนั้นกำลังจะเป็นความจริงและมีให้เราใช้งานได้อีกไม่นานแต่แน่นอนว่าก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องกำลังส่งไฟฟ้า สำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่น ๆ นั้นอาจจะยังคงต้องใช้เวลาในการพัฒนาอีกนานทั้งนี้เนื่องจากประเด็นเรื่องความปลอดภัยในการใช้งาน
เพราะอัตราการส่งกำลังไฟฟ้าที่สูงนั้นจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ รวมถึงการพัฒนาระยะการส่งพลังงานให้มีระยะที่ไกลเพียงพอต่อการใช้งานทั้งสำหรับอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านหรือในระดับที่สามารถชาร์จไฟให้กับรถไฟฟ้าบนท้องถนนได้ โลกไร้สายอย่างสมบูรณ์ที่เราวาดฝันอาจยังคงต้องรอกันต่อไป
อ้างอิง
https://droidsans.com/xiaomi-mi-air-charge-technology/
https://droidsans.com/motorola-new-technology-long-distance-wireless-charger/istance-wireless-charger/