มาแล้วกับ iOS 14.3 ที่ปล่อยให้อัปเดทแล้ว นอกจากฟีเจอร์การใช้งานใหม่อย่าง Apple ProRaw ยังมีเรื่องของนโยบายความเป็นส่วนตัวที่เปลี่ยนไปของแอปเปิ้ล ที่ผู้ใช้ทุกคนก่อนโหลดแอปต้องอ่านสิ่งนี้

จำได้ไหมเดือน มิถุนายนในงาน WWDC 2020 ทางแอปเปิ้ลประกาศว่าเราสามารถจะส่องบทสรุปบนแอปด้านความเป็นส่วนตัวให้ผู้ใช้ได้ตระหนัก ก่อนการดาวโหลดแอปมากขึ้นโดยเป็น”มาตรฐานของทุกแอป”ไม่มีข้อยกเว้น ให้นักพัฒนากรอกคำถามเดียวกันทั่วโลก แม้แต่แอปจากอ้อมอก Apple เองด้วยก็ไม่มียกเว้น เรียกว่า “ทุกแอป” บน App Store เลยก็ว่าได้ รวมถึงบนทุกจอของแอปเปิ้ลทั้ง iOS , iPad OS, macOS , watchOS, tvOS ก็อยู่ใต้มาตรฐานเดียวกัน

มาตรการนี้ โชว์ให้เห็นการเอาจริงเอาจังเรื่อง “มาตรการรักษาความเป็นส่วนตัวผู้ใช้งาน” แต่เชื่อว่าผู้ใช้งานหลายคน ก็คง”ไม่ค่อยอ่าน” ก่อนโหลดมากนัก ทั้งนี้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ที่เป็นการบ้านของนักพัฒนาทั่วโลก….ใครที่จะแอบแฝงเก็บข้อมูลเกินจำเป็นกับผู้ใช้ ก็จะทำได้ยากขึ้นไปอีกเพราะมี “มาตรการกระชับพื้นที่ที่รัดกุมจากแอปเปิ้ลนี้”

ระบบอะไรของแอปเปิ้ลที่ยกระดับมาตรฐานนี้ได้จริง?
เค้าได้ทำการสร้างระบบที่เข้าใจง่ายสำหรับทุกแอป ทั้งสำหรับนักพัฒนาและผู้ใช้ โดยที่นักพัฒนาสามารถสร้าง “ป้าย (label)” บนแพลตฟอร์มการพัฒนาแอปได้เลยเหมือนเราดูสารอาหารข้างฉลากของกินต่างๆ เพื่อกระตุ้นการใส่ข้อมูลที่แม่นยำถูกต้องสื่อสารกับผู้ใช้ให้เหมาะสม เพื่อฝึกให้ผู้ใช้มือถือที่ขยันเล่นแอป โหลดแอปแปลกหน้า ได้ตระหนักรู้และ ละเอียดอ่าน ในความปลอดภัยแต่ละแอปให้จงดี

โดยเริ่ม”กฎเหล็ก”นี้กับนักพัฒนาตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2020 ในการให้กรอก ข้อมูลการเข้าถึงผู้ใช้ตามระเบียบ “ความเป็นส่วนตัวใหม่” บน App Store เพื่อให้คนทำแอปทุกรายอัพเดทแอปซะ โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแอป หรือ เขียนโปรแกรมเพิ่มใดๆ แค่กรอกข้อมูล”ให้มั่นใจความเป็นส่วนตัวผู้ใช้”ให้อยู่ในมือเค้าดูกันเองได้ชัดเจน ว่า แอปคุณนั้น …แอบเก็บ แอบติดตาม แอบลิงค์กับผู้ใช้ประการใดบ้าง แถลงไขซะให้โปร่งใส

ในหน้าของ App Product Pages หรือหน้าการโหลดแอปเราจะเห็นประเภทของข้อมูลที่แอปขอเก็บ ขอส่อง ว่าแอปมีการติดตามเราไหม หรือเชื่อมโยงข้อมูลที่เก็บไปของเราขนาดไหน ซึ่งถูกประเมินเป็นการเก็บข้อมูลสำคัญ 3แบบคือ

1. ข้อมูลที่ถูกเก็บจากการ”ติดตาม”เรา
2. ข้อมูลที่เชื่อมโยงกับเรา อันนี้คือ ผูกโยงกับตัวตนจริงเราจากแอคเค้าท์ผู้ใช้งานเราบนแอป บนเครื่อง หรือ เนื้อหาอื่น โดยบทสรุปคือจะแสดงประเภทข้อมูลที่แอปจัดเก็บไป หรือที่แอปเข้าถึงเราไปได้ หลังจากมันดาวน์โหลดอยู่บนเครื่องของเรา
3. ข้อมูลที่ไม่ลิงค์กับเรา

ความโปร่งใส และ ความเข้าอกเข้าใจที่ถ่องแท้จากผู้ใช้ เป็นสิ่งที่แอปเปิ้ลคาดหวัง เราในฐานะคนถือมือถือเหมือนเป็นอวัยวะชิ้นนึงของชีวิต ควรเข้าใจว่า “แอปเก็บข้อมูลด้านไหน เอาไปทำอะไรบ้าง” อีกนัยหนึ่ง คือเป็นการบ่งชี้เจตนาต่อ “คนทำแอป”ว่าการเก็บข้อมูลก็ควรโปร่งใสแจ้งได้ เพื่อให้ก่อนโหลดคนจะได้ตัดสินใจจากข้อเท็จจริงของแอปด้วย

นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆที่ทำให้เกิดการตื่นตัวในเรื่องของความเป็นส่วนตัวมากขึ้น รวมถึงอาจจะเป็นแรงกระตุ้น ปลุกกระแสให้บริษัทในแวดวงไอทีหันมาให้ความสำคัญข้อมูลของผู้ใช้มากขึ้น