“สัตยา นาเดลลา” ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ ไมโครซอฟท์เยือนไทย พร้อมขึ้นเปิดงาน  Microsoft Build: AI Day ประกาศขับเคลื่อน AI และ Cloud ในไทยด้วยการตั้ง Data Center แห่งแรก พร้อมเสริมทักษะดิจิทัลให้คนไทยกว่า 100,000 คน

การมาเยือนไทยใสนครั้งนี้นอกจากจะมาพบปะกับนักพัฒนาแล้ว ยังสานต่อความร่อมมือกับรัฐบาลไทย หลังจากที่เซ็น MOU ไปก่อนหน้านี้

นาเดลลามองว่า “เทคโนโลยี AI เป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้ง โดยจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างแรงกระเพื่อมให้สังคม เศรษฐกิจไทยเองสามารถเติบโตด้วยเลข 2 หลัก เพราะ AI จะมาช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น หน้าที่ของไมโครซอฟท์คือผลักดันให้บุคคลและองค์กรในไทยประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้นผ่านแพลตฟอร์มและเครื่องมือต่างๆของไมโครซอฟท์

ไทยมีศักยภาพโดดเด่นและโอกาสในการสร้างอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมดิจิทัลและ AI การเปิดดาต้าเซ็นเตอร์ระดับภูมิภาคแห่งใหม่ ควบคู่ไปกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ สำหรับคลาวด์และ AI รวมถึงการเสริมสร้างทักษะด้าน AI ล้วนเป็นแผนงานที่ต่อยอดพันธกิจของไมโครซอฟท์ เพื่อช่วยให้องค์กรไทย ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนเติบโต ร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ให้กับประเทศไทย”

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เสริมว่า “ไมโครซอฟท์มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะร่วมพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยให้แข็งแรงและโดดเด่นยิ่งขึ้น ให้คนไทยทุกคนได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากศักยภาพของเทคโนโลยีอย่างคลาวด์และ AI ที่จะเข้ามาช่วยสร้างการเติบโตและชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยวางรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับอนาคตของประเทศไทย ไม่เพียงแค่มีเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย แต่ยังมอบโอกาสให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม และส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนอีกด้วย”

หนุนนักพัฒนา GitHub

GitHub ถือเป็นชุมชนที่รวมนักพัฒนาจากทั่วโลก ปีที่แล้วนักพัฒนาไทยมีส่วนร่วมมากขึ้นถึง 24% ซึ่งไมโครซอฟท์ได้เปิดตัว Copilot บน GitHub ไปเมื่อหลายปีก่อน ซึ่งตอนนี้มีการปล่อย Copilot Workspace ซึ่ง AI จะมาช่วยให้นักพัฒนาทำงานได้เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเขียนเว็บหรือพัฒนาแอปพลิเคชัน แถมตอนนี้รองรับภาษาไทยด้วย

ตั้ง Data Center แห่งแรกในไทย หนุนการใช้งาน AI และ Cloud

ไมโครซอฟท์ประกาศสร้างโครงสร้างพื้นฐาน Data Center แห่งแรกในไทย เพื่อรองรับการใช้งาน AI และ Cloud ที่เพิ่มมากขึ้นทั้งจากผู้ประกอบการ, SME บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ รวมถึงภาครัฐ ขยายการให้บริการในสเกลใหญ่ขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น มีเสถียรภาพและสมรรถนะที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานระดับองค์กรมากยิ่งขึ้น ทั้งยังรองรับมาตรฐานของประเทศไทยด้านการจัดเก็บและรักษาความปลอดภัยของข้อมูลอย่างครบถ้วน

นักพัฒนาสามารถใช้งาน AI, ฝึกสอนโมเดลไม่ว่าจะเป็น Azure หรือโมเดลแบบ Open-source ซึ่งจะช่วยเร่งให้เกิดนวัตกรรมใหม่ นอกจากนั้นยังมีแพลตฟอร์มรวมศูนย์ข้อมูลที่พร้อมใช้งาน AI ได้ สิ่งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสร้างโอกาสในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ไทย จากงานวิจัยโดยบริษัทที่ปรึกษา Kearney คาดการณ์ว่า AI จะช่วยเพิ่มมูลค่า GDP ของไทยเพิ่มขึ้นถึง 117,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 4.3 ล้านล้านบาท)

หนุนนักพัฒนาไทยใช้ AI เต็มศักยภาพ

ไมโครซอฟท์ยังคงมีบทบาทอย่างต่อเนื่องในการขับเคลื่อนการเติบโตของชุมชนนักพัฒนาในประเทศไทย ผ่านโครงการและกิจกรรมอย่าง AI Odyssey ที่มุ่งสนับสนุนให้นักพัฒนาชาวไทยกว่า 6,000 คน ยกระดับทักษะความสามารถขึ้นมาเป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ที่ครบเครื่องด้วยทักษะใหม่ๆ และการรับรองจากไมโครซอฟท์

ประเทศไทยถือเป็นตลาดที่เติบโตอย่างรวดเร็วสำหรับ GitHub แพลตฟอร์มที่มีไมโครซอฟท์เป็นเจ้าของ ออกแบบมาเพื่อรองรับนักพัฒนาทั้งในการเขียนโค้ด ประสานงาน และสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีนักพัฒนาในประเทศไทยรวมกว่า 900,000 รายที่ใช้งาน GitHub หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตถึง 24% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

นอกจากนั้นไมโครซอฟท์ยังได้ประกาศเป้าหมายที่จะช่วยสนับสนุนให้ประชากรกว่า 2.5 ล้านคนจากประเทศสมาชิกอาเซียนได้มีโอกาสเรียนรู้และฝึกฝนทักษะด้าน AI 

ใช้งาน AI อย่างปลอดภัย

ในแง่ของความปลอดภัยนั้นทางไมโครซอฟท์ให้ความสำคัญ 3 ด้าน คือ ออกแบบด้วยความปลอดภัย, ความปลอดภัยเป็นค่าเริ่มต้นและการดูแลรักษาความปลอดภัย นอกจากนั้นยังมีมาตรการด้าน AI คือ ข้อมูลเราเป็นของเรา จะไม่นำข้อมูลผู้ใช้ไปฝึกสอน มีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลในทุกขั้นตอนการทำงานเพื่อให้ผู้ใช้มั่นใจในการใช้งาน AI มากขึ้น

ไมโครซอฟท์ยังทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ในด้านการแบ่งปันแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยในโลกออนไลน์ ภัยไซเบอร์ จุดอ่อนในระบบและเทคโนโลยีต่างๆ พร้อมด้วยคำแนะนำในด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น พร้อมรับมือกับความเสี่ยงในโลกยุค AI นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังได้นำ AI มาใช้เสริมประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภายใน ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นในข้อมูลเชิงเศรษฐกิจ และปูทางไปสู่การวางนโยบายที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมยิ่งขึ้น