ความสำเร็จครั้งนี้จะปูทางเราไปสู่พลังงานสะอาดจากนิวเคลียร์ฟิวชั่นแบบเดียวที่มีอยู่บนดวงอาทิตย์และนำพามนุษยชาติสู่ยุคของการใช้พลังงานสะอาดที่ยั่งยืน โดยนิวเคลียร์ฟิวชั่นพลังงานสะอาดและยั่งยืนด้วยเชื้อเพลิงที่หาได้ง่ายมีอยู่ทั่วไปอย่างมากมายในธรรมชาติและไม่ทิ้งกากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ให้ต้องจัดการเหมือนอย่างนิวเคลียร์ฟิชชั่นที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

มนุษย์เราเฝ้าใฝ่ฝันมาเกือบศตวรรษและวันนี้เราก็เข้าใกล้ความจริงเข้าไปทุกทีโดยล่าสุดเตาปฏิกรณ์ KSTAR ของสถาบันพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชั่นแห่งเกาหลี (The Korea Institute of Fusion Energy) ประสบความสำเร็จในการเดินเครื่องเพื่อสร้างพลาสม่าร้อนอุณหภูมิ 100 ล้านองศาเซลเซียสเป็นเวลานานกว่า 30 วินาที ร้อนกว่าอุณหภูมิแกนกลางของดวงอาทิตย์ถึง 6.4 เท่า (อุณหภูมิแกนกลางของดวงอาทิตย์อยู่ที่ประมาณ 15.6 ล้านองศาเซลเซียส)

การเดินเครื่องสร้างพลาสม่าร้อน 100 ล้านองศาและรักษาสภาพไว้ได้เป็นเวลานานกว่า 30 วินาทีนี้เป็นการทำลายสถิติเดิมที่ทำไว้ที่ 20 วินาทีเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

ซึ่งสำหรับสถิติโลกในการสร้างพลาสม่าร้อนอุณหภูมิสูงสุดนั้นปัจจุบันเป็นของเตา EAST (The Experimental Advanced Superconducting Tokamak) ของจีนที่ทำไว้สูงถึงกว่า 160 ล้านองศาเซลเซียสเป็นเวลา 20 วินาที และ 120 ล้านองศาเซลเซียสเป็นเวลา 101 วินาที

สำหรับ KSTAR หรือ Korea Superconducting Tokamak Advanced Research นี้เป็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชั่นชนิดที่เรียกว่า Tokamak ซึ่งส่วนที่สร้างและกักเก็บพลาสม่าร้อนนี้จะเป็นรูปทรงโดนัทจึงเป็นที่มาของชื่อ Tokamak (Tokamak ในภาษารัสเซียแปลว่าโดนัท) ซึ่งเป็นรูปแบบเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ฟิวชั่นส่วนใหญ่ที่กำลังมุ่งพัฒนากันอยู่ในปัจจุบันรวมถึงเตา EAST ของจีน

สำหรับเป้าหมายต่อไปนั้นก็คือการปรับปรุงระบบระบายความร้อนของเตา KSTAR และทำการทดลองสร้างพลาสม่าและรักษาสภาพเอาได้ให้ได้นาน 300 วินาทีโดยตั้งเป้าทำให้ได้ภายในปี 2026

จากความก้าวหน้าในการพัฒนานิวเคลียร์ฟิวชั่นในปัจจุบันนั้นเริ่มทำให้เห็นเค้าลางว่าเราอาจจะมีหวังได้ใช้พลังงานสะอาดที่แสนจะยั่งยืนนี้ได้ภายในปี 2050 หรืออย่างช้าก็ภายในปี 2060

*******************************************************************************************************************************

https://interestingengineering.com/a-korean-artificial-sun-reactor-broke-a-nuclear-fusion-record

https://newatlas.com/energy/kstar-fusion-reactor-record-30-second-plasma/