European Union ผลักดันกฎหมาย  right-to-repair เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถซ่อมอุปกรณ์ของตัวเองได้ง่ายขึ้น กฎหมายใหม่นี้จะขยายการรับประกันผลิตภัณฑ์หากเกิดความเสียหายภายใต้การรับประกัน ในขณะที่กำหนดให้ผู้ผลิตต้องซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ไม่ครอบคลุมอีกต่อไป ขั้นตอนต่อไปคือรอการอนุมัติจากประเทศสมาชิก

ปกติแล้วอุปกรณ์ที่วางขายในยุโรปนั้นจะมีการรับประกันอย่างน้อย 2 ปี แต่กฎหมายใหม่นี้จะมีข้อบังคับเพิ่มขึ้น ในกรณีที่อุปกรณ์ยังอยู่ในประกัน ลูกค้าสามารถเลือกที่จะซ่อมหรือเปลี่ยนเครื่องใหม่ได้ หากเลือกซ่อม ประกันจะขยายเพิ่มไปอีก 1 ปี

ในกรณีที่ประกันหมดแล้ว ทางผู้ผลิตยังต้องรับผิดชอบเรื่องการซ่อมผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนภายใต้กฎหมายนี้ เช่น สมาร์ตโฟน ทีวี เครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิด (รายชื่ออาจจะมีการเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต) นอกจากนั้นระหว่างซ่อม ทางบริษัทจะต้องมีเครื่องให้ยืมเพื่อใช้ชั่วคราว ในกรณที่ไม่สามารถซ่อมได้จะต้องมีเครื่อง refurbished ให้เป็นทางเลือก

EU ยังระบุด้วยว่าค่าซ่อมต้องมีราคาสมเหตุสมผล เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการซ่อม รวมถึงผู้ผลิตต้องเก็บสต็อกชิ้นส่วนและเครื่องมือซ่อม โดยไม่ใช้การกำหนดเงื่อนไขในสัญญาด้านฮาร์ดแวร์หรือซอฟท์แวร์ จนไปถึงการหยุดอัปเดตซอฟท์แวร์ในอนาคต

นอกจากนี้ ผู้ผลิตไม่สามารถห้ามการใช้ชิ้นส่วนอะไหล่มือสอง, ของแท้, อะไหล่ที่ใช้ร่วมกันได้ หรืออะไหล่ที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติโดยช่างซ่อมอิสระ ตราบใดที่เป็นไปตามกฎหมายของสหภาพยุโรป โดยไม่สามารถปฏิเสธที่จะซ่อมอุปกรณ์ที่เคยซ่อมโดยบุคคลอื่นมาแล้ว รวมถึงไม่สามารถปฏิเสธการซ่อมแซมได้ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ

นอกจากจะช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดเงินแล้ว ยังช่วยลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ลด CO2 ที่เกิดจากกระบวนการผลิต/การขนส่ง เป็นต้น ซึ่งตอนนี้ในสหรัฐก็มีการพยายามผลักดันกฎหมายนี้ให้เกิดขึ้น ส่วนรัฐแคลิฟอร์เนียนั้นจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ โดยผู้ผลิตนั้นจะต้องมีสต็อกของชิ้นส่วน, เครื่องมือและคู่มือการซ่อมเป็นเวลา 7 ปีนับตั้งแต่วันที่เครื่องวางจำหน่าย ครอบคลุมสมาร์ตโฟนและอุปกรณ์อื่นๆที่มีราคามากกว่า 100 ดอลลาร์

ที่มา https://www.engadget.com/eus-new-right-to-repair-rules-force-companies-to-repair-out-of-warranty-devices-081939123.html