ทุกวันนี้อากาศร้อนขึ้นทำให้หลายคนเปิดเครื่องปรับอากาศให้ห้องเย็นขึ้น แต่ก็แลกกับค่าไฟที่เพิ่มขึ้น ล่าสุดทางนักวิทยาศาสตร์จากเกาหลีใต้ได้พัฒนาสารเคลือบชนิดใหม่ที่ช่วยให้กระจกเย็นลงมากขึ้น แต่ยังคงความโปร่งใสอยู่
หน้าต่างถือเป็นช่องที่ช่วยให้ห้องเปิดรับแสงธรรมชาติ รวมถึงยังเป็นช่องทางหลักในการปรับอุณหภูมิอีกด้วย เมื่ออากาศหนาวเย็น ความร้อนภายในอาคารประมาณ 30% สามารถระบายออกไปทางหน้าต่างได้ ในช่วงที่อากาศร้อน แสงแดดที่ส่องกระทบหน้าต่างประมาณ 76% จะเข้ามาเป็นความร้อน
ทางนักวิจัยจาก POSTECH และมหาวิทยาลัยเกาหลีพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการเคลือบชนิดใหม่ ซึ่งทีมออกแบบเลือกใช้วัสดุที่สามารถแผ่ความร้อนออกไปได้ ในขณะที่ยังคงคุณสมบัติให้แสงที่มองเห็นได้ผ่านเข้ามาได้
วัสดุนี้ประกอบด้วยสามชั้นที่มีบทบาทต่างกัน ชั้นบนสุดจะเป็น โพลีไดเมทิลซิโลเซน (PDMS) ซึ่งปล่อยรังสีอินฟราเรดช่วงไกลซึ่งรู้สึกได้ในรูปของความร้อน ตรงกลางเป็นชั้นเงินบางๆ ที่สะท้อนสเปกตรัมส่วนที่เหลือของดวงอาทิตย์ นอกจากนั้นชั้นนี้ยังประกอบไปด้วยรูขนาดเล็กเพื่อให้แสงที่มองเห็นได้ผ่านเข้ามาได้
ส่วนชั้นที่สามคือ กระจกแบรกก์ ประกอบด้วยไททาเนียมไดออกไซด์และแมกนีเซียมฟลูออไรด์ที่สลับกันเป็นชั้นๆ ซึ่งออกแบบเพื่อสะท้อนความยาวคลื่นของสเปกตรัมอินฟราเรดใกล้ ซึ่งเป็นส่วนประกอบของความร้อนส่วนใหญ่ของแสงแดด
ในการทดสอบ พบว่าวัสดุชนิดใหม่นี้สามารถรักษาอุณหภูมิพื้นผิวกระจกให้เย็นลงได้ถึง 22.1 °C เมื่อเทียบกับกระจกที่เคลือบด้วย PDMS เพียงอย่างเดียว
นั่นหมายความว่าวัสดุนี้สามารถนำไปใช้กับหน้าต่างเพื่อให้ภายในอาคารเย็นลงโดยที่แสงยังส่องผ่านเข้ามาได้ แถมยังลดค่าไฟจากการเปิดระบบทำความร้อนและทำความเย็น ทำให้เป็นเทคโนโลยีสำคัญสำหรับอนาคตที่ยั่งยืน
ใครที่สนใจสามารถอ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่วารสาร Advanced Functional Materials.
ที่มา https://newatlas.com/materials/window-coating-radiative-cooling-40-degrees/