Whoscall จับมือหน่วยงาน 11 แห่งทั้งภาครัฐและเอกชน เพิ่มฟีเจอร์ Scam Alert ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อป้องกันการหลอกลวงจากมิจฉาชีพ ทั้งการแจ้งเตือนกลลวง รวมถึงการรับมือกับการหลอกลวงประเภทต่างๆเพื่อให้ปลอดภัยจากมิจฉาชีพ

จากข้อมูลสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ถึง กรกฎาคม 2567 พบว่า ความเสียหายจากการหลอกลวงผ่านออนไลน์นั้นมีมูลค่าสูงถึง 7 หมื่นล้านบาท ผลสำรวจของ Global Anti-Scam Alliance (GASA) พบว่า 89% ของคนไทยเจอมิจฉาชีพอย่างน้อยเดือนละครั้ง แต่มีคนไทยแค่ 55% ที่มั่นใจว่ารับมือมิจฉาชีพได้

เนื่องจากมิจฉาชีพได้ใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการหลอกลวงมากขึ้น นั่นทำให้ Whoscall จับมือกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งหมด 11 องค์กร ประกอบด้วย กสทช. สกมช. กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ตำรวจไซเบอร์ AIS True NT SCB กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สภาองค์กรของผู้บริโภคและโครงการโคแฟค ประเทศไทย ร่วมกับเปิดตัวฟีเจอร์ Scam Alert ในแอป Whoscall ขึ้นมา

ฟีเจอร์ Scam Alert เป็นศูนย์รวมข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ พร้อมแจ้งเตือนภัยและให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับการหลอกลวงที่เกิดขึ้น ฟีเจอร์นี้สามารถใช้งานได้ฟรีแต่ต้องไปเปิดการใช้งานก่อน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ

  • เตือนภัยกลโกงล่าสุด (Scam Trending Alert) การเตือนภัยมิจฉาชีพที่สำคัญและเร่งด่วนจากภาครัฐโดย กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ตำรวจไซเบอร์ กสทช.และ สกมช. ซึ่งเป็นการเตือนภัยที่เจอบ่อยๆ ในช่วงเวลานั้นๆ เช่น การแอบอ้างหน่วยงานที่สำคัญ การหลอกลวงที่มีมูลค่าความเสียหายจำนวนมหาศาลและก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง
  • เตือนภัยกลโกงรู้ทันมิจฉาชีพ (Scam Education Content) ฟีเจอร์นี้จะรวมข้อมูลเกี่ยวกับกลวิธีการหลอกลวง และเคล็ดลับการป้องกันต่างๆ จากภาคีเครือข่ายภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เช่น การหลอกลงทุน การหลอกชำระบิล การหลอกซื้อของ การหลอกลวงทางอีคอมเมิร์ซ รวมถึงข้อมูลเชิงลึกจาก Whoscall และ Global Anti-Scam Alliance (GASA)

เมื่อมารวมกับฟีเจอร์อื่นๆใน Whoscall ไม่ว่าจะเป็นการตรวจและบล็อกเบอร์มิจฉาชีพ Auto Web Checker ตรวจสอบก่อนคลิกลิงก์เว็บว่าเป็นเว็บหลอกลวงหรือเปล่า รวมถึง ID Security เช็กข้อมูลรั่วไหล ก็จะช่วยให้ผู้ใช้ปลอดภัยยิ่งขึ้น

ตอนนี้ Whoscall มีคนไทยติดตั้งแล้วถึง 20 ล้านเครื่องซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ Whoscall ตรวจสอบสายโทรเข้าจากมิจฉาชีพได้ถึง 19 ล้านครั้ง ในขณะที่กระทรวงดีอี ปิดเว็บบิดเบือน/หลอกลวงไปถึง 47,000 รายการ ตั้งแต่ดุลาคม 2566-สิงหาคม 2567