ซีขอติดตามนโยบายการแจกแทบเล็ตเด็ก ป.1 ซึ่งตอนนี้เป็นภาค 2 แล้วนะคะ ต่อจากภาคแรกที่ให้มุ่งเน้นกลุ่มอายุ เลยขอพาไปดูกรณีศึกษาการแจกแท็บเล็ตจากประเทศอินเดียดีกว่า ซึ่งจะเห็นได้ว่าเราไม่ใช่ประเทศเดียวที่อยากแจก อินเดียเองก็แจกไปแล้วต้านกระแสวิจารณ์น่าดูทีเดียว
ซึ่งอินเดียตั้งงบประมาณ 6.5 พันล้านบาท ตั้งใจจะแจกให้หมดภายใน 5 ปี แต่ที่มีเสียงค้านเพราะ การแจกนี้ไม่มีการเขียนแผนหลักสูตรอะไรรองรับการแจกนี้เลย ว่าง่ายๆคล้ายว่าจะแจกเปล่าๆ ไม่มีหลักสูตรใหม่มารองรับ ไม่มีใครรับประกันว่าเด็กจะฉลาดชาติเจริญยังไง ทีแรกยังคิดว่า ไม่น่าจะเป็นอะไร เพราะอินเดียมีพัฒนาแท็บเล็ตของตัวเอง แต่พออ่านๆไปไฉนแจกยี่ห้อแบบ Acer และ HP ซะได้ แต่ถ้าถามซี รัฐตอนนี้อาจยังโชคดีกว่านโยบายแจกโน๊ตบุ๊คนิดหน่อย เพราะโน๊ตบุ๊ครัฐนอกจากจะมีค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องแล้ว ยังต้องซื้อลิขสิทธิ์โปรแกรมในเครื่องอีกซึ่งราคาเยอะพอสมควร
ซีชอบความคิดที่ เราอยากทำดีให้เด็กเพราะเด็กคืออนาคตของชาติ ชอบมากที่ เด็กที่อยู่ห่างไกลที่อยากใฝ่รู้ ใฝ่ดี จะมีโอกาสได้อ่าน ได้ดู ได้เจริญ แต่ไม่เคยมีใครไปถามเด็กจีนที่ขายไตแลกไอแพดว่า เค้าเอาไปเล่น Ragnarok หรือเอาไปต่อยอดสู่ความเจริญของชีวิต ตอนนี้เรากำลังพูดถึงคำง่ายๆ ที่พูดง่ายแต่ทำยากยิ่งกว่า นั่นก็คือคำว่า “จิตสำนึก” นั่นเองค่ะ อุปกรณ์ไฮเทคก็เหมือนอาหาร ซีขอเทียบมันกับสเต็กละกันค่ะ อร่อยแต่ให้เด็กเล็กหม่ำลงไปคงไม่เหมาะแน่ๆ จริงๆมีแท็บเล็ตในโลกหลายยี่ห้อหลายตัว ที่ทำมาใช้สำหรับเด็กโดยเฉพาะ โดยผู้พัฒนาก็จะคิดเผื่อว่าอะไรที่เหมาะสมกับเด็กเล็ก และอะไรที่ยังไม่ถึงวัยที่จะใช้ รวมไปถึงหลักสูตรในการศึกษาที่เข้าท่ากับการใช้แท็บเล็ตนี้ก็ควรต้องคำนึงถึงเช่นกันค่ะ