Mike Pompeo รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาเตรียมพิจารณาแบนแอป TikTok และสื่อสังคมออนไลน์จากจีนโดยให้เหตุผลเรื่องของความมั่นคง ในการล้วงข้อมูลผู้ใช้ส่งกลับให้รัฐบาลจีน

การแบนในครั้งนี้อันเป็นผลมาจากความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐที่เพิ่มขึ้น รวมถึงแอป TikTok และบริษัทเทคโนโลยีจากจีนมีการเติบโตอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในช่วง COVID-19 ที่ทำให้ผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด 

TikTok ถือเป็นแอปที่ออกมาทำตลาดในต่างประเทศ แยกออกมาจากแอปชื่อว่า โตวอิน Douyin ที่เปิดให้บริการเฉพาะในจีน ตอนนี้ TikTok ถือว่ากำลังเผชิญกับปัญหาอย่างหนัก มีการแบนใน 58 ประเทศทั่วโลก นอกจากนั้นยังมีประเด็นเรื่องพรมแดนระหว่างจีนและอินเดียที่มีการปะทะกันจนทำให้ทหารอินเดียเสียชีวิตถึง 20 รายทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตึงเครียดขึ้น จนอินเดียประกาศแบนแอปจากจีน

ทาง Pompeo ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า “เรากำลังพิจารณาเรื่องนี้อย่างหนัก ซึ่งเราทำงานเรื่องนี้มาเป็นเวลานานแล้ว เริ่มตั้งแต่การใช้เทคโนโลยีของหัวเว่ยในโครงสร้างเครือข่ายการสื่อสารทั่วโลก ซึ่งทางสหรัฐพยายามไม่ให้มีการใช้งาน นอกจากนั้นยังประกาศว่า ZTE มีอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศ  ซึ่งแอปจากจีนเองก็กำลังจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์แบบเดียวกัน”

เมื่อ Fox ถามว่าคนอเมริกันควรโหลดแอป Tiktok หรือไม่ ทาง Pompeo บอกว่า “ถ้าอยากให้ข้อมูลส่วนตัวของคุณไปอยู่ในมือของพรรคคอมมิวนิสต์ก็เชิญเลย”

ตัวแทนของ TikTok ออกมาบอกว่า ตอนนี้ผู้บริหารของ TikTok นั้นคือ Kevin Mayer อดีตผู้บริหารของ Disney ซึ่งเป็นชาวอเมริกัน เน้นย้ำเรื่องของความปลอดภัยผู้ใช้เป็นอันดับแรก ไม่เคยมีการส่งข้อมูลให้กับรัฐบาลจีน ซึ่งข้อมูลของผู้ใช้ในอเมริกานั้นจะเก็บไว้ในศูนย์ข้อมูลในอเมริกา และมีการสำรองข้อมูลไว้ที่สิงคโปร์ ซึ่งทาง TikTok บอกว่าเซิร์ฟเวอร์ทั้งหมดตั้งอยู่นอประเทศจีน ซึ่งไม่มีที่ไหนเลยที่อยู่ใต้ข้อบังคับของกฎหมายจีน

TikTok หยุดให้บริการในฮ่องกง 

ในขณะเดียวกัน TikTok ก็ประกาศหยุดให้บริการในฮ่องกงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่มั่นใจกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ที่ทางรัฐบาลจีนเพิ่งประกาศออกมา ซึ่งครอบคลุมการบังคับใช้ในฮ่องกงซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษด้วย

มีความเป็นกังวลว่ารัฐบาลจีนจะใช้กฎหมายฉบับนี้ในการจัดการกับผู้ประท้วงในฮ่องกงที่กินระยะเวลานานเป็นปีแต่ยังไม่สามารถยุติได้ ด้วยเหตุผลนี้ทาง TikTok จึงประกาศหยุดให้บริการในฮ่องกง

นอกจากนั้นบริษัทเทคโนโลยีหลายรายก็เริ่มแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับกฎหมายฉบับใหม่ที่บังคับใช้ในฮ่องกงโดยเฉพาะบริษัทจากสหรัฐไม่ว่าจะเป็น Google, Facebook, Twitter ที่ออกมาบอกว่าจะหยุดร่วมทำงานกับผู้บริหารของฮ่องกงในเรื่องของการร้องขอข้อมูลเพื่อพิจารณากฎหมายฉบับใหม่ให้ถี่ถ้วนก่อน

ที่มา CNBC