หลังจากที่ Neuralink ได้ทดสอบกับผู้ป่วยอัมพาต 2 รายในสหรัฐอเมริกาแล้ว ล่าสุดทาง แคนาดาอนุมัติให้ Neuralink ทดสอบเชิงคลินิกกับผู้ป่วยจริงได้
กระทรวงสาธารณสุขของแคนาดาอนุญาตให้ Neuralink สามารถทดสอบเชิงคลินิกเพื่อผ่าตัดฝังชิปลงในสมองได้โรงพยาบาล Toronto Western Hospital เป็น “สถานที่ผ่าตัดแห่งแรกและแห่งเดียว” ในแคนาดา โดย Neuralinได้เปิดลงทะเบียนผู้ป่วยในแคนาดาเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งพิจารณาผู้เข้าร่วมโครงการที่มีศักยภาพอย่างจริงจัง
ตอนนี้ Neuralink กำลังมองหาผู้ป่วยที่ “มีความสามารถจำกัดหรือไม่มีเลยในการใช้มือทั้งสองข้างเนื่องจากได้รับบาดเจ็บที่ไขสันหลังส่วนคอหรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS)” โดยเฉพาะสำหรับการทดลองในแคนาดา
ภายใต้การศึกษาวิจัย CAN-PRIME ทาง Neuralink จะฝังชิปในสมองของผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการเพื่อให้สามารถตีความคลื่นสมองได้ ช่วยให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถควบคุมคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนด้วยสมองโดยไม่ต้องใช้สายหรือการเคลื่อนไหวร่างกายใดๆ
ผู้ป่วยรายแรกของ Neuralink ในสหรัฐ ได้รับการผ่าตัดฝังชิปเมื่อต้นปีนี้ แต่หลังผ่าตัดเขาก็ประสบปัญหาบางประการ โดยเส้นใยของวัสดุปลูกถ่ายหดกลับจากสมอง แม้ว่าในปัจจุบันเขาดูเหมือนจะดีขึ้นแล้วก็ตาม ส่วนผู้ป่วยรายที่สอง Neuralink ได้ใช้มาตรการบรรเทาผลกระทบเพื่อป้องกันการหดกลับของเส้นใย ผู้ป่วยรายดังกล่าวสามารถใช้ซอฟต์แวร์ออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์ (CAD) เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากการผ่าตัดในเดือนกรกฎาคม
ทาง Neuralink กล่าวว่าการศึกษาวิจัยนี้มุ่งหวังที่จะ “ประเมินความปลอดภัยของการฝังชิปและหุ่นยนต์ผ่าตัดของบริษัท รวมถึงประเมินการทำงานเริ่มต้นของ Brain Computer Interface เพื่อให้ผู้ป่วยอัมพาตสามารถควบคุมอุปกรณ์ภายนอกด้วยความคิดของตนเองได้” สิ่งที่บริษัทได้เรียนรู้จากการทดลองอาจช่วยให้บริษัทค้นหาวิธีที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นในการฝังอุปกรณ์ปลูกถ่ายเข้าไปในสมอง รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถของเทคโนโลยี