ปกติแล้วการวัดคลื่นสมองนั้นจะใช้การติดเครื่องวัด EEG แต่วันนี้เราสามารถทำได้ง่ายขึ้นด้วยการใช้รอยสักแบบชั่วคราวที่พิมพ์ลงบนหนังศีรษะ
การตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) เป็นวิธีการวัดกิจกรรมไฟฟ้าในสมองโดยใช้ขั้วไฟฟ้าที่วางบนหนังศีรษะ เพือทดสอบผู้ป่วยที่มีอาการเกี่ยวกับภาวะทางระบบประสาท เช่น โรคลมบ้าหมู เนื้องอก หรือการบาดเจ็บจากโรคหลอดเลือดสมอง จนไปถึงศีรษะที่ได้รับแรงกระแทกจากอุบัติเหตุ
ปัญหาของสายเคเบิลที่เชื่อมต่อกับขั้วไฟฟ้าอาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัวและอาจรบกวนสัญญาณไฟฟ้าที่ละเอียดอ่อนได้นอกจากนั้นกะโหลกศีรษะของคนเรามีขนาดและรูปร่างที่แตกต่างกัน ช่างเทคนิคจึงต้องใช้เวลาค่อนข้างนานในการวัดและทำเครื่องหมายบนหนังศีรษะเพื่อวัดค่าที่แม่นยำ ก่อนติดสายวัดเข้าไป ซึ่งตรงขั้วไฟฟ้าที่ติดกับศีรษะนั้นจะมีเจลที่ช่วยให้ขั้วไฟฟ้าตรวจจับสัญญาณสมองได้ แต่ถ้าเจลแห้งก็จะส่งผลให้ความแม่นยำน้อยลงไปด้วย
Nanshu Lu จากมหาวิทยาลัยเท็กซัส ได้คิดค้นวิธีการแก้ปัญหานี้ด้วยการพิมพ์รอยสักชั่วคราวลงบนหนังศีรษะของผู้ป่วย ซึ่งหมึกที่ใช้ทำรอยสักนี้ ผลิตทำมาจากโพลีเมอร์ 2 ชนิดที่เรียกว่าโพลี(3,4-เอทิลีนไดออกซีไทโอฟีน) (PEDOT) และโพลีสไตรีนซัลโฟเนต (PSS) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสื่อไฟฟ้าได้ดี ทนทานและไม่ระคายเคืองต่อผิวหนัง
ทีมงานได้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อสร้างแบบรอยสักเฉพาะบุคคล โดยอ้างอิงจากการสแกนหนังศีรษะแบบ 3 มิติ จากนั้นเครื่องพิมพ์ซึ่งควบคุมด้วยแขนกลจะทาหมึกลงบนหนังศีรษะโดยตรง
ตัวหมึกนั้นมีสูตรที่แตกต่างกันสองสูตร สูตรแรกสำหรับอิเล็กโทรดที่รับสัญญาณจากสมอง และอีกสูตรหนึ่งสำหรับการเชื่อมต่อที่วิ่งไปที่ด้านหลังคอ จากนั้นสายไฟจะส่งสัญญาณไปยังอุปกรณ์ขนาดเล็กที่บันทึกข้อมูล ซึ่งรอยสักนี้ได้รับการทดสอบแล้วว่าใช้ได้ผลดีกับคนที่มีหัวโล้นและผมตัดสั้น
ในอนาคตอาจจะมีการเพิ่มเครื่องส่งสัญญาณฝังไว้ในรอยสักอาจทำให้กระบวนการเก็บข้อมูลเป็นแบบไร้สายได้อย่างสมบูรณ์