ลองนึกภาพว่า ระหว่างที่เรานั่งช้อปออนไลน์ หรือ อ่านเว็บอะไรสักอย่าง แล้วมีคนร้อยคนยืนรอดูว่าเราจะกดอะไร เพื่อทำการเอาชุดข้อมูลเกี่ยวกับตัวเราไปขาย จะเป็นยังไงต่อ?

แต่ก็น่าคิดว่าข้อมูลเรามีมูลค่าขนาดนั้นเลยหรอ? เพราะหลายคนคงลืมเกี่ยวกับข้อนี้ไป แน่นอนค่ะนี่คือที่มา ของโฆษณาใหม่แอปเปิ้ล ที่เน้นย้ำเรื่องของความเป็นส่วนตัวเป็นหลัก

รู้แหละว่าหลายคนเริ่มรำคาญไอโฟนเวลาถามบ่อยๆ แล้วแหละ ทุกครั้งที่จะ ท่องเน็ต เล่นแอป มันจะถามเราว่า อนุญาตให้แอปติดตามหรือไม่ ( Allow “App” to track your activity?) ถามบ่อยมากกกกก จนแบบกดกดไปเถอะ

แต่คุณรู้ไหมว่า ถ้าเราละเลย เฉยๆ ไม่ได้ใส่ใจกับกิจกรรมที่เราท่องเล่นบนโลกออนไลน์ เราสามารถโดนดักเก็บข้อมูลหรือติดตามเพื่อเอาข้อมูลไปทำอะไรต่อได้เยอะแยะมากมายมาก เหมือนในโฆษณาที่แอปเปิ้ลทำเลย แต่ถ้าเรากด บอกแอปไม่ให้ติดตาม (Ask app not to track) ก็จะไม่มีใครสามารถเก็บข้อมูลเราไปทำอะไรได้ ไม่ให้ตาม ตัวตนจะถูกปกปิด

โลกมืดทีเราไม่ทันคิด เพราะบางทีโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มต่างๆ รู้จักเรามากกว่าเรารู้จักตัวเองเสียอีก บางทียังแอบ ‘งง’ เลย เหมือนมีคนมาแอบนั่งฟังใกล้ๆ รู้ได้ไง? จริงๆต้องบอกว่า ถ้าคุณสังเกตดีดี โฆษณาตัวนี้ แบ่งหมวดหมู่ข้อมูลออกเป็น 3 พาร์ทด้วยกัน

SAFARI การท่องเว็บ ข้อมูลที่เปิดอ่าน

ใครจะไปรู้ว่า เว็บที่เราเข้าไปอ่าน ไปดู เราสามารถถูกติดตามได้ทุกเว็บ เพื่ออะไรรู้ไหม? เพื่อที่เขาจะได้โฆษณาของและบริการเราได้ไง เคยไหม ส่องที่เที่ยวอยู่ แปปเดียวมีห้องพักจาก Agoda เด้งมาเพียบ

ข้อนี้แอปเปิ้ลแนะนำว่า ให้ลองดูเรื่องของ Intelligent Tracking Prevention เรียกว่าเป็น Advance Machine Learning ที่แอปเปิ้ลใช้เพื่อดูแล้วแยกแยะตัวสอดส่องตัวติดตามแล้วทำการบล็อกทันที

สิ่งนึงที่มั่นใจได้คือข้อมูลที่อยู่ในเครื่องของเรา จะไม่ถูกส่งไปที่ Apple แน่นอน Safari จะทำหน้าที่คอยดูตลอดว่า เราเล่นอะไรบ่อยที่สุด ถ้าเข้าบ่อยแปลว่า เราสนใจจริง แต่! ถ้าเราไม่เคยเข้าหน้าเว็บโดยตรงเลย เข้าผ่านเว็บอื่นๆมา แปลว่าอาจจะเป็นสิ่งที่เราไม่ได้สนใจ

การทำงานคือเขาจะคอยดูกิจกรรมของเราถ้าภายในช่วง 30 วัน เราไม่ได้กลับไปดูเว็บนั้นเลย ข้อมูลและคุกกี้ของเว็บนั้นจะถูกจำกัดทันที

เราสามารถป้องกันเพิ่มเติมไม่ให้ติดตามข้ามไซต์ใน Safari บน Mac ได้ด้วย โดยเข้าไปที่การตั้งค่าของ Safari แล้วคลิกที่ ‘ความเป็นส่วนตัว’
จากนั้นให้เลือก “ป้องกันไม่ให้ติดตามข้ามไซต์” เพราะว่าบางเว็บไซด์ที่เราเข้าไป เขาอนุญาตให้บริษัทที่เก็บข้อมูลหรือ tracker เข้ามาสอดส่องดูกิจกรรมของเราได้

รวมถึงเรายังสามารถตรวจสอบได้ด้วย Privacy Report หรือเข้าใจง่ายๆว่า รายงานการติดตาม ที่เขาทำสรุปให้เราเรียบร้อยว่าเว็บไหนแอบติดตามเรา

วิธีการกดดู Privacy Report ง่ายที่สุด ให้สังเกตสัญลักษณ์คล้ายโล่ แบ่งครึ่งสองสี ตรงแทบช่องที่ไว้พิมพ์ URL กดสัญลักษณ์นี้มันก็จะรายงานขึ้นมาทันที

ใน iPhone ก็สามารถทำได้นะ เขาไปที่ setting (การตั้งค่า) เลือก privacy (ความเป็นส่วนตัว) ไปที่ App Privacy Report (รายงานความเป็นส่วนตัวของแอป) แล้วให้เปิดค่ะ

อีเมล รายการสั่งซื้อของ ธุรกรรมการเงิน

ใครจะไปรู้ว่าการที่เช็คเมลต่างๆ อาจจะมีคนคอยแอบส่องดูเราก็ได้ ไม่ว่าจะกล่องอีเมลขาเข้าของเรา หรือจะธุรกรรมการเงินต่างๆ

ถามว่าถ้าเขาส่อง ส่องอะไรได้บ้าง? แน่นอนเลยว่าเวลา! เขาสามารถดูได้ว่าคุณดูข้อความเมื่อไรและดูกี่ครั้ง คุณส่งต่อข้อความหรือเปล่า รวมถึงที่อยู่ IP ของคุณ ดังนั้นสิ่งที่เราควรทำเลยก็คือ ใช้การปกป้องความเป็นส่วนตัวของเมล เข้าไปที่การตั้งค่า แล้วเลือกความเป็นส่วนตัว และให้เปิด Protect Mail Activity (ปกป้องกิจกรรมเมล)

เปิดแล้วช่วยอะไร?

อย่างแรก ที่อยู่ IP ของเราจะถูกซ่อนทันที ก็แปลว่าจะปลอดภัยขึ้น เพราะเขาก็ไม่สามารถเอาไปทำอะไรต่อได้ การที่เขารู้ IP เขาสามารถใช้มันยึดข้อมูลที่มีค่าได้เลยนะ รวมถึงการดูตำแหน่ง รวมถึงข้อมูลประจำตัวออนไลน์ต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าข้อมูลนี้เป็นจุดเริ่มต้นก็การแฮ็กต่าง ๆ เลยแหละ

อีกอย่างที่เราสามารถทำได้ก็คือ ซ่อนอีเมล มันเป็นการสร้างที่อยู่อีเมลแบบสุ่มที่ไม่ซ้ำกันเพื่อใช้กับแอป เว็บไซต์ และอื่นๆ เพื่อให้อีเมลของเราเป็นส่วนตัว

สังเกตไหมเวลาที่เราโหลดแอปแล้วเริ่มสมัครจะมีข้อความขึ้นมาถามว่า ลงชื่อเข้าใช้ด้วย Apple ตรงนี้นี่แหละ มันจะมีคำว่า Hide my email เขาจะสร้างบัญชีโดยใช้ที่อยู่อีเมลที่สุ่มสร้างขึ้นมาแทน

แต่มั่นใจได้ว่า Apple จะไม่อ่านเนื้อหาใดๆ ในข้อความอีเมล ยกเว้นเพื่อทำการกรองสแปมแบบมาตรฐานที่จำเป็นเท่านั้น ข้อความอีเมลทั้งหมดจะถูกลบจากเซิร์ฟเวอร์หลังจากที่ส่งอีเมลให้คุณแล้ว โดยปกติจะใช้เวลาภายในไม่กี่วินาที

Location ตำแหน่งและสถานที่ที่เคยไปมา

สุดท้ายเรื่องของ Location ไปไหน ทำอะไรมา เก็บแผนที่การเดินทางของคุณ เพื่อคอยดูว่า เราชอบทำอะไร เราสามารถตั้งค่าตำแหน่งที่ตั้งเราแบบไม่ต้องเป๊ะก็ได้ ตั้งเป็น Approximate Location (ตำแหน่งที่ตั้งโดยประมาณ) มันจะซ่อนตำแหน่งจริงของเรา เพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับเรา

รวมถึงบนไอโฟนเรายังสามารถตั้งได้ตลอดว่าให้แอปต่างๆ เข้าถึงตำแหน่งที่ตั้งของเราหรือไม่ ซึ่งมันจะคอยเด้งเตือนเราตลอด จะให้เข้าถึงครั้งเดียวหรือแค่ตอนใช้แอปเท่านั้น

ปิดท้ายแถมให้อีกอัน หลายคนอาจจะมีการแชร์ ส่งต่อคอนแทคให้เพื่อนบ้าง แต่บางทีเราก็มี Note ไว้ว่าคนนี้เป็นใคร เป็นโน้ตส่วนตัวของเรา เวลาเราแชร์หรือส่งต่อรายชื่อ ข้อมูลเหล่านี้จะไม่ถูกส่งต่อไปด้วยนะ

ทั้งหมดนี้คือความพยายามของ Apple ที่ให้ชูความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้เป็นเรื่องสำคัญ หากเราลองดู ในหนึ่งวันเกิดอะไรกับขึ้นกับข้อมูลของคุณบ้าง จะเห็นได้ว่าเฉลี่ยหนึ่งแอปจะมีเครื่องมือติดตามการใช้งานถึง 6 ตัวด้วยกัน ซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลและการใช้งานต่างๆนี้จะถูกขายเพื่อนำไปใช้ด้านการโฆษณาแบบเจาะจงเป้าหมาย ทำให้อุตสาหกรรมโฆษณาขยายตัวจนมีมูลค่าสูงถึงปีละ 227,000 ล้าน ซึ่งโฆษณานี้จะเป็นตัวจุดประกายให้เราหันมาใใส่ใจเรื่องความเป็นส่วนตัวมากขึ้น