จะดีแค่ไหนถ้าเราสั่งงานอุปกรณ์ต่างๆได้ด้วยเสื้อสามารถที่สามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวของนิ้ว สั่งงานได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องสัมผัสเนื้อผ้า

นี่คือสิ่งทอเชิงทดลองนี้ที่พัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Nottingham Trent ในสหราชอาณาจักร, ห้องปฏิบัติการวิจัย Helmholtz-Zentrum Dresden-Rossendorf ในประเทศเยอรมนี และมหาวิทยาลัยเสรี Bozen-Bolzano ในอิตาลี

แนวคิดก็คือ การนำเทคโนโลยีไปสานรวมให้เป็นส่วนหนึ่งของเสื้อผ้า เพื่อให้ผู้สวมใส่ก็ทำกิจกรรมต่างๆได้ พร้อมกับสั่งานอุปกรณ์ต่างๆได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า รับสายโทรศัพท์ หรือควบคุมทีวีอัจฉริยะ เพียงแค่ขยับนิ้วชี้ในช่องว่างเหนือวัสดุเท่านั้น

เสื้อเวอร์ชันต้นแบบนั้น ผู้ใช้จะต้องสวมแหวนขนาด 3 x 5 มม. ไว้ที่นิ้วซี้ ซึ่งแหวนนี้จะฝังแม่เหล็กไว้ภายในเพื่อสร้างสนามแม่เหล็กขึ้นมา ซึ่งจะทำงานคู่กับเซ็นเซอร์แมกนีโตรีซิสทีฟ 4 ตัวที่ทอฝังไปกับเสื้อ เพื่อช่วยให้ระบุ ตำแหน่งสามมิติแบบเรียลไทม์ของนิ้ว ที่ลอยเหนือผ้าจุดที่ฝังเซ็นเซอร์ได้

เซ็นเซอร์แต่ละตัวประกอบด้วยแผ่นฟอยล์โพลีอิไมด์ขนาดเล็กที่หุ้มด้วยทองแดงและโคบอลต์หลายชั้น โดยแผ่นฟอยล์จะถูกม้วนรอบสายไฟฟ้าบางๆ แล้วหุ้มด้วยปลอกโพลีเอสเตอร์ จนกลายเป็นเกลียวเดี่ยวที่ทอเป็นเนื้อผ้า หน้าที่ของเซ็นเซอร์คือระบุตำแหน่ง/การเคลื่อนไหวนิ้วที่แตกต่างกัน แปลเป็นคำสั่งเพื่อส่งต่อไปยังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมต่อแบบไร้สาย เช่นการสั่งงานแว่นตา VR ให้หันไปทางใดทางหนึ่งหรือเคลื่อนไปข้างหน้าในสภาพแวดล้อม VR ได้

นอกจากนั้นผ้ายังมีความทนทาน สามารถซักด้วยเครื่องซักผ้าได้ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการทิ้งตัวหรือความสวยงามของสิ่งทอ ผลการทดสอบในห้องแล็ปพบว่า เซ็นเซอร์ยังคงทำงานได้แม้จะผ่านการซักด้วยเครื่องไปแล้ว 7 รอบ

เรียกว่าเป็นการปฏิวัติวงการสิ่งทออิเล็กทรอนิกส์เพื่อต่อยอดเป็นเสื้อผ้าเฉพาะทางหรือเสื้อผ้าสำหรับใส่ในชีวิตประจำวันที่มีฟังก์ชันการทำงานที่มากขึ้น

ใครที่สนใจสามารถอ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ในวารสาร Communications Engineering.

Source: Nottingham Trent University