หลังจากที่ Apple ประกาศเปิดตัว AirPods เจน 3 ถือว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งวันนี้ทีมงานได้มีโอกาสฟังเบื้องหลังจากทำงานหลายอย่างจาก Gary Geaves รองประธานฝ่าย Accoustic ของ Apple ผู้อยู่เบื้องหลังการพัฒนา AirPods ถึงความน่าสนใจในการพัฒนา

AirPods หูฟังไร้สายยอดนิยม

Gary Geaves รองประธานฝ่าย Accoustic ของ Apple บอกเล่าว่า สาเหตุที่ AirPods เป็นหูฟังไร้สายที่ครองใจใครหลายคน เพราะเป็นดีไซน์แบบ On-ear เพราะไม่อุดเข้าไปในหูเหมือนกับ  AirPods Pro ที่ใส่ติดกันนานๆทั้งวันอาจจะรู้สึกไม่สบายหูได้

AirPods เจน 3 มาพร้อมดีไซน์ใหม่ น้ำหนักเบา ใส่สบายแบบ Open fit ใครๆก็ใส่ได้ ห็นรูปทรงแบบนี้ แต่ด้านการออกแบบถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมากเพราะสรีระหูของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ทำให้เวลาสวมใส่แล้วแน่นไม่เท่ากัน ในขณะเดียวกันต้องควบคุมให้คุณภาพเสียงเหมือนกันไม่ว่าจะใช้งานกับใบหูแบบไหน

สิ่งที่ Apple ให้ความสำคัญคือ คุณภาพเสียง ซึ่งใน AirPods เจน 3 เป็นครั้งแรกที่ใส่ฟีเจอร์ Adaptive Equalizer มาให้แบบเดียวกับ AirPods Pro โดยจะปรับเสียงเพลงให้เข้ากับหูของเราโดยอัตโนมัติ ซึ่งเขาจะใช้ไมโครโฟนด้านในคอยจับเสียงว่ากำลังเล่นเพลงอะไรอยู่จากนั้นก็จะคอยปรับเบส ปรับเสียงย่านความถี่กลางให้อัตโนมัติแบบเรียลไทม์เพื่อให้ได้คลื่นเสียงที่สม่ำเสมอ นั่นหมายความว่าเราจะได้ยินเสียงแบบเดียวกับที่คนแต่งเพลงตั้งใจให้เราได้ยิน

เบื้องหลังคือการผสมผสานระหว่างซอฟท์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่ออกแบบและปรับแต่งให้ทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดีเพื่อให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีที่สุด

  • ไดรเวอร์ที่มี distortion ต่ำเพื่อให้ได้เสียงที่สมบูรณ์ ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญ
  • การลดแรงดันในช่องหูด้วยการออกแบบลำโพงให้เป็น Multivent design จากนั้นก็ปรับแต่งให้ไดร์เวอร์เคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ เพื่อให้สร้างเสียงย่านความถี่ต่ำที่มีคุณภาพในขณะที่ลด distortion ให้น้อยที่สุด
  • Amplifier ออกแบบใหม่ ให้ Dynamic range สูงขึ้น ในขณะที่ความหน่วงต่ำลง
  • ชิป H1 ทำให้ได้เสียงที่มีคุณภาพ แต่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่น้อยลง

การปรับแต่งเสียง (Tuning)

Apple ให้ความสำคัญกับเรื่องเสียงเป็นอย่างมาก เพราะจะสร้างอารมณ์ทำให้เราอินไปกับเพลงนั้นได้ โดยเขามีทีมภายในทำก็การวิจัยและเก็บสถิติว่าเสียงแบบไหนที่คนชอบ ทดลองฟังเสียงจากหูฟังรุ่นต่างๆ เพื่อสร้างมาตรฐานกลาง รวมถึงทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านเสียงเพื่อสร้างลายเซ็นต์ สร้างสมดุลย์ระหว่างเทคโนโลยีและศิลปะอย่างลงตัว

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องยากเพราะ เสียงคือสิ่งที่แต่ละคนรับรู้ได้ผ่านการทำงานของสมอง นั่นจึงทำให้ฟีเจอร์ใหม่อย่าง Head Tracking Spatial Audio น่าสนใจ เพราะ Apple ต้องการให้ผู้ฟังได้ประสบการณ์แบบสมจริงรอบทิศทาง เหมือนเรากำลังฟังนักดนตรีเล่นอยู่ตรงหน้า หรือเข้าไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ ขณะเดียวกันเสียงที่ได้ต้องเป็นธรรมชาติ

มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการได้ยิน ทั้งตัวคนฟังเอง ประเภทคอนเทนท์ที่เสพ จนไปถึงอุปกรณ์ที่ใช้ แถมแต่ละคนเองก็มีความสามารถในการตรวจจับเสียงรอบตัวไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับลักษณะศีรษะของแต่ละคนด้วย แต่ลักษณะเฉพาะของแต่ละคนนี้สามารถแยกแยะได้ด้วยคณิตศาสตร์ นั่นก็คือ HRTF (Head Related Transfer Function) ซึ่ง Apple ได้ใช้ข้อมูลจากคนกว่าพันคน เพื่อปรับแต่ง Head Tracking Spatial Audio เพื่อจำลองเสียงสามมิติ ทำงานได้ดีกับทุกๆคน

อีกปัจจัยนึงก็คือ การเคลื่อนไหวของศีรษะ เพราะเรามักจะหันไปทางทิศที่กำเนิดเสียง ซึ่งเซ็นเซอร์อย่าง Gyro และ Accelerometer มาช่วยตรวจจับและพยากรณ์การเคลื่อนไหวโดยการอัปเดทแบบ Real-time ทำให้เกิดเสียงแบบรอบทิศทางที่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของเรา

นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องของการจัดวาง ตำแหน่งของ Virtual Speaker ทำยังไงให้ได้ประสบการณ์แบบ Immersive มากที่สุด จนไปถึงคอนเทนท์ของการ Playback ฟังเพลง ดูหนัง ฟัง Podcast เองก็มีผลเกี่ยวข้องทั้งหมด

ไม่ใช่แค่ความบันเทิง การสื่อสารก็สำคัญ

ในช่วงสถานการณ์โควิด ทาง Apple ได้มองเห็นเทรนด์การใช้งาน คนส่วนใหญ่ใช้หูฟังมากขึ้นไม่ใช่แค่ดูหนังฟังเพลงหรือโทรออกรับสายเท่านั้น แต่หันมาใช้ในการ Work From Home , ประชุมและเรียนผ่านออนไลน์มากขึ้น การโทรอีกฝั่งนึงไม่ใช่แค่ได้ยินแค่เสียงพูด แต่ยังมีเสียงจากสภาพแวดล้อม มีเสียงลมด้วย ซึ่งทาง Apple เอาปัจจัยเหล่านี้มาคำนวณร่วมด้วยเวลาพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ การออกแบบผ้าตาข่ายกรองเสียงให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อให้ได้รับเสียงที่ชัดเจนขึ้น เสียงรบกวน เสียงลมน้อยลง

นอกจากนั้นั้นยังมี Super Wide Band ช่วยเพิ่มแบนด์วิดธ์มากขึ้นทำให้เสียงเป็นธรรมชาติมากขึ้น  เมื่อมารวมกับไมโครโฟนที่กินพลังงานต่ำ ส่งผลให้ใช้งานได้ยาวนานขึ้น