เปิดบทสรุปงาน THE SECRET SAUCE SUMMIT 2024 : WINING THE NEW WAVE เกมธุรกิจ ชนะโลกใหม่ อีเวนต์ที่รวมผู้ประกอบการและนักธุรกิจ จัดขึ้นที่พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน งานที่ถูกออกแบบมาทำให้ทันเทรนด์ เห็นโอกาส ได้อินไซต์ เปิดโลกความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้การทำธุรกิจเป็นเรื่องสนุก
ธีมการจัดงานครั้งนี้เป็นการเปิดมุมมองจากผู้ประกอบการที่อยู่ต่างช่วงการเติบโตของธุรกิจ ที่มาร่วมกันแชร์มุมมอง ประสบการณ์ในการสร้างการเติบโตในธุรกิจที่แตกต่างไปด้วยกัน
เคน นครินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร
บริษัท เดอะสแตนดาร์ด จำกัด เปิดงานด้วยการชวนตั้งคำถามถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทย ที่กำลังส่งผลกระทบต่อธุรกิจจากความท้าทายรอบด้านทั้งปัญหาหนี้สิน กำลังซื้อที่ลดลง หรือเทคโนโลยีที่เข้ามาดิสรัปธุรกิจจำนวนมาก พร้อมทั้งเสนอแนวทางกลยุทธ์ปลดล็อกการเติบโตไร้ขีดจำกัดฉบับผู้ประกอบการ
พร้อมย้ำถึงสิ่งสำคัญที่สุดของเพื่อปลดล็อกธุรกิจให้เติบโตได้คือการ
รู้จุดแข็งและเข้าใจโจทย์ ซึ่งทุกธุรกิจต้องหาให้เจอเพราะแต่ละคนจะมีโจทย์ไม่เหมือนกัน
ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย แชร์บนเวที Economic Outlook 2025: Adapting for SMEs เทรนด์เศรษฐกิจโลกและไทย SMEs ควรปรับตัวอย่างไร โดยได้ยกตัวอย่างการทำธุรกิจก็เหมือนกับการวิ่ง ซึ่งการวิ่งก็มีหลายประเภท ทั้งวิ่งช้า วิ่งเร็ว วิ่งมาราธอน และไม่ได้วิ่งตามเส้นทางที่ราบเรียบตลอดเวลา บางครั้งเจอก้อนหิน น้ำท่วม ฟ้าฝนไม่เป็นใจ
เหมือนกับการทำธุรกิจก็มีโจทย์ต่างกัน ต้องยอมรับว่าไม่มีอุตสาหกรรมไหนที่ Success ยิ่งปัจจุบันต่างชาติกระโดดเข้ามาลงทุนมากขึ้น จะต้องนำความรู้จากบริษัทต่างชาติ มาปรับใช้กับธุรกิจ ถ้าสำเร็จแล้วต้องวิ่งต่อ ถ้ายังไม่สำเร็จต้องคิดวนใหม่ ผิดพลาดตรงไหน รีบปรับตัวและค่อยวิ่งต่ออย่าหยุด
ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ ViaLink และ Siametrics Consulting กล่าวถึงการแข่งขันในยุค AI ที่ธุรกิจต้องคว้า 3 ขุมพลังทางเศรษฐกิจใหม่ให้ได้ เพื่อเพิ่มผลิตภาพและใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า โดยสิ่งสำคัญของการเริ่มต้นใช้ AI กับธุรกิจคือการ ‘ลอง’ เพราะหากไม่ทำ ความเสี่ยงที่จะถูกคู่แข่งจากต่างประเทศแย่งตลาดและดิสรัปจะมีสูงมาก
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษา กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) พูดในหัวข้อ เทรนด์เศรษฐกิจสุขภาพแห่งอนาคต ที่ย้ำว่าแม้แต่ AI ยังแก้ปัญหาความแก่ไม่ได้ ถึงวันนี้โลกเข้าสู่ภาวะแก่ตัวลงอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการคาดการณ์ในปี 2050 ชี้ว่าประชากรโลกสูงวัยจะมีถึง 2,100 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยปีหน้าก็จะกลายเป็นสังคมสูงวัยเต็มตัวแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าเทรนด์สูงวัยประเทศไทยเร็วกว่าหลายประเทศ
เมื่อสังคมเต็มไปด้วยสูงวัย สิ่งที่ตามมาคือปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะวัย 60-80 ปี ต้องเผชิญกับโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ กระดูกเสื่อม และโรคเลือดไม่ไปเลี้ยงสมองมากขึ้น กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องหันมาดูแลสุขภาพ ซึ่งสาเหตุหลักๆมาจากการทานอาหารแปรรูป หรือที่เรียกว่า Ultra-processed Foods ซึ่งเป็นบ่อสะสมโรคต่างๆ
โดยสัดส่วนการใช้จ่ายด้านสุขภาพในประเทศไทยอยู่ที่ 5.1 ต่อ GDP ถือว่าภาพรวมเศรษฐกิจผู้สูงอายุในไทย มีมูลค่า 3 ล้านล้านบาท และเฉลี่ยใช้จ่ายอยู่ 12,000 บาท แต่ปัญหาของไทย คือตัวเลขผู้อายุเกินครึ่งส่วนใหญ่พึ่งพาเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นหลัก ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน ทั้งผู้ประกอบการที่อาจจะมองหาโอกาสของสินค้าเพื่อสุขภาพ ทั้งน้ำตาลน้อยและโซเดียมต่ำควบคู่ไปกับภาครัฐที่ต้องอาศัยมาตรการเก็บภาษีน้ำตาและรณรงค์สร้างการรับรู้ให้มากขึ้น
ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน โฮสต์รายการ 8 Minute History และ Morning Wealth พาทุกคนย้อนกลับไปศึกษาตำราอ่านใจคนฉบับสามก๊ก ที่ไม่ว่าโลกจะพัฒนาไปไกลแค่ไหน แต่ธรรมชาติและนิสัยของมนุษย์ยังคงเหมือนเดิม ดังนั้นการอ่านคนให้ออกและการบริหารขวัญกำลังใจคือเรื่องสำคัญของผู้ประกอบการในยุคนี้
รศ. ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล มาเล่าถึงเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ ในหัวข้อ Neuromarketing: Unlocking Consumer Minds ถอดรหัสจิตวิทยาผู้บริโภคด้วย Neuroscience โดยแสดงให้เห็นว่าจะดีแค่ไหนเมื่อมีเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถเจาะลึกลงไปได้ถึงระดับระบบประสาท และรู้ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร ทั้งหมดคือ สูตรลับจาก BCI Lab ที่จับอารมณ์ผู้คนได้แบบเรียลไทม์ ตามศาสตร์ Neuromarketing ช่วยสร้างความได้เปรียบในการทำตลาด
ถอยกลับมาดูอีกหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของไทย ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ได้แชร์มุมมองว่าประเทศไทยเรามีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมให้เป็นศูนย์กลางการให้บริการ เช่น
การเป็น Entertainment Complex หรือการเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพโดยการทำธุรกิจในฐานะผู้ประกอบการตอนนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องเก่งทุกอย่าง แต่ต้องหา ‘จุดเด่น’ ที่เป็นเอกลักษณ์ตัวเองเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้
เมื่อพูดถึงการท่องเที่ยวไทยก็ต้องพูดถึงสปา วรวิทย์ ศิริพากย์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปุริ จำกัด พูดถึงสูตรปั้น Niche Luxury แบรนด์พันล้าน ฉบับ PAÑPURI ว่า การใส่ใจคุณภาพเป็นอันดับแรกที่แบรนด์ลักชัวรีต้องให้ความสำคัญ สุดท้ายไม่ว่าการทำตลาดเราจะดีแค่ไหน ภาพลักษณ์เราสวยแค่ไหน ถ้าคนนำสินค้าไปใช้แล้วไม่ตอบโจทย์ความต้องการ จะทำให้แบรนด์ไม่ยั่งยืน และไม่ใช่ลักชัวรีที่แท้จริง นอกจากนี้ผู้ก่อตั้ง PAÑPURI ยังฝากเคล็ดลับความสำเร็จว่าต้องหาสิ่งที่เราชอบให้เจอ และเชื่อในสิ่งที่ตัวเองทำ มีเป้าหมายใหญ่กว่ารายได้และกำไร เชื่อว่าทั้งหมดนี้เป็นสูตรสำเร็จได้
แต่นอกจากผู้บริหารรุ่นใหญ่ ภายในงานยังได้รับเกียรติจากผู้บริหารรุ่นใหม่ของ 2 สกินแคร์แบรนด์ดังอย่าง MizuMi และ INGU ที่ร่วมแบ่งปันอินไซต์การสร้างแบรนด์ให้สำเร็จในอุตสาหกรรมความงามมูลค่ารวมกว่า 2.5 แสนล้านบาท โดยหนึ่งในคำแนะนำที่ วริษฐา สืบพันธ์วงษ์ เจ้าของแบรนด์สกินแคร์ MizuMi และอาหารเสริม Bomi ย้ำว่าการกำหนด Positioning ตั้งแต่แรกว่าจะมุ่งตลาดแพงหรือตลาดทั่วไป จะช่วยให้ผู้ประกอบการควบคุมทิศทางได้ชัดเจนขึ้น
ในขณะที่ ชยธร กิติยาดิศัย กรรมการบริหาร บริษัท อิ๊ง ซีเค จำกัด มองว่าพื้นฐานความสำเร็จในวงการบิวตี้คือการที่มีสินค้าที่ดี แต่เมื่อสินค้าดีแล้ว จุดที่จะชี้ชะตาและทำให้แบรนด์เฉิดฉายขึ้นมาได้ คือเรื่องของกลยุทธ์แบรนด์ดิ้งที่จะทำให้สินค้ามัดใจผู้บริโภคได้ ถือเป็นอีกแนวคิดที่น่าสนใจของนักธุรกิจรุ่นใหม่
กุลพัชร์ กนกวัฒนาวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) มาร่วมแชร์ในหัวข้อ Sweet Success Strategies สูตรลับโตพันล้านไร้ขีดจำกัดของ After You โดยอัพเดทธุรกิจ After You ที่สะสมประสบการณ์มากว่า 17 ปีแล้ว ผ่านมาหลายปีเห็นคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามา แต่ด้วยสไตล์เราไม่ค่อยสนใจเรื่องคู่แข่ง โฟกัสแค่ลูกค้า ซึ่งการมีแบรนด์ใหม่เข้ามาทำให้ตลาดสนุกมากขึ้น
สุดท้ายฝากถึงผู้ประกอบการอาหาร จริงๆแล้วสูตรสำเร็จในการทำธุรกิจนั้นไม่มี แต่ถ้ามีกำลังทรัพย์และไม่เกินตัว อยากขายอะไรขายเลย ถ้าไม่ลองก็ไม่รู้ว่าถูกหรือผิด เพราะทุกวันนี้ After You เราก็ยังทดลองกันตลอดเวลา
ในเวทีสุดท้าย ธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ฝากแนวคิดไว้ว่าธุรกิจจะอยู่รอดได้ต้องมีจุดแข็ง “เมื่อเรามีความเข้มแข็งแล้ว สิ่งที่เราจะทำได้ต่อคือการกระจายความเสี่ยง เช่น การกระจายผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายมากขึ้น และกระจายความหลากหลายของตลาดไปในต่างประเทศมากขึ้น”
สำหรับ ธีรพงศ์ การทำให้ธุรกิจเติบโตอาจไม่จำเป็นที่จะต้องมองหา S-Curve ใหม่ทุกครั้ง แต่ให้โฟกัสกับสิ่งที่ตัวเองทำตอนนี้ให้ดีที่สุดก่อนจะขยายไปสู่น่านน้ำใหม่
ทั้งหมดนี้เป็นแนวคิดของผู้ประกอบการที่สามารถก้าวข้ามอุปสรรคและเติบโตในแต่ละ Stage ได้สำเร็จ ซึ่งเป็นอินไซต์ที่ผู้ประกอบการไทยสามารถนำไปเตรียมตัวและปรับใช้ให้เข้ากับเทรนด์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว