หลักการ “Uncanny Valley” บ่งบอกว่ายิ่งหุ่นยนต์ humanoid มีรูปลักษณ์ไม่ใกล้เคียงกับมนุษย์มากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งดึงดูดความสนใจของคนน้อยลงเท่านั้น และนี่คือหุ่นยนต์ที่พยายามก้าวข้ามหลักการนี้
ทีมนักวิจัยจาก University of Pisa ประเทศอิตาลี ได้พัฒนาหุ่นยนต์แอนดรอยด์เพศหญิงที่มีชื่อว่า FACE ซึ่งมาพร้อมกับการแสดงออกทางสีหน้าที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น จุดประสงค์ที่สร้างหุ่นตัวนี้ขึ้นมาก็เพื่อตอบคำถามว่า หุ่นยนต์สามารถแสดงอารมณ์ได้หรือไม่?
กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการแสดงอารมณ์บนหน้าของมนุษย์จะมีมากกว่า 100 มัด ซึ่งมีความแตกต่างในเรื่องของรูปร่างและฟังก์ชั่นการใช้งาน เพื่อที่จะสร้างใบหน้าของหุ่นยนต์ให้แสดงอารมณ์ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทางนักวิจัย Nicole Lazzeri และทีมงานได้ติดตั้งมอเตอร์จำนวน 32 ตัวรอบกะโหลกและลำตัวเพื่อจำลองการทำงานของกล้ามเนื้อต่างๆ เสริมด้วยการเขียนโปรแกรมที่มีชื่อว่า HEFES (Hybrid Engine for Facial Expressions Synthesis) เพื่อใช้ในการคำนวณและควบคุมมอเตอร์ให้ทำงานเพื่อแสดงอารมณ์ในรูปแบบที่ต้องการได้
HEFES จะทำการสร้าง Facial Action Coding System ที่มีการแบ่งแยกว่าอารมณ์แต่ละแบบต้องใช้การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อยังไงบ้าง ซึ่งระบบนี้มีใช้มาตั้งแต่ปี 1978 เป็นที่นิยมในหมู่ของนักจิตวิทยาและคนทำอนิเมชั่น HEFES จะช่วยเลือกการแสดงอารมณ์ให้กับหุ่น FACE ในรูปแบบที่ไม่ซับซ้อน เช่น กลัว, โกรธ, ขยะแขยง, ประหลาดใจ, มีความสุขหรือเศร้า
เมื่อนำหุ่นตัวนี้ไปทดสอบกับเด็ก 20 คน ซึ่ง 5 คนในนั้นมีอาการออทิสติก นักวิจัยได้ให้เด็กๆระบุชื่ออารมณ์ที่หุ่นตัวนี้แสดงออกมา ซึ่งเด็กทั้งหมดสามารถระบุอารมณ์สุข เศร้า โกรธได้อย่างถูกต้องโดยไม่มีปัญหาแต่อย่างไร แต่การระบุอารมณ์ประหลาดใจ, ขยะแขยงและกลัวยังทำได้ไม่ดีเท่าไหร่ เด็กบางคนก็บอกไม่ได้ ซึ่งนักวิจัยก็ต้องหาทางพัฒนากันต่อไปค่ะ
[youtube]http://youtu.be/zGbcbsYGysc[/youtube]VIA Gizmag