ในที่สุดคดีฟ้องร้องระหว่างแอปเปิ้ลและซัมซุงตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้วก็ได้ข้อยุติลง ทางคณะลูกขุนได้ลงความเห็นว่าซัมซุงละเมิดสิทธิบัตรบางส่วนของแอปเปิ้ล นำมาใช้ในอุปกรณ์พกพาของตัวเอง ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้ซัมซุงต้องจ่ายเงินค่าเสียหายให้กับแอปเปิ้ลถึง 1,051,855,000 เหรียญ แต่ก็ยังน้อยกว่าจำนวน 2,500 ล้านเหรียญที่แอปเปิ้ลยื่นไปตั้งแต่แรก แต่ก็ถือว่านี่เป็นชัยชนะครั้งใหญ่ของแอปเปิ้ลที่มีต่อซัมซุง

ในการพิจารณาคดี ศาลได้ให้คณะลูกขุนตอบแบบฟอร์ม 20 หน้า ที่บรรจุคำถาม 33 ส่วนเกี่ยวกับการลอกเลียนของอุปกรณ์สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตมากกว่า 20 รุ่นของซัมซุง นอกจากนั้นยังมีคำถามให้คณะลูกขุนตัดสินใจว่าซัมซุงลอกเลียนสิทธิบัตรต่างๆของแอปเปิ้ลหรือไม่ ทั้งในส่วนของการออกแบบซอฟท์แวร์, ฮาร์ดแวร์ รวมถึง “trade dress” (แง่มุมการออกแบบและฟังก์ชั่นอื่นๆที่ไม่ใช่ฟังก์ชั่นสำคัญของอุปกรณ์) ด้านล่างนี้คือสิทธิบัตรที่คณะลูกขุนเห็นแล้วว่ามีการละเมิดจริง:

ซอฟท์แวร์

  • Patent ‘381 (the “bounce back” action): อุปกรณ์ของซัมซุงทุกรุ่นที่ถูกกล่าวหาพบว่ามีการละเมิดจริง
  • Patent ‘163 (คลิก 2 ครั้งเพื่อเป็นการขยาย): คณะลูกขุนพบว่ามีอุปกรณ์ของซัมซุง 8 รุ่นเท่านั้นที่ไม่ได้ความผิด นอกนั้นพบว่ามีการละเมิดจริง
  • Patent ‘915 (ถ่างนิ้วเพื่อขยายและฟังก์ชั่นการ scroll): แอปเปิ้ลฟ้องว่ามือถือซัมซุง ยกเว้นรุ่น Intercept, Replenish และ Ace ที่มีการละเมิดสิทธิบัตรฉบับนี้ และคณะลูกขุนก็ตัดสินว่ามีความผิดจริง

สิทธิบัตรการออกแบบ (Design patents)

นี่คือส่วนที่ก้ำกึ่งระหว่างการออกแบบและซอฟท์แวร์ แต่ค่อนข้างมีแนวโน้มไปทางการออกแบบซะมากกว่าเพราะมีสิทธิบัตรการออกแบบรองรับ

  • Patent ‘087 (ด้านหลังของไอโฟน): อุปกรณ์ทุกรุ่นของซัมซุงยกเว้น Galaxy S 4G และ Vibrant ละเมิดสิทธิบัตรนี้
  • Patent ‘677 (ด้านหน้าของไอโฟน): นอกเหนือจากรุ่น Ace คณะลูกขุนพบว่าอุปกรณ์ของซัมซุงทั้งหมดมีความพยายามที่จะลอกเลียนสิทธิบัตรนี้
  • Patent ‘305 (การออกแบบไอคอนของแอพพลิเคชั่นบน iOS): อุปกรณ์ทั้งหมดของซัมซุงมีการละเมิดสิทธิบัตรนี้ เพราะไอคอนมีจุดที่เหมือนกันมาก แต่คณะลูกขุนก็บอกว่าตัดสินได้ยากทางซัมซุงเองก็น่าจะรู้ดีที่สุดว่าลอกหรือไม่
  • Patent ‘889 (ดีไซน์ของไอแพด – โดยเฉพาะ “clean front, edge-to-edge glass, thin bezel, thin outer border, และ rounded corners”): ซัมซุงและ Galaxy Tab ถูกตัดสินว่าไม่ได้ละเมิดสิทธิบัตรของแอปเปิ้ล

Trade dress (การออกแบบโดยรวม)

Trade dress คือ สไตล์โดยรวมของสิ่งนั้นๆ แต่จำกัดเฉพาะองค์ประกอบของการออกแบบที่ไม่เกี่ยวกับฟังก์ชั่นการใช้งาน

ทางซัมซุงแย้งว่าสิทธิบัตร D’893 ไม่มีการคุ้มครองแต่ทางคณะลูกขุนเห็นตรงข้้าม เพราะแอปเปิ้ลสามารถพิสูจน์ได้ว่า trade dress ของไอโฟน 3G ได้รับการคุ้มครอง ส่วนไอโฟนรุ่นอื่นๆและไอแพดไม่มีการคุ้มครอง trade dress คณะลูกขุนจึงตัดสินว่าซัมซุงรุ่น Fascinate, Galaxy S i9000, Galaxy S 4G, Showcase, Mesmerize และ Vibrant ทั้งหมดนี้นำ trade dress ของไอโฟน 3G มาใช้ ส่วนซัมซุงรุ่น Captivate, Continuum, Droid Charge, Epic 4G, Prevail, S2 (AT&T), S2 i9100, S2 (T-Mobile), Epic 4G Touch, Skyrocket และ Infuse 4G ไม่พบการลอกเลียน trade dress ของไอโฟน 3G แต่อย่างใด

ข้อกล่าวหาที่ซัมซุงฟ้องแอปเปิ้ล… และแพ้

แน่นอนว่าซัมซุงก็ฟ้องแอปเปิ้ลกลับว่าลอกสิทธิบัตรและเทคโนโลยีของตนเองเช่นกัน แต่คณะลูกขุนไม่เห็นว่าแอปเปิ้ลละเมิดสิทธิบัตรใดๆของซัมซุง ข้อกล่าวหานี้จึงตกไปและแอปเปิ้ลจึงไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับซัมซุง

บทสรุป

ถึงแม้ว่าแอปเปิ้ลจะไม่ได้ชนะในทุกข้อหาที่ฟ้องไปทั้งหมด แต่ก็ถือว่าเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ คดีนี้จะส่งผลให้ในอนาคตข้างหน้าแอปเปิ้ลสามารถยึดครองตลาดทั้งส่วนของ consumer electronics และระบบสิทธิบัตรในอเมริกาได้เป็นเวลาอีกหลายปี แม้ว่าค่าเสียหายที่ซัมซุงต้องจ่ายก็ถือว่าเล็กน้อยมาก คิดแล้วก็แค่ 0.0725 % จากรายได้ทั้งหมดของปี 2011 เท่านั้น (ซัมซุงมีรายได้ปี 2011 ประมาณ 145,000 ล้านเหรียญ) เงินแค่นี้ไม่ทำให้ซัมซุงล้มหายตายจากไปจากธุรกิจได้เลย

แต่อย่างไรก็ตาม ผลของคดีนี้อาจจะส่งผลไปไกลและกว้างกว่าที่คิดกับอุตสาหกรรม consumer technology นั่นก็คือจะทำให้สิทธิบัตรถูกมองว่าเป็นสินค้าตัวหนึ่งที่นำมาซื้อขายกันได้ บริษัทใหญ่ๆมักจะจดสิทธิบัตรไว้เยอะอยู่แล้วเพื่อสร้างความได้เปรียบและกีดกันคู่แข่ง แต่ต่อไปอาจจะทำให้บริษัทคิดอะไรได้ก็จดสิทธิบัตรกันเอาไว้ก่อน แล้วค่อยพัฒนานวัตกรรมทีหลัง ซึ่งนั่นขัดกับวัตถุประสงค์ของระบบสิทธิบัตรที่มุ่งเน้นให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ

VIAdigitaltrends