หากยังจำกันได้กับเหตุการณ์ของเที่ยวบิน MH17 ของ Malaysia airline ที่ถูกขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานยิงตกเหนือน่านฟ้าของยูเครนจากความเข้าใจผิด โดยเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 เที่ยวบิน MH17 ซึ่งบินด้วยเครื่องบินโบอิง 777 ประสบเหตุตกใกล้กับเมืองฮราโบฟ จังหวัดโดเนตสค์ประเทศยูเครน ห่างจากชายแดนยูเครน/รัสเซียประมาณ 40 กิโลเมตรส่งผลให้ผู้โดยสาร 283 คนและลูกเรือ 15 คนบนเครื่องเสียชีวิตทั้งหมด และสาเหตุนั้นก็เกิดจากความเข้าใจผิดของกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนที่ได้รับการหนุนหลังจากรัสเซียที่เข้าใจผิดว่าเป็นเครื่องบินลำเลียงของกองทัพยูเครนและได้ยิง MH17 ร่วงจากฟ้าจนเป็นเหตุสลด ปัจจุบันการสอบสวนและดำเนินคดียังคงดำเนินอยู่โดยมีผู้ต้องหาที่ต้องรับผิดชอบ 4 คนเป็นชาวรัสเซีย 3 คนและยูเครน 1 คน

นี่คือเหตุการณ์ที่เครื่องบินพลเรือนถูกโจมตีจากขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานที่มีความสูญเสียมากที่สุดและเป็นข่าวดังไปทั่วโลก แต่นี่ก็ไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งเดียวที่เครื่องบินพลเรือนถูกคุกคามจากขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน ซึ่งก็ได้มีรายงานเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยในรอบ 50 ปีที่ผ่านมามีรายงานเครื่องบินพลเรือนที่ถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานแบบพกพาหรือ man-portable air-defense systems (MANPADS) กว่า 42 ครั้ง ทำให้ FAA หรือองค์การบริหารการบินแห่งชาติของอเมริกาได้นำเสนอแนวคิดให้เครื่องบินพลเรือนติดตั้งระบบอาวุธเลเซอร์สำหรับต่อต้านขีปนาวุธที่พุ่งเข้าโจมตีในกรณีที่ตกเป็นเป้าหมายไม่ว่าจะด้วยเหตุใด

โดยในเอกสารข้อเสนอแนะของ FAA ได้ระบุถึงข้อแนะนำการติดตั้งระบบอาวุธเลเซอร์ให้กับเครื่องบินขนส่งสินค้ารุ่น Airbus A321-200 ของ FedEx ซึ่งประกอบไปด้วยระบบตรวจจับขีปนาวุธที่เป็นภัยก่อนที่จะทำการยิงเลเซอร์อินฟราเรดออกมาภายนอกเครื่องเพื่อเป็นการรบกวนระบบนำวิถีของขีปนาวุธที่ค้นหาเป้าหมายด้วยระบบค้นหาความร้อนหรือ heat-seeking missiles ทำให้พลาดเป้าหมาย

จากภาพ: เครื่อง Airbus A321-200 ของ FedEx

สำหรับการติดตั้งระบบอาวุธเลเซอร์ต่อต้านขีปนาวุธนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับ FedEx เพราะได้มีการทดลองใช้งานมาตั้งแต่ปี 2006 โดยทำการติดตั้งระบบ McDonnell Douglas MD-10 จาก Northrop Grumman ซึ่งจากการทดสอบกว่า 16,000 ชั่วโมงบินกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ ก็ได้รับรองว่าระบบดังกล่าวมีขีดความสามารถในการป้องกันภัยจากขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานแบบพกพาได้

ถ้าหากระบบป้องกันภัยจากขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานนี้เป็นอุปกรณ์มาตราฐานให้กับเครื่องบินโดยสารทุกลำได้ก็คงดี คงจะช่วยลดเหตุน่าสลดที่ไม่ควรต้องเกิดได้

************************************************************************************************************************

อ้างอิง

https://interestingengineering.com/fedex-aircraft-to-carry-anti-missile-laser-countermeasures

https://www.graphicnews.com/en/pages/15471/military-sam-missile-protection-system

https://www.thedrive.com/the-war-zone/43895/fedex-wants-to-equip-airbus-a321s-with-anti-missile-laser-countermeasures