วันที่ 6 กันยายน ที่รอยัลพารากอน ฮอลล์ ‘The Secret Sauce Summit 2024 : WINING THE NEW WAVE เกมธุรกิจ ชนะโลกใหม่’ วันที่ 2 เพื่อติดอาวุธสำหรับผู้ประกอบการให้สามารถฝ่าความท้าทายในโลกแห่งความเปลี่ยนแปลง
สำหรับวันที่ 2 เนื้อหาบน Main Stage ยังอัดแน่นไปด้วยความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญตัวจริงที่ช่วยติดปีกธุรกิจให้เติบโตได้ด้วยการสร้างความแตกต่างเชิงกลยุทธ์ การเลือกวางตำแหน่งทางการตลาดที่ไม่จำเป็นต้องหว่านแหจับลูกค้าทุกกลุ่ม และเคล็ดลับถอดรหัสพฤติกรรมผู้บริโภคในปี 2025
{เทรนด์การตลาดที่ธุรกิจต้องรู้}
อรรถวุฒิ เวศรานุรักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อะแด็ปเตอร์ ดิจิตอล กรุ๊ป วิเคราะห์เทรนด์การตลาด 2025 ตัววัดผลทางการตลาดที่จะช่วยธุรกิจสร้างยอดขายได้จริง
1.ความท้าทายที่แบรนด์ต้องเจอ
แบรนด์ใหญ่ที่อยู่มานานต้องเริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าตอนนี้จริงๆแล้วแบรนด์เราเป็นทรัพย์สินหรือหนี้สิน ถ้าหากเป็นหนี้สินจะต้อง Rebrand ไม่ใช่ Debrand บางครั้งต้องยอมทิ้งเอกลักษณ์แบบเดิมๆของตัวเองไป เพราะนั่นจะเป็นการส่งผลเสียต่อแบรนด์มากกว่า
เช่นเดียวกับแบรนด์ผู้ท้าชิงในตลาด ต้องให้ความสำคัญในการสร้างแบรนด์ให้แข็งแรง สร้างฐานลูกค้า สิ่งเหล่านี้สำคัญมากในกลุ่ม Non- Essential Category โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มความสวยความงามที่ผู้บริโภคเริ่มเลือกสินค้าหลากหลาย
และแบรนด์น้องใหม่ในตลาด ต้องโฟกัสการวาง Positioning ทั้งคุณภาพ ราคา และ Value เพื่อให้ผู้บริโภครู้ว่าแบรนด์แตกต่างจากผู้เล่นรายอื่นในตลาดอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้นต้องมีช่องทางขายของตัวเองที่ชัดเจนและเข้าถึงง่าย
ท่ามกลางโลกยุคดิจิทัล นิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Binance TH by Gulf Binance เข้ามาฉายภาพทิศทางของ Bitcoin ที่กำลังเป็นสินทรัพย์ที่ถูกเป็นที่ยอมรับมากขึ้น
{สิ่งที่ผู้ประกอบการควรโฟกัสในปี 2025}
ดร.ธนัย ชรินทร์สาร ที่ปรึกษาและวิทยากรด้านกลยุทธ์ สรุปประเด็นที่ผู้ประกอบการต้องรู้ในการเตรียมพร้อมสู่ปี 2025
1.มองไกลไปสู่อนาคต
โลกหมุนเร็วขึ้นมาก เหมือนเรากำลังขับรถอยู่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนเรื่อยๆ จึงต้องมองไกลกว่าเดิมและหาโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกัน และถ้ามีเหตุการณ์ที่เราไม่คาดคิดเกิดขึ้น ในแง่ของการทำธุรกิจอย่ามองเรื่องอุปสรรคอย่างเดียว ต้องหาโอกาสจากไปพร้อมกัน โดยเฉพาะการเข้าสู่ธุรกิจใหม่ ต่อยอดสู่ธุรกิจเดิม สิ่งที่ทำทั้งหมดจะเป็นตัวกำหนดอนาคต
2. ตั้งคำถามและนำ AI มาใช้ในระยะยาว ในมุมของนักกลยุทธ์ มองว่า AI เป็นระบบที่สามารถเรียนรู้ได้ มีเหตุผลและทำงานได้ด้วยตัวเอง แต่อีกด้านหนึ่งก็มีข้อจำกัดหลายประการ หากสังเกตจะเห็นว่าเทคโนโลยีที่เข้ามาแรกๆคนจะตื่นเต้นระยะสั้นเท่านั้น แต่จริงๆแล้วระยะยาว AI จะทำงานได้มากกว่าที่เราคิด เราต้องตั้งคำถามว่าจะนำ AI มาใช้อย่างไรในระยะยาวได้อย่างไร
บดินทร์ เสรีโยธิน ผู้อำนวยการสายการตลาด บริษัท ขอนแก่นแหอวน จำกัด เล่าย้อนกลับไปถึงเส้นทางที่ทำให้บริษัทท้องถิ่นของไทยรายนี้สามารถก้าวขึ้นสู่ผู้นำสินค้าประเภทแหอวนเบอร์ 1 ของโลกว่า “การตั้งโจทย์และเป้าหมายของธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อเราตั้งโจทย์ไว้สูง การเดินหน้าต่อก็จำเป็นที่จะต้องหาทางไปหาเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ให้ได้ เราจึงคิดตั้งแต่วันแรกว่าสินค้าของเราต้องแตกต่าง”
จุดอันตรายที่มักจะเป็นจุดปราบเซียนให้กับธุรกิจจำนวนมากคือเมื่อธุรกิจไม่สามารถหาจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองได้ เราก็จะถูกบีบให้ใช้ ‘ราคา’ ในการแข่งกัน ซึ่งถือเป็นการแข่งในเกมที่มีผู้เล่นจำนวนมากและโอกาสชนะน้อยเพราะสุดท้ายลูกค้าจะตัดสินด้วยราคาเป็นหลัก
อย่างไรก็ดี กุญแจความสำเร็จที่บริษัทระดับโลกมักจะมีคล้ายกันจากการตั้งของสังเกตุของ บดินทร์ คือการตีโจทย์เทรนด์อนาคตให้ออกและหาสิ่งที่ ‘ลูกค้าปฏิเสธสิ่งที่เรามีไม่ได้’ ซึ่งสุดท้าย ‘กำไร’ จะตามมาด้วยตัวของมันเอง
{สรุปเทรนด์จิตวิทยาผู้บริโภคปี 2025}
มัณฑิตา จินดา ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดิจิทัล ทิปส์ จำกัด กล่าวถึงการทำธุรกิจว่าต้องฟังเสียงลูกค้ามากขึ้นด้วยการรู้เรื่องจิตวิทยาที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของลูกค้าที่นับวันจะยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งถ้าเราเข้าใจอย่างถ่องแท้ ก็จะได้เปรียบในการแข่งขัน
{จับตา Biotech โอกาสของธุรกิจไทย}
นพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา แพทย์ นักเขียน และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ สรุปถึงประเด็น Biotech ทำไมถึงเป็นโอกาสธุรกิจ จริงๆแล้วนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องนี้จนมีความเชี่ยวชาญระดับโลกมีจำนวนมาก แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ถือเป็นโอกาสของไทย เพราะไทยมีนักวิทยาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้าน Biotech และความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีทรัพยากรดังกล่าวและยังไม่ถูกทำลาย
ยิ่งไปกว่านั้น ไทยมีทรัพยากรที่สามารถสนับสนุน Biotech ได้ จากความเชี่ยวชาญของอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของ Biotech ที่สำคัญ Biotech นั้นเป็นเรื่องใหม่ของโลก ปัจจุบันยังไม่มีประเทศไหนนำโด่ง ทั่วโลกกำลังเริ่มไปพร้อมกัน และยังไม่มีประเทศไหนทำได้สำเร็จ ถ้าไทยสามารถเริ่มได้ทันเราก็จะเป็นประเทศที่อยู่ในระดับแถวหน้าได้เลย
อีกหนึ่งหัวข้อที่น่าสนใจจาก Nazir Razak Founding Partner & Chairman of Ikhlas Capital and Former Chairman of CIMB Group ผู้ที่ร่วมมือกับบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกอย่าง McKinsey ทำคลาสสอนบุคคลระดับซีอีโอให้มีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจด้วยทักษะและ Mindset ที่ถูกต้อง โดยสิ่งที่ Nazir ชวนเหล่าซีอีโอคิดคือความรับผิดชอบของคนในตำแหน่งนี้ไม่เพียงแต่จะต้องบริหารองค์กรให้มีผลประกอบการดี แต่ต้องวางตัวอย่างให้เกียรติและสร้างให้คนรอบข้างเติบโตด้วย
“CEO ที่ดีคือผู้นำที่กล้าฟังและกล้ารับข้อผิดพลาด เพราะวัฒนธรรมอันตรายที่จะกลับมาทำร้ายองค์กรคือการที่ ‘ความจริง’ เป็นสิ่งที่ไม่มีใครในองค์กรพูดกัน” Nazir กล่าว
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เน้นย้ำถึงความสำคัญของภาษีคาร์บอนและกลไกคาร์บอนที่เป็นกติกาภาคบังคับของโลกที่ไม่ว่าธุรกิจไหนก็ยากจะหลีกเลี่ยง ผู้ประกอบการ SMEs จำเป็นต้องปรับตัวโดยกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายที่คำนึงถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเปลี่ยนแนวความคิดว่าต้องนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ เพราะการปรับตัวนี้จะนำมาซึ่งโอกาสในการ เข้าถึง Green Supply Chain ที่กำลังเติบโต พร้อมทั้งลดต้นทุน และเปิดทางให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น
{สินค้าขายไม่ได้ ต้องไม่ฝืน }
สรุปความลับ GENTLEWOMAN แบรนด์แฟชั่นพันล้าน นำโดย รยา วรรณภิญโญ และ จิตพล ศิริวัฒนเมธางกูร Co-Founder of GENTLEWOMAN มาเปิดบทเรียนธุรกิจที่เคยผ่านจุดที่ไม่สำเร็จ แต่เมื่อรู้ว่าสินค้าขายไม่ได้ ก็พยายามปรับตัวเรียนรู้พฤติกรรมลูกค้าชอบอะไร และนำมาปรับใช้มาอย่างต่อเนื่อง
เสถียร เสถียรธรรมะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าทักษะการฟังสำคัญที่สุดสำหรับผู้นำ เพราะการฟังจะช่วยขยายมุมคิดให้กว้างขึ้น ซึ่งหลายครั้งไอเดียใหม่ ก็มาจากการฟังคนภายในองค์กรหลายๆ คนสะท้อนถึงปัญหาให้ฟัง
นอกจากนี้ ในเส้นทางของการทำธุรกิจ การตั้งเป้าหมายเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น แต่การลงมือทำอย่างสม่ำเสมอและมีวินัยคือหนทางสู่ความสำเร็จ เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ต้องการความอดทนและความพยายาม ในช่วงเริ่มต้นที่ธุรกิจยังเล็ก เราอาจถูกดูแคลนหรือไม่เป็นที่ยอมรับไปบ้าง แต่เสถียรมองว่าความอดทนและอดกลั้น คือสิ่งเดียวที่ผู้ประกอบการต่อฝ่าไปให้ได้ก่อนจะประสบความสำเร็จ
ในช่วงสุดท้าย นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และบรรณาธิการบริหาร บริษัท เดอะสแตนดาร์ด จำกัด ยกตัวอย่างคำพูดของ Antonio Gramsci ที่กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่าโลกเก่ากำลังล่มสลาย และโลกใหม่ยังคงต่อสู้เพื่อถือกำเนิด ในตลาดทั้งปี 2024 สิ่งที่เราเห็นคือการเปลี่ยนแปลงของโลก เราเห็นคลื่นลูกค้าที่พยายามปรับตัวต่อโลกใหม่ๆ แต่ยังปรับได้ไม่ดีนัก ในขณะที่เห็นคลื่นลูกใหม่กำลังไล่ล่าหาความสำเร็จ สิ่งเหล่านี้คือโอกาสทองและนับเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านธุรกิจ ต้องแก้ด้วยวิธีการใหม่ๆทิ้งวิธีเก่าๆไป ด้วยวิธีคิด 4 ข้อคือ
1.Outside -in ต้องกวาดตาดูเทรนด์ต่างๆที่เกิดขึ้น ทั้งความท้าทายและโอกาส
2.Inside-Out กลับมาดูที่ตัวเองว่าโจทย์ของธุรกิจวันนี้คืออะไร
3.Footwork คือการทำ R&D ต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมและรอจังหวะทึ่ถูกต้อง
4.Move กล้าทำสิ่งใหม่ เพื่อรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า
สุดท้าย วิกฤตคือความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ทันตั้งตัว แต่ถ้าตั้งตัวให้พร้อมและลงมือทำ มอง Outside-In แล้วกลับมาทำ Inside-Out แล้วรอจังหวะที่เป็นของเรา สุดท้ายจะคว้าโอกาสได้สำเร็จ