นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Technical University of Munich ประเทศเยอรมัน ได้คิดค้นยาต้านไวรัสชนิดใหม่ที่อาจต่อสู้กับเชื้อโควิด-19 ได้ เนื่องจากยาต้านไวรัสในปัจจุบันใช้โมเลกุลของสารเคมีในการยับยั้งหรือทำลายไวรัส แต่ยาต้านไวรัสชนิดใหม่นี้ใช้สารพันธุกรรม DNA ที่ออกแบบพิเศษเป็นเสมือนกับดักในการล้อมจับอนุภาคไวรัสไว้และป้องกันไม่ให้มันเพิ่มจำนวนขึ้น โดยโครงสร้างของยานี้คล้ายการพับกระดาษ จึงได้ชื่อว่า “กับดักโอริงามิ”
นักวิทยาศาสตร์ที่คิดค้นงานวิจัยนี้ระบุว่า การรักษาโรคที่เกิดจากแบคทีเรียทำได้โดยใช้ยาปฏิชีวนะ แต่การรักษาการติดเชื้อไวรัสนั้นทำได้ยากกว่า เนื่องจากการสร้างยาต้านไวรัสจะมีความซับซ้อนมากกว่า และถึงแม้การติดเชื้อไวรัสบางชนิดสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน แต่การพัฒนาวัคซีนใหม่นั้นใช้เวลานานซึ่งอาจไม่ทันต่อการกลายพันธุ์ของไวรัส นั่นจึงจุดประกายไอเดียจนเกิด “กับดักโอริงามิ” ที่เกิดขึ้นการรวมตัวกันของ DNA เป็นรูปทรงสามเหลี่ยมหลายรูปประกอบทับกันจนคล้ายกับการพับกระดาษโอริงามิ แต่กับดักนี้จะยังมีช่องว่างเปิดไว้สำหรับจับเข้ากับไวรัสและป้องกันไม่ให้พวกมันเพิ่มจำนวน จากนั้นภูมิคุ้มกันของร่างกายจะตรงเข้ากำจัดไวรัสเหล่านั้น
นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองสร้างกับดักเพื่อจับไวรัสตับอักเสบบีซึ่งมันเข้าจับไวรัสตับอักเสบบีได้อย่างแน่นหนา พวกเขาเสริมว่าหากออกแบบภายใน “กับดักโอริงามิ” ให้มีสารภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อไวรัสชนิดนั้นก็จะเพิ่มความสามารถในการกำจัดไวรัสได้มากถึง 80%
นักวิทยาศาสตร์คาดว่านี่อาจจะกลายเป็นยาต้านไวรัสชนิดใหม่ ที่สามารถกำจัดไวรัสได้ทุกชนิดบนโลก โดยขั้นต่อไปพวกเขาจะทดลองในหนู เมื่อสำเร็จจึงจะพัฒนาให้พร้อมสำหรับการทดลองในมนุษย์ต่อไปในอนาคต นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าถ้าแนวคิดในการกำจัดไวรัสแบบนี้สามารถทำได้จริง มันจะถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวางและถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดการกับไวรัสที่เพิ่งเกิดใหม่เช่นเดียวกับไวรัสโควิด-19 ที่เราเจออยู่ทุกวันนี้