ทุกคนอาจจะรู้จักวัคซีนกันเป็นอย่างดีเพราะเราทุกคนจะได้รับการฉีดวัคซีนกันตั้งแต่แรกเกิดเพื่อป้องกันโรคต่างๆซึ่งเป็นหน้าที่ที่สำคัญของวัคซีน และวัคซีนนี้เองถือเป็นนวัตกรรมชิ้นสำคัญของการแพทย์ที่ทำให้มนุษย์สามารถต่อต้านเชื้อโรคและมีชีวิตรอดมีอายุขัยยืนยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

แต่ข้อเสียของวัคซีนนั้นก็มีเช่นกันเช่น
1)ความจำเป็นที่จะต้องเก็บในอุณหภูมิต่ำ
2)การใช้เข็มฉีดยาที่จำเป็นจะต้องแทงเข้าไปในตัวคนไข้
3)เข็มเหล่านั้นก็จะกลายเป็นวัสดุติดเชื้อซึ่งยากต่อการทำลาย ก่อให้เกิดมลพิษ และเป็นขยะอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม

ดังนั้นจะดีกว่าไหมหากเราสามารถมีวัคซีนที่ไม่ต้องฉีดและสามารถเก็บได้ในอุณหภูมิปกติ

คำตอบคือ “มีครับ”

ที่ผ่านมามีนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์มากมายพยามประดิษฐ์วัคซีนที่สามารถเก็บได้ในอุณหภูมิปกติและสามารถนำส่งเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยได้ผ่านทางการกิน หรือบางครั้งอาจจะประดิษฐ์อาหารที่มีความสามารถในการกักเก็บวัคซีนและขนส่งไปยังถิ่นทุรกันดารที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยอุณหภูมิต่ำในการเก็บ และผู้ป่วยสามารถรับประทานอาหารเหล่านั้นและได้รับวัคซีนได้ไปอย่างพร้อมๆกัน


แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้พวกเราต้อง “อึ้ง” ไปมากกว่านั้นก็คือในผลงานวิจัยล่าสุด จากมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำทางด้าน AI และมหาวิทยาลัย John Hopkins ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำทางด้านการแพทย์ ระบุว่าตอนนี้ทางทีมได้พัฒนาวัคซีนรุ่นใหม่ล่าสุดที่ชื่อว่า “digital vaccine”

หลายๆท่านฟังแล้วอาจจะเกิดข้อสงสัยว่ามันคือวัคซีนประเภทไหน

วัคซีนประเภทนี้จะไม่เหมือนกับวัคซีนที่เราเคยเห็นกันตามโรงพยาบาลหรือคลีนิคหมอ
เพราะมันไม่ได้มีเชื้อโรคที่ตายแล้วหรือสารป้องกันการเกิดโรคใดๆเลย

แต่มันคือการใช้เทคโนโลยีเพื่อมาปรับพฤติกรรมของมนุษย์ ผ่านทางศาสตร์ของ neuro-behaviour และ physiological modulation หรือกล่าวง่ายๆเลย คือ มนุษย์จะถูกเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมยังไม่รู้ตัว โดยผ่านทาง application มือถือ โดยแอปที่มหาวิทยาลัยดังกล่าวใช้ทดลองนั้นชื่อว่าแอป FOOYA โดยมีการทดสอบครั้งแรกในเด็ก 1000 คน ซึ่งหากดูผิวเผินก็คือเป็น app เล่นเกมตามปกติ

แต่จริงๆแล้วใน app ดังกล่าวมี AI และมี ศาสตร์ทางด้าน neuroscience ที่จะแก้ไขตัวละครและระดับความยากของด่านต่างๆเพื่อให้สมองได้ปรับการเรียนรู้และสุดท้ายสมองของเราก็จะปรับตัวไปทางตามวัตถุประสงค์ของเกม โดยวัตถุประสงค์ของเกมนี้คือการสอนให้เด็กเลือกอาหารที่มีประโยชน์ทานได้เอง หลังจากการทดลองพบว่าเด็กๆทุกคนมีความสามารถในการเลือกอาหารที่มีประโยชน์ทานเองได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

หากฟังดูแล้วอันนี้ก็เหมือนการที่นักโปรแกรมเมอร์ทำเกมขึ้นมาเพื่อเพื่อให้เด็กเล่นอย่างสนุกสนานและแฝงสาระ แต่สิ่งที่จริงจังไปมากกว่านั้นคือ การวัดผลทางพฤติกรรมของสมองว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวรมากขึ้นหลังจากเล่นเกมนี้ หรือไม่ ซึ่งงานวิจัยนี้เขาจริงจังกันมาก

จริงๆแล้วฟังดูก็แอบน่ากลัวมาก หากใครใช้ประโยชน์จากเกมดังกล่าวไปในทางไม่ดี เพราะมันก็เหมือนเครื่องสะกดจิตประเภทหนึ่ง
(บางคนอาจจะถึงขั้นคิดว่าตัวเองเป็นตัวละครนั้นหรือมโนจินตนาการไปตามสื่อทางสังคม)

อย่างไรสำหรับข้อดีของดิจิตอลวัคซีนนั้น คือ สามารถจัดส่งไปยังคนที่มีสมาร์ตโฟนอยู่แล้ว (ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ของคนบนโลกใบนี้) ได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้นและไม่จำเป็นต้องเก็บในที่อุณหภูมิต่ำ และไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เข็มแทงเพื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย นอกจากนี้ยังสามารถอัพเกรดเวอร์ชั่นของวัคซีนได้อย่างรวดเร็ว

และในอนาคตวัคซีนโควิด-19 เราอาจจะได้รับวัคซีนจากทางมือถือของเราก็ได้ เพราะตอนนี้มีบริษัทที่อินเดียบริษัทหนึ่งลงทุนอย่างจริงจังร่วมมือกับมหาลัยชั้นนำในอเมริกา วางแผนชัดๆทำดิจิตอลวัคซีนสำหรับปราบโควิด-19 ที่กำลังระบาดมากอยู่ในอินเดียในขณะนี้

เพราะหน้าที่ของวัคซีนก็คือป้องกันไม่ให้เราเกิดโรค หากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของเราเปลี่ยนไป ความเสี่ยงต่อการที่เราจะเป็นโรคนั้นก็จะน้อยลง จริงมั้ยครับ

อย่างไรก็ตามฝากผู้อ่านทุกท่านอย่าลืมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ covid ในปัจจุบันด้วยนะครับ (เราคงไม่ต้องรอ app ให้มาสะกดจิตเรานะครับ) ด้วยความเป็นห่วงจากผู้เขียน

เขียนโดย
ดร. พงษธร โชติเกษมศรี