เมื่อวันก่อน Instagram ใช้งานไม่ได้เนื่องจากเซิร์ฟเวอร์ที่ตั้งอยู่ที่ทางเหนือของเวอร์จิเนียเกิดล่มเพราะโดนพายุพัดกระหน่ำจนใช้งานไม่ได้

บางทีคุณอาจจะเริ่มสงสัยแล้วว่าทำไมพายุที่โหมกระหน่ำทางชายฝั่งตะวันออกถึงทำให้แอพแชร์รูปยอดนิยมล่มไปได้ทั้งที่บริษัทของ Instagram ตั้งอยู่ที่ซานฟรานซิสโกทางชายฝั่งตะวันตก นั่นก็เพราะว่าเว็บยักษ์ใหญ่หลายๆเว็บ รวมถึง Instagram ใช้บริการของ Amazon ในการโฮสต์ทราฟฟิคและข้อมูลเอาไว้

บริการระบบ Cloud Computing สำหรับองค์กรนี้มีชื่อว่า Amazon Web Services (AWS) ซึ่งให้บริการองค์กรธุรกิจต่างๆใน 190 ประเทศทั่วโลก ทั้งบริษัทหน้าเก่าและหน้าใหม่นับแสนๆบริษัท ซึ่งบริษัทที่คุณรู้จักเป็นอย่างดีก็มี Pinterest, Netflix และ Heroku รวมถึง Instagram ของคุณด้วย หลายคนเปรียบเทียบ AWS ว่าเป็นเสมือนโค้กแห่งอุตสาหกรรม นั่นคงจะทำให้คุณพอเห็นภาพว่าบริการนี้ได้รับความนิยมและแพร่หลายขนาดไหน

AWS มีศูนย์ปฏิบัติการอยู่ที่โอเรกอนและทางเหนือของแคลิฟอร์เนีย นอกเหนือจากทางเหนือของเวอร์จิเนีย มีเพียงศูนย์ที่เวอร์จิเนียเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุ แต่นั่นก็เพียงพอที่จะทำให้ Instagram ใช้งานไม่ได้จนผู้คนสงสัย จนคำว่า “My Instagram” กลายเป็นเทรนด์ คำพูดบนทวิตเตอร์ที่มีคนทั่วโลกกล่าวถึงอย่างมากเป็นเวลาหลายชั่วโมง การล่มของ Instagram และเว็บอื่นๆนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงการแพร่กระจายของข่าวสารบนอินเตอร์เน็ตแล้ว แต่มันยังบ่งบอกเป็นนัยว่า cloud computing ไม่ได้เป็น solution ที่ดีที่สุดสำหรับเก็บข้อมูลทางธุรกิจและสิ่งที่จำเป็นสำหรับ IT

Amazon ได้เริ่มให้บริการ AWS ในปี 2006 โดยให้องค์กรธุรกิจฝากแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์, backup และเก็บข้อมูล, ใช้รันระบบ IT ขององค์กรผ่านระบบ cloud computing ซึ่งหน่วยงานต่างๆสามารถดำเนินงานได้อย่างรวดเร็วด้วยการเข้ามายังเซิร์ฟเวอร์นี้จากที่ไหนก็ได้ โดยจ่ายเป็นค่าเช่าและความจุเซิร์ฟเวอร์ที่ต้องการ ข้อดีก็คือการกำหนดสเกลของเซิร์ฟเวอร์ทำได้ง่ายขึ้น แถมบริษัทก็ไม่ต้องใช้ทรัพยากรภายในมาคอยมาดูแลฮาร์ดแวร์ของเซิร์ฟเวอร์

หนึ่งในผลิตภัณฑ์ของ AWS ก็คือ Elastic Load Balancing ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Elastic Compute Cloud (EC2) service บริการนี้จะช่วยให้องค์กรสร้างบริการ EC2 ในหลายๆพื้นที่ได้ พูดง่ายๆว่าถ้าระบบ Cloud ในพื้นที่ใดไม่สามารถทำงานได้ (อาจจะเป็นเหตุไม่คาดคิดอย่างพายุกระหน่ำหรือไฟดับ) มันก็จะทำการย้ายทราฟฟิคไป host ยังพื้นที่อื่นโดยอัตโนมัติ หลังจากนั้นบริการ load balancing จะถูก restored เพื่อให้พื้นที่ที่เหลืออยู่ใช้งานได้เหมือนเดิม แต่ถ้าหากบริษัทใดไม่ได้ใช้บริการนี้ (ยกตัวอย่างเช่น Instagram) ข้อมูลและทราฟฟิคต่างๆก็จะคงอยู่ในจุดให้บริการเดิมของ AWS และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นจึงทำให้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นอย่างที่เราเห็นๆกัน

VIA Mashable