ประเด็นของ iPhone 5C หรือ iPhone 5 สี (เวอร์ชันคัลเลอร์ของ iPhone 5) ที่ซีเรียกน่าจะชัดเจนสำหรับเพื่อนๆ ว่ามันคืออะไร? และมีดีอย่างไร? แต่สำหรับ  iPhone 5S รุ่นเรือธงยังมีบางเรื่องที่หลายคนอยากจะรู้…

นั่นก็คือ Touch ID หรือฟังก์ชัน “สแกนลายนิ้วมือ” (fingerprint) คุณสมบัติใหม่ของการทำงานที่ซ่อนอยู่ภายใต้ปุ่มโฮม ซึ่งหน้าที่หลักๆ ของมันก็คือ เปลี่ยนลายนิ้วมือของคุณให้กลายเป็นรหัสผ่านในการปลดล็อค (unlock) เจ้า iPhone 5S นั่นเอง นอกจากจะใช้สำหรับระบุตัวตนที่เป็นเจ้าของผ่านลายนิ้วมือแล้ว มันยังใช้ในการแสดงตัวตน เวลาช้อปปิ้งออนไลน์บน iTunes เพื่อยืนยันว่า คุณซึ่งเป็นเจ้าของ iPhone 5S เป็นคนซื้อแอพ หนัง หรือเพลงต่างๆ ด้วยตนเอง คาดว่า ในอนาคต Apple น่าจะใช้สแกนลายนิ้วมือ เพื่อระบุตัวตนนี้กับการชำระค่าสินค้ากับเว็บไซต์อื่นๆ ด้วย นั่นหมายความว่า iPhone 5S จะกลายเป็นกระเป๋าตังค์อิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet) ที่สามารถใช้ช้อปปิ้งสินค้าต่างๆ บนออนไลน์ได้อย่างมั่นใจ ซึ่งก่อนหน้านี้มีการคาดเดากันว่า iPhone 5S จะมากับ NFC ทีมีอยู่บนมือถือสมาร์ทโฟนคู่แข่ง แต่แล้ว Apple ก็ไม่เดินตามทางคู่แข่งจนได้ Think Different จริงๆ

ถึงตรงนี้เพื่อนๆ คงจะเข้าใจถึงความสำคัญ และประโยชน์ของ Touch ID ที่มาพร้อมกับ iPhone 5S แล้วนะคะ แต่สิ่งที่เชื่อว่า หลายคนคงอยากรู้ให้ลึกกว่านี้ ซึ่งซีได้อธิบายในคลิป iPhone 5Cee ไว้นิดหน่อย ว่าแล้วก็ถือโอกาสนี้ขยายความถึงการทำงานของมันให้ได้ทราบโดยทั่วกันในบล็อก DailyGizmo นี้ซะเลย แต่งานนี้ซีต้องหาข้อมูลจากแหล่งข่าวต่างๆ ทั้งออนไลน์ และกูรูที่รู้จัก เพื่อนำมาเล่าให้ฟังกันด้วยภาษาง่ายๆ นะคะ ความจริงเทคโนโลยีเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือมีอยู่ 2 – 3 แบบ โดยเจ้าตัวอ่าน หรือสแกนลายนิ้วมือโดยทั่วไปถ้าไม่เป็นการใช้แสงในการอ่าน (optical) ก็จะใช้ความสามารถในการประจุไฟฟ้า (capacitance) ซึ่งถ้าเป็นเครื่องอ่านลายนิ้วมือด้วย Optical ก็จะมีการทำงานที่เข้าใจง่ายมากค่ะ เพราะมันจะใช้วิธีคล้ายๆ กับการถ่ายรูปลายนิ้วมือของเราด้วยกล้องดิจิตอล แล้วนำภาพลายนิ้วมือที่ไม่ซ้ำใครไปสร้างเป็นแพทเทิร์น หรือรูปแบบ เพื่อเก็บเป็นรหัสดิจิตอล แต่ Apple แล้ว วิธีง่ายๆ อย่างนี้อาจจะไม่เท่พอ ดังนั้น ทางบริษัทจึงเลือกใช้เทคโนโลยีการอ่านลายนิ้วมือด้วยความสามารถในการประจุไฟฟ้า หรือ capacitance reader

แหม…ตอนแรกซีคิดว่าจะง่ายแล้วเชียว เพราะถ้าเป็นออปติคัลรีดเดอร์ก็เข้าใจไปแล้ว งานนี้ก็เลยต้องหาคำตอบต่อไปว่า แล้วเจ้าเทคโนโลยีการอ่านลายนิ้วมือด้วยความสามารถในการประจุไฟฟ้าที่ซ่อนอยู่ใต้ปุ่มโฮมของ iPhone 5S มันมีการทำงานอย่างไรกันแน่ หลังจากที่พยายามทำความเข้าใจจากการอ่าน และรับฟังมา – -” คำตอบที่ซีได้ก็คือ เทคโนโลยีการอ่านลายนิ้วมือแบบ capacitance reader ของ Touch ID จะใช้ความแตกต่างของคุณสมบัติในการนำไฟฟ้าของชั้นผิวหนังบนลายนิ้วมือของคุณ โดยเมื่อเราใช้นิ้วสัมผัสลงบนเครื่องอ่านลายนิ้วมือที่ซ่อนอยู่ในปุ่มโฮม ระบบก็จะทำการวัดค่าความแตกต่างของประจุไฟฟ้าที่เกิดขึ้นบนร่องลายนิ้วมือ (ส่วนที่ไม่นำไฟฟ้าจะเป็นผิวหนังชั้นนอกที่เห็นเป็นลายเส้น และส่วนร่องของลายนิ้วมือที่เป็นผิวหนังชั้นในจะนำไฟฟ้าได้) ของเรา จากนั้นนำข้อมูลดังกล่าว มาสร้างเป็นแพทเทิร์นของลายนิ้วมือขึ้นมาอีกทีหนึ่ง หวังว่า คงไม่งงกันนะคะ ทั้งนี้ Apple ได้ฝังเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือที่สามารถสร้างภาพด้วยวิธีข้างต้นที่ความละเอียด 500 ppi (pixel per inch) ไว้ใต้ปุ่มโฮม โดยมีกระจกแซฟไฟร์ที่แข็งแกร่งป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ ในขณะที่มีวงแหวนโลหะล้อมรอบปุ่มไว้ เพื่อตรวจจับการสัมผัสของนิ้ว เพื่อใช้ในการเปิดการทำงานของเซ็นเซอร์ Touch ID ค่ะ โห…แค่ปุ่มวงกลมที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณหนึ่งเซ็นติเมตร กลับมีเทคโนโลยีและระบบการทำงานที่ซับซ้อนซ่อนอยู่ในนั้น น่าอัศจรรย์จริงๆ เลยนะคะ อ้อ…แหล่งข่าวยังระบุอีกด้วยนะคะว่า เครื่องอ่านลายนิ้วมือที่ใช้แสงจะหลอก หรือโกงทำงานได้ง่ายมาก การก็อปปี้ลายนิ้วมือด้วยภาพ หรือสำเนานิ้วปลอมที่มีลายนิ้วก็ใช้ได้แล้ว นอกจากนี้มันยังมีความผิดพลาดจากรอยที่เกิดจากคราบมันบนนิ้วมือที่ติดอยู่บนกระจกสแกนได้ง่ายอีกด้วย เรียกว่า มันเป็นเทคโนโลยีที่ปลอดภัยน้อยกว่า capacitance reader นั่นเอง

หลังจากที่ความสำคัญ และการทำงานของ Touch ID เซ็นเซอร์อ่านลายนิ้วมือในปุ่ม Home ของ iPhone 5S กันไปแล้ว คำถามต่อมาก็คือ iPhone 5S จะมีการบันทึก “ลายนิ้วมือ” ของเราเก็บไว้ในเครื่อง หรือไม่? Apple ย้ำว่า ไม่มีการเก็บลายนิ้วมือของเพื่อนๆ ไว้ในเครื่องแต่อย่างใด โดยลายนิ้วมือที่ถูกสแกนเข้าไปจะอยู่ในรูปของตัวเลขที่ใช้คำนวณแพทเทิร์น ซึ่งใช้เป็นตัวแทนลายนิ้วมือของเรา ไม่ได้เก็บภาพลายนิ้วมือของเราเข้าไป ในขณะเดียวกันมันยังมีการเข้ารหัสข้อมูลนี้ด้วย ดังนั้นการจัดเก็บข้อมูลที่ได้จากการสแกนลายนิ้วมือด้วย Touch ID นอกจากจะไม่ใช่ภาพลายนิ้วมือแล้ว มันยังเป็นแค่ข้อมูลทีใช้แทนลายนิ้วมือที่ถูกเข้ารหัสอีกรอบหนึ่ง ชุดตัวเลขที่ใช้ในการเข้ารหัสข้อมูลของลายนิ้วมือก็จะถูกสร้างขึ้นจากฮาร์ดแวร์ที่อยู่ใน iPhone 5S ไม่ใช่ซอฟต์แวร์อีกต่างหาก ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความมั่นใจว่า มันแฮคได้ยากค่ะ เพราะทุกครั้งที่เพื่อนๆ ปั๊มนิ้วลงไป มันจะมีการเปรียบเทียบข้อมูลที่อ่านขึ้นมาจากลายนิ้วมือ ซึ่งต้องผ่านการเข้ารหัสลับที่เก็บอยู่ในเครื่อง แล้วได้ตรงกัน ไม่ใช่เทียบข้อมูลกันแบบตรงไปตรงมา แต่มีขั้นตอนที่ซับซ้อนนิดนึงค่ะ (ซีขออนุญาตไม่ใช่ศัพท์เทคนิคตรงนี้นะคะ เอาเท่าที่ซีเข้าใจ – -“) การมีขั้นตอนกลไกการจัดเก็บ และเปรียบเทียบข้อมูลลายนิ้วมือที่ได้จากการสแกนกับที่เข้ารหัสเก็บไว้ในเครื่องนี้ แม้ใครจะได้ iPhone 5S ของคุณไป ก็ไม่อาจจะถอดรหัสเพือหาแพทเทิร์นลายนิ้วมือที่จะใช้เจาะเข้าไปดูข้อมูลในเครื่องได้ แหม…ได้ยินอย่างนี้ ดูท้าทายแฮคเกอร์มากๆ เลยนะคะ

จากเรื่องยากๆ เรามาดูคำถามทั่วไปเกี่ยวกับการใช้ Touch ID แทน passcode ที่ไม่ยากกันบ้างดีกว่า บ่องตงซีเองก็เหนื่อยและงงไม่ใช่น้อยกว่าจะ get ต่อข้อคำถามที่ว่า แล้วการสแกนลายนิ้วมือจะปลอดภัยกว่าพาสโค้ดที่เคยใช้ หรือเปล่า คำตอบ ทั้งปลอดภัยกว่า และไม่??? อ้าว งงล่ะสิ ที่ว่าปลอดภัยกว่า เพราะเดายากมากๆ หรือแทบจะเรียกว่าเดาไม่ได้เลยจะดีกว่า ส่วนที่ว่าง่ายคือ ถ้าใครได้ชุดข้อมูลลายนิ้วมือคุณไป ทุกอย่างก็จบ ทั้งนี้แหล่งข่าวไม่ได้บอกว่าได้นิ้วของเราไปนะคะ แต่ถ้าอยากให้ปลอดภัยขึ้นไปอีกก็ fingerprint + passcode ไปเลย คำถามต่อมา คือ ถ้า finerprint ปลอดภัยกว่า เราก็ไม่เห็นต้องใช้ passcode อีกต่อไป คำตอบที่น่าสนใจก็คือ Apple คงต้องมีวิธีกู้ข้อมูลจากเครื่องด้วยรหัสพิเศษ หากเซ็นเซอร์ Touch ID ของเครื่องคุณใช้เกิดแตกหักเสียหายขึ้นมา อันนี้ซีก็ไม่แน่ใจเหมือนกันนะคะ แต่มันน่าจะมี plan B บ้างล่ะ อีกสักคำถามที่มาจากนักพัฒนาก็คือ พวกเขาสามารถพัฒนาแอพให้ทำงานร่วมกับ Touch ID ได้ หรือไม่ คำตอบคือ ได้ แต่จะไม่สามารถเข้าถึงลายนิ้วมือของเจ้าของได้

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=lfIDSx2OHgQ[/youtube]

เอาเป็นว่า สำหรับคำถาม และข้อสงสังเกี่ยวกับ Touch ID เทคโนโลยีมหัศจรรย์ใต้ปุ่ม Home ของ iPhone 5S ที่ซีนำมาฝากกันกันว่านี้ พอแค่นี้ก่อนก็แล้วกันนะคะ เดี๋ยวจะมึนตึ้บเหมือนซี – -” อย่างไรก็ตาม Apple ดูจะตื่นเต้นกับเทคโนโลยีนี้มาก เพราะมันเป็นการปฏิวัติรูปแบบการเข้าถึงเครื่องที่ไม่ต้องป้อนพาสโค้ดอีกต่อไป แต่ซีจำได้ว่า การใช้ fingerprint ในการเข้าถึงมือถือของเจ้าของมีใน Motorola Atrix ที่วางตลาดในปี 2011 แล้ว อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนมันจะทำออกมาได้ไม่ค่อยประทับใจเท่าที่ควร แบบว่า บางทีเจ้าของเครื่องสแกนลายนิ้วมือแล้ว แต่มือถือดันงอนไม่ให้เข้าใจซะงั้น – -” จบดีกว่า ยังไงก็ขอบคุณเพื่อนๆ ทุกท่านที่ติดตามผลงานของซีในทุกๆ หน้าจอนะคะ จุ๊บๆ

via techcrunch

[youtube]http://www.youtube.com/watch?v=qdVhe98wNic[/youtube]