YouTube เป็นคอมมิวนิตี้ที่เติบโตอย่างมั่นคงด้วยระบบนิเวศที่แข็งแกร่ง มีคุณสมบัติที่โดดเด่นในการเป็นพื้นที่สำหรับผู้สร้างคอนเทนต์ที่ต้องการสร้างผลงานที่สรรค์สร้างได้โดยไม่มีข้อจำกัด ด้วยรูปแบบที่หลากหลาย เช่น วิดีโอรูปแบบ “Shorts” วิดีโอสั้นที่มีความยาวไม่เกิน 60 วินาที นอกจากนี้ยังมีวิดีโอทั่วไปที่มีความยาวมากกว่านี้และการสตรีมสด อีกทั้งยังสร้างรายได้ให้กับครีเอเตอร์ผ่านโปรแกรมพาร์ทเนอร์ของ YouTube อีกด้วย
ในระยะเวลา 9 ปีที่ผ่านมาของ YouTube ในประเทศไทย ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงฟีเจอร์ต่าง ๆ พร้อมทั้งให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์เพื่อส่งเสริมให้ครีเอเตอร์สามารถสร้างเนื้อหาที่สรรค์สร้างได้ดีขึ้นอย่างอิสระ และให้ผู้ชมทั่วโลกเข้าถึงเนื้อหาที่มีคุณภาพได้อย่างง่ายดาย อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกันยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับ YouTube ในด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อสงสัยที่พบบ่อย วันนี้ YouTube จึงมาไขคำถามเหล่านี้เพื่อช่วยในการสร้างเนื้อหาที่ตอบโจทย์ผู้ชมอย่างเหมาะสมและมีคุณภาพ
1. วิดีโอยาวและวิดีโอ Shorts ที่ไม่สร้างรายได้นั้นจะทำให้ระบบไม่แสดงหรือแนะนำวิดีโอนั้นให้คนดูได้
เห็นจริงหรือไม่?
ไม่จริง เพราะระบบการค้นหา (Search) และการแนะนำ(Recommendation) ของ YouTube ไม่สามารถมองเห็นสถานะการสร้างรายได้ของ Shorts แต่จะมุ่งเน้นไปที่คอนเทนต์ Shorts ที่คนดูต้องการชม โดยไม่สนใจว่าการสร้างรายได้ของ Shorts นั้นจะเป็นอย่างไร และรวมทั้งวิดีโอยาวก็เช่นเดียวกัน
2. วิดีโอ Shorts ที่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะมีคนดูน้อยนั้นจะส่งผลให้คนดูวิดีโอแบบยาวน้อยตามไป
ด้วยจริงหรือไม่?
ไม่จริง เพราะที่จริงแล้วผลของ Shorts จะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นไม่ส่งผลกระทบในทางลบกับระบบการแนะนำวิดีโอแบบยาวเลย และในทางกลับกัน Shorts ที่มีคนดูไม่มากนัก ก็อาจจะกลายเป็นช่องทางเลือกให้ผู้ชมใหม่ๆ ค้นพบช่องคุณ รวมทั้งวิดีโอแบบยาวที่โชว์อยู่บนช่องคุณอยู่แล้วก็ได้
3. วิดีโอ Shorts ที่ไม่มีปก (Thumbnail) จะทำให้คนดูไม่กดเข้าไปชม และจะทำให้อัตราการคลิกต่อการ
มองเห็น (CTR: Click through rate) น้อย จริงหรือไม่?
ไม่จริง เพราะต้องมองว่ายอดวิวส่วนใหญ่ของ Shorts มาจาก Shorts Feed ที่ไหลไปเรื่อยๆ ซึ่งปกติ Thumbnail และอัตราการคลิกต่อการมองเห็น (CTR: Click through rate) นั้นไม่ได้ส่งผลเกี่ยวข้องเลย
ข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อวิดีโอหรือช่องที่อัปโหลด
วิดีโอ Shorts ต่างหากที่เป็นตัวแปรสำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน คุณสามารถเลือก Thumbnail ของ Shorts ได้แล้วทั้งบน iOS และ Android
4. ต้องอัปโหลดวิดีโอครั้งต่อสัปดาห์ถึงจะประสบความสำเร็จ
การที่ช่องจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกำหนดจำนวนครั้งต่อสัปดาห์ในการอัปโหลด แต่ควรให้ความสำคัญกับความสม่ำเสมอ ด้วยการลองทำตารางการผลิตและอัปโหลดวิดีโอที่เหมาะสมกับตัวเอง และสิ่งหนึ่งที่ควรระวังคือการอัปโหลดวิดีโอที่มากเกินไปอาจกระทบต่อคุณภาพของผลงาน ที่อาจจะส่งผลเสียต่อช่องมากกว่าที่จะช่วยช่องให้เติบโต เพราะการที่โหลดวิดีโอที่มีคุณภาพได้อย่างสม่ำเสมอจะช่วยให้คนดูและแฟนๆ รู้สึกผูกพันและจะคอยติดตามผลงานและมีปฏิสัมพันธ์กับวิดีโอของคุณ
นอกจากนี้ หากคุณสามารถจัดตารางเวลาการอัปโหลดที่เหมาะสมได้แล้ว คุณยังสามารถแจ้งคนดูเพิ่มเติมผ่านทาง Channal Banner หรือหน้าปกช่องได้ด้วยเช่นกัน
5. ในกรณีที่คนดูแจ้งว่าไม่เห็นมีการแจ้งเตือนหลังจากที่มีการอัปโหลดวิดีโอใหม่ เป็นเพราะว่า YouTube
เข้าไปแก้ไขในระบบหลังบ้าน จริงหรือไม่?
ไม่จริง ในระบบของ YouTube มีวิธีการตั้งค่าการแจ้งเตือนอยู่ 3 แบบ ได้แก่ แบบที่ปรับตามพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้แต่ละคน ซึ่งเป็นค่าเริ่มต้น แบบไม่เตือนเลย และแบบเตือนทั้งหมด
หมายถึงหากช่องของคุณเลือกวิธีการตั้งค่าแบบแรก คนดูจะได้รับการแจ้งเตือนสำหรับการอัปโหลดวิดีโอยาว Shorts และการสตรีมแบบสด บางรายการจากช่องคุณ โดยอิงจากพฤติกรรมที่ผ่านมาของคนดูที่ประกอบไปด้วยประวัติและความถี่การเข้าชมวิดีโอจากช่องคุณ
และหากตั้งค่าแบบที่ 3 คนดูจะได้รับการแจ้งเตือนเวลามีการอัปโหลดวิดีโอแบบยาว หรือการสตรีมแบบสดทั้งหมด รวมทั้งคนดูยังจะได้รับการเตือนเพื่อรับชม Shorts โดยอ้างอิงจากพฤติกรรมการติดตาม และประวัติการชมของพวกเขาอีกด้วย
6. ได้ยินมาว่า YouTube มีการลบผู้ติดตามออกจากช่องด้วยจริงหรือไม่? เพราะบางครั้งอยู่ดีๆ ยอดผู้
ติดตามก็ลดลงเป็นจำนวนมาก
ไม่จริง เพราะระบบหลังบ้านของ YouTube ไม่สามารถไปกดลบยอดผู้ติดตามออกจากช่องต่างๆ แต่ในกรณีของช่องที่ถูกสร้างมาเพื่อสแปม ใช้ปั้มยอดวิว ปั้มยอดผู้ติดตาม รวมทั้งช่องต่างๆ ที่ทำผิดกฎของ YouTube หรือ Google แล้ว หากถูกปิดตัวลงจะไม่รวมเข้ามาในยอดวิวหรือยอดผู้ติดตามช่อง
ในกรณีที่ยอดผู้ติดตามหายไปเป็นจำนวนมากในวันเดียว อาจจะเกิดขึ้นจากการที่ช่องเหล่านั้นถูกปิดตัวลงเพราะว่าเป็นสแปม และหากว่าช่องนั้นมีช่องที่เป็นสแปมมาติดตามไว้แล้วถูกปิดหลายๆ ช่องในวันเดียวกัน ก็จะทำให้เกิดตัวเลขยอดผู้ติดตามติดลบเป็นจำนวนมากในวันเดียว
7. ครีเอเตอร์ช่องใหญ่ๆ และช่องที่มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมากมักจะประสบความสำเร็จในการหารายได้
จากช่องทางอื่นๆ เช่น Fan Funding จริงหรือไม่?
ไม่จริง เพราะช่องที่ประสบความสำเร็จ ไม่จำเป็นว่าจะต้องมียอดผู้ติดตามเป็นจำนวนมากเสมอไป เพราะแต่ละช่องสามารถสร้างรายได้จาก Super Chat และ Super Stickers ได้ จะเห็นได้จากช่องจำนวนมากที่ทำคอนเทนต์แล้วให้คนดูมีส่วนร่วมกับวิดีโอของพวกเขาตอนทำสตรีมแบบสด ซึ่งได้ยอด Supers เป็นจำนวนมากถึงเป็นหลักแสนจนถึงหลักล้านบาทเลยที่เดียว
นอกจากนี้ การที่ช่องมียอดผู้ติดตามเป็นจำนวนมากก็จะช่วยให้ยอด Supers มากขึ้นตามธรรมชาติ แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป เพราะสิ่งสำคัญคือการสร้างคอนเทนต์ที่สามารถให้คนดูมีส่วนร่วมได้เป็นอย่างดีซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จแล้ว
8. สำหรับคอนเทนต์ที่ต้องการใช้เพลงประกอบ หากเป็นเพลงที่มีลิขสิทธิ์จะสามารถนำมาตัดใช้ในความ
ยาวไม่เกิน 7 วินาที อย่างเช่นท่อนฮุค จริงหรือไม่? แล้วเพลงอะไรที่ใช้ในวิดีโอได้บ้าง?
ไม่จริง เพราะหากไม่มีการขอสิทธิ์จากเจ้าของลิขสิทธิ์ของเพลงนั้นๆ ช่องไม่สามารถใช้เพลงนั้นได้ โดยทางเจ้าของลิขสิทธิ์จะสามารถยื่นฟ้องทางกฎหมายกับ YouTube เพื่อนำวิดีโอนั้นลงจากแพลตฟอร์มและถ้าช่องคุณโดนเแจ้งเกิน 3 ครั้ง ใน 90 วัน ช่องอาจจะถูกปิดตัวลงได้เลย รวมทั้งหากคุณไปถ่ายทำวิดีโอตามสถานที่ต่างๆ แล้วบังเอิญสถานที่นั้นได้เปิดเพลง หรือแม้กระทั่งมี Sound Effect บางอย่างของเพลงนั้นเข้ามาอยู่ในวิดีโอของคุณก็ถือว่าไม่ได้
ส่วนเพลงที่สามารถนำมาใช้ได้ก็คือเพลงที่อยู่ใน Library ของ YouTube เท่านั้น เพราะมีการอนุญาตด้านลิขสิทธิ์เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น คุณต้องมั่นใจว่าคุณมีสิทธิ์ทั้งหมดในตัววิดีโอของคุณก่อนที่จะอัปโหลดทุกครั้ง
9. จะทำอย่างไรเพื่อให้คนเห็นวิดีโอของคุณเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น ต้องทำอย่างไรถ้าอยู่ต่างประเทศแล้ว
ต้องการให้มีผู้ชมคนไทยเข้ามาดูมากขึ้น
อัลกอริทึมของ YouTube ติดตามคนดู หากคนดูคอนเทนต์ในประเทศไทยมีจำนวนมาก ก็จะส่งผลให้วิดีโอนั้นถูกแนะนำให้คนดูในประเทศไทยเข้ามาชมมากขึ้น
สถานที่ตั้งของช่องไม่ได้ถูกใช้งานในอัลกอริทึมของ YouTube ดังนั้น หากต้องการให้คนดูประเทศไหนดูวิดีโอของคุณเพิ่มขึ้น ก็ต้องให้คนที่อยู่ในประเทศนั้นดูมากขึ้นเช่นกัน
10. ปัจจุบัน YouTube มีคำแนะนำให้ครีเอเตอร์สามารถเรทวิดีโอตัวเอง (Self-certification) เพื่อ
ช่วยในการตัดสินใจของระบบ และเคยได้ยินมาว่าหากครีเอเตอร์เรทวิดีโอไหนเป็น limited ads หรือไอคอนสีเหลือง ระบบจะไม่แสดงวิดีโอนั้นใน search & discovery ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ครีเอเตอร์ไม่อยากทำ เพราะต้องการให้คนดูเห็นวิดีโอเยอะๆ แบบนี้ครีเอเตอร์ต้องทำอย่างไร
Self-certification คือการรับรองหรือเรทตัววิดีโอว่าควรที่จะได้ไอคอนการสร้างรายได้สีอะไร เหมาะกับโฆษณาทั้งหมดหรือแค่บางประเภทเท่านั้น โดย YouTube จะใช้ระบบแมชชีนเลินนิ่งและเจ้าหน้าที่คอยตรวจสอบวิดีโอว่าเหมาะกับไอคอนสีอะไร ถ้าครีเอเตอร์เรทวิดีโอได้ถูกต้องเป็นประจำ ระบบจะเชื่อข้อมูลที่ครีเอเตอร์กรอกมากกว่าการตัดสินใจของระบบ เช่น ถ้าช่องเรทวิดีโอเป็นไอคอนเขียว ระบบเรทเหลือง วิดีโอจะได้รับไอคอนเขียว เคล็ดลับคือให้เรทแบบไม่เข้าข้างตัวเองจะดีที่สุด
ถ้าคุณเรทวิดีโอว่าเป็น Limited Ads หรือไอคอนสีเหลือง แล้วระบบจะทำให้วิดีโอคุณแสดงให้คนดูน้อยลงหรือไม่ คำตอบคือไม่ เพราะว่าไม่เกี่ยวกัน ไม่ว่าจะสีเขียวหรือเหลืองก็แสดงให้เห็นเท่ากัน
แต่บางวิดีโอที่ได้รับ Age-restricted เพราะว่ามีคอนเทนต์สำหรับผู้ใหญ่ และได้รับไอคอนสีเหลือง แบบนี้จะทำให้คนดูเห็นน้อยลง เพราะคนดูอายุต่ำกว่า 18 จะไม่สามารถเห็นได้
11. การที่ช่องได้รับการเตือน Copyright Strike หรือ Community Guideline การกดลบวิดีโอนั้นทิ้ง
ไปจะช่วยให้ช่องนั้นพ้นความผิดหรือไม่
ครีเอเตอร์จะมีตัวเลือกในการเข้าร่วมหลักสูตรการฝึกอบรมที่ให้ความรู้ต่างๆ เมื่อได้รับคำเตือนเรื่องการละเมิดหลักเกณฑ์ของชุมชน แหล่งข้อมูลเหล่านี้เป็นวิธีใหม่ที่ช่วยให้ครีเอเตอร์เข้าใจวิธีหลีกเลี่ยงการอัปโหลดเนื้อหาที่ละเมิดนโยบายในอนาคต เมื่อครีเอเตอร์ผ่านหลักสูตร เราจะนำคำเตือนออกจากช่องหากครีเอเตอร์ไม่ละเมิดนโยบายเดียวกันในระยะเวลา 90 วัน
สำหรับครีเอเตอร์ที่มีคำถามหรือต้องการติดต่อกับศูนย์ช่วยเหลือของ YouTube สามารถติดต่อผ่านที่ลิงก์นี้ https://support.google.com/youtube โดยสามารถเลือกภาษาที่ต้องการติดต่อได้ที่ด้านล่างซ้ายมือของหน้าจอ และพิมพ์สิ่งที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ หรือสามารถเลือกได้จากหัวข้อที่อยู่ถัดไปด้านล่าง
YouTube ยังคงเดินหน้าสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ครีเอเตอร์ทุกคนได้แสดงแนวคิดที่สร้างสรรค์ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อให้ครีเอเตอร์ได้ผลิตคอนเทนต์ที่เชื่อมต่อกับผู้ติดตามและแฟนๆ ได้อย่างมีอิสระ ตั้งแต่เนื้อหาที่ให้ความบันเทิง สาระ ไปจนถึงที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคน เพราะ YouTube จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อครีเอเตอร์ประสบความสำเร็จเท่านั้น