Meta ขยายความร่วมมือโครงการ Take It Down ช่วยยับยั้งการเผยแพร่รูปโป๊เปลือยเยาวชนผ่านแพลตฟอร์ม Facebook และ Instagram
ปัจจุบันคดีเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัฐ ทาง กลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (TICAC) เปิดเผยว่า ในปี 2565 นั้นมีคดีขู่กรรโชกทางเพศที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน 243 คดี ส่วนปี 2566 เพิ่มเป็น 372 คดี ปัจัยสำคัญคือเด็กและเยาวชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น แต่ผู้ปกครองและโรงเรียนไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง การหลอกลวงที่มิจฉาชีพใช้คือ ให้เงิน/ให้ไอเท็มในเกม – หลอกเชิญเป็นดารา – ท้าแก้ผ้าและหลอกให้เปิดกล้อง เพื่อหลอกให้เด็กและเยาวชนถอดเสื้อผ้า จากนั้นเก็บภาพหรือวิดีโอเอาไว้แสวงหาประโยชน์ภายหลัง เนื่องจากกฎหมายยังไม่อัปเดตเท่าทันเทคโนโลยีจึงทำให้จับตัวคนทำผิดในบางเคสทำได้ยาก

เพื่อช่วยปกป้องเด็กและเยาวชนจึงเกิดเป็นแพลตฟอร์ม Take It Down ที่ช่วยลบรูปภาพและวิดีโอส่วนตัวที่โป๊เปลือยของเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ออกจากโลกออนไลน์เพื่อไม่ให้ถูกเผยแพร่ในวงกว้าง จนเกิดผลกระทบต่อคนที่อยู่ในรูป
ทำความรู้จัก Take It Down
Take It Down เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาโดยศูนย์เพื่อเด็กหายและถูกฉวยผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NCMEC) ซึ่งทาง Meta ก็เป็นผู้สนับสนุนหลักตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถข้าถึงการควบคุมและยับยั้งการเผยแพร่รูปภาพส่วนตัวของตนเองบนโลกออนไลน์ได้ ซึ่งอาจจะเป็นภาพเปลือยบางส่วน หรือภาพอนาจารสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีหรือต่ำกว่า Take It Down เปิดให้ใช้งานใน25 ภาษาทั่วโลก มีการอัปเดตให้รองรับภาษาไทยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
ทาง Meta ประเทศไทยได้ขยายความร่วมมือโครงการ Take It Down กับกลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (TICAC) และโครงการฮักประเทศไทย เพื่อช่วยปกป้องผู้ใช้บนแพลตฟอร์ม

วิธีการใช้งานบริการ Take It Down
Take It Down เปิดให้ใช้งานฟรีผ่านหน้าเว็บ โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตนหรือกรอกข้อมูลส่วนตัวใดๆ เพียงแค่อัปโหลดรูปภาพหรือคลิปวิดีโอเข้าไป ระบบจะสร้างค่า Hash ที่เปรียบเหมือนลายนิ้วมือดิจิทัลให้กับรูปภาพหรือวิดีโอภาพเปลือย จากนั้นส่งไปยังฐานข้อมูลของ NCMEC ในกรณีที่มีการอัปโหลดรูปภาพหรือวิดีโอที่มีค่าแฮชตรงกันบนแพลตฟอร์มพันธมิตรอย่าง Facebook หรือ Instgram ระบบก็จะทำการลบเนื้อหานั้นทันที พร้อมเก็บข้อมูลเอาไว้ เพื่อส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีต่อไป
ไม่ว่าจะเป็นเด็กๆ, ผู้ปกครอง หรือผู้มหญ่ที่กลัวว่าภาพของตนเองที่ถูกถ่ายไว้ก่อนอายุ 18 ปีถูกเผยแพร่ หรืออาจถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์ก็สามารถเข้ามาใช้งานได้
คุณมาลีนา เอนลุนด์ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายความปลอดภัยประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความมุ่งมั่นและการดำเนินงานของบริษัทในการต่อสู้กับอาชญากรรมในรูปแบบการขู่กรรโชกทางเพศ (Sextortion) โดยกล่าวว่า “สำหรับผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน การถูกนำภาพส่วนตัวไปเผยแพร่เป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก โดยเฉพาะสำหรับเด็กและเยาวชน และสถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายกว่าเดิม หากมีใครก็ตามข่มขู่ว่าจะนำภาพส่วนตัวของพวกเขาไปเผยแพร่ หากเหยื่อปฏิเสธที่จะแชร์รูปภาพโป๊เปลือยเพิ่ม หรือมีกิจกรรมทางเพศด้วย หรือแม้แต่การส่งเงินให้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบอาชญากรรมที่เรียกว่าการขู่กรรโชกทางเพศ ด้วยความมุ่งมั่นในการรักษาความปลอดภัยและปกป้องความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ใช้งานของเรา Meta ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับหลากหลายองค์กรและครีเอเตอร์ทั่วโลก เพื่อช่วยให้วัยรุ่นสามารถเข้าถึงการควบคุมรูปภาพส่วนตัวของตนเองได้อีกครั้ง และยับยั้งไม่ให้บุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นมิจฉาชีพที่เป็นอดีตคนรัก หรือใครก็ตาม ในการเผยแพร่รูปภาพส่วนตัวดังกล่าวบนโลกออนไลน์ การขยายบริการ Take It Down ในประเทศไทยในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในเส้นทางการดำเนินงานที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องของเราในการดูแลความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับเยาวชนทั่วโลก”

AI ช่วยตรวจสอบ
นอกจากTake It Down แล้ว ทาง Meta ยังนำ AI มาช่วยสอดส่องเนื้อหาที่ละเมิดต่อเด็กและเยาวชน โดยในช่วงตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา แพลตฟอร์มได้มีการนำเนื้อหาที่ละเมิดกฎและเกี่ยวข้องกับการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศกับเด็กทั่วไปแล้วกว่า 16 ล้านเนื้อหาบน Facebook และกว่า 2.1 ล้านเนื้อหาบน Instagram “จากเนื้อหาที่มีการละเมิดกฎเหล่านี้ที่เกี่ยวข้องกับภาพโป๊เปลือยเด็ก มากกว่า 98% เราได้นำเนื้อหาลงก่อนที่จะมีการรายงานเข้ามา
แหล่งข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการป้องกันการขู่กรรโชกทางเพศ (Sextortion) สำหรับเยาวชนผู้ปกครองและครู
ถึงแม้ว่าจะมีเครื่องมืออย่าง Take It Down การตกเป็นเหยื่อในอาชญากรรมลักษณะนี้เป็นเรื่องที่สร้างความไม่สบายใจ และทำให้ผู้คนที่ประสบปัญหาต้องรู้สึกเหมือนกำลังเผชิญปัญหาดังกล่าวอย่างโดดเดี่ยว โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อาจรู้สึกกลัวและอับอายจนไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ดังนั้น Meta จึงได้ร่วมมือกับ Thorn องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีภารกิจในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยคุกคามทางเพศ รวมถึงพัฒนาแนวทางล่าสุดเกี่ยวกับการจัดการกับเหตุการณ์ขู่กรรโชกทางเพศสำหรับเยาวชน ซึ่งประกอบด้วยคำแนะนำในการให้ความช่วยเหลือบุตรหลานหรือนักเรียนหากพวกเขาประสบกับปัญหาเหล่านี้ โดยแหล่งข้อมูลใหม่ดังกล่าวได้ให้บริการอยู่ในแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับการขู่กรรโชกทางเพศ ภายในศูนย์การรักษาความปลอดภัยของ Meta ซึ่งให้บริการในมากกว่า 50 ภาษา รวมถึงภาษาไทย
การให้บริการบนแอปในเครือของ Meta เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากการขู่กรรโชกทางเพศ
การประกาศเปิดตัวโครงการในวันนี้ ต่อยอดมาจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของ Meta เพื่อสื่อสารกับเด็กและเยาวชนถึงขั้นตอนการจัดการเมื่อรูปภาพส่วนตัวของพวกเขาถูกแชร์ หรือโดนขู่ว่าจะแชร์ นอกจากนี้ Meta ยังได้เปิดใช้คำเตือนด้านความปลอดภัย (Safety Notices) บน Instagram ซึ่งจะปรากฏขึ้นเมื่อผู้ใช้งานส่งข้อความหาบุคคลที่เคยแสดงพฤติกรรมเข้าข่ายหลอกลวงหรือน่าสงสัยในอดีต คำเตือนด้านความปลอดภัยเหล่านี้จะกระตุ้นให้ผู้ใช้งานมีความระมัดระวัง โดยส่งเสริมให้พวกเขารายงานบัญชีผู้ใช้งานที่ขู่จะแชร์รูปภาพส่วนตัว และเตือนให้พึงระลึกเสมอว่าทุกคนมีสิทธิปฏิเสธต่อสิ่งใดก็ตามที่ทำให้ไม่สบายใจ นอกจากนี้ เยาวชนจะเข้าถึงแพลตฟอร์ม Take It Down ได้ในทันทีเมื่ออยู่ในเหตุการณ์ที่เข้าข่ายในขณะที่กำลังใช้งาน Facebook และ Instagram เช่น เมื่อพวกเขาได้รายงานว่ามีคนกำลังแชร์รูปภาพส่วนตัวที่เป็นภาพเปลือย ภาพเปลือยบางส่วน และภาพอนาจาร ในการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ
นอกจากนี้ Meta ยังดำเนินงานเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากการติดต่อที่ไม่พึงประสงค์ตั้งแต่แรก โดยกำหนดให้บัญชี Instagram ของบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีในประเทศไทยเป็นบัญชีส่วนตัวเมื่อพวกเขาสมัครบัญชีใหม่ ซึ่งจะจำกัดผู้ที่สามารถรับชมโพสต์ ผู้ติดตาม และผู้คนที่พวกเขากำลังติดตาม นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดข้อจำกัดสำหรับผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 19 ปี ไม่ให้สามารถส่งข้อความไปยังผู้เยาว์ที่ไม่ได้ติดตามพวกเขา ในเดือนที่ผ่านมา Meta ยังได้ประกาศการตั้งค่าเริ่มต้นที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีไม่ได้รับข้อความจากบุคคลที่พวกเขาไม่ได้ติดตาม หรือบุคคลที่พวกเขาไม่ได้เชื่อมต่อด้วยอยู่แล้ว เพื่อขยายขอบเขตการป้องกันเด็กและเยาวชนจากผู้ประสงค์ร้าย