นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีปริ้นเตอร์ 3 มิติในเชิงสร้างสรรค์ ด้วยการสร้าง exoskeleton ให้เด็กสาวคนนึงใช้แขนได้อย่างเป็นปกติ

นักวิจัยจาก Nemours/Alfred I. duPont Hospital for Children ได้พัฒนา exoskeleton ที่มีน้ำหนักเบาสำหรับเด็กหญิงอายุ 2 ขวบที่ชื่อว่า Emma เธอมีอาการของโรคข้อยึดติดตั้งแต่กำเนิด [arthrogryposis multiplex congenita: AMC] ซึ่งโรคนี้ทำให้ข้อต่อไม่สามารถงอได้ ยึดติดอยู่แค่ท่าเดียว

นั่นทำให้ Emma ไม่สามารถยกแขนขึ้นด้วยตัวเองเพื่อหยิบของหรือกอดกับพ่อแม่ได้ หลังจากที่พ่อแม่ของเธอได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับโรคนี้ และเข้าร่วมการประชุมทางการแพทย์เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับ Wilmington Robotic Exoskeleton (WREX)

ในที่สุด Emma ก็สามารถเข้ารับการทดสอบ WREX ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แต่เธอก็ยังเด็กเกินไป ไม่เหมาะกับแขนกลโลหะที่มีขนาดใหญ่

 

ทางนักวิจัยเลยพัฒนา WREX เวอร์ชั่นพิเศษสำหรับ Emma เพื่อให้เหมาะสมกับเธอด้วยการใช้  Stratays Dimension 3D printer มาสร้างชิ้นส่วนของแขนกลพลาสติกแบบเดียวกับที่ใช้ผลิตตัวต่อเลโก้

หลังจากนั้นก็นำชิ้นส่วนต่างๆมาประกอบเข้าด้วยกันและติดตั้งสายที่ช่วยลดแรงต้านทานเพื่อใช้ปรับแรงดึงระหว่างแขนทั้งสองข้าง

นอกจากนี้นักวิจัยยังสร้างเสื้อแจ็คเก็ตสำหรับ Emma เพื่อช่วยให้เธอเพิ่มความยืดหยุ่นเวลาใช้งานและเคลื่อนไหวในบ้าน ในที่สุดเธอก็สามารถใช้แขนทำกิจกรรมอย่างวาดภาพระบายสี, หยิบลูกกวาดขึ้นมาทาน หรือทำอะไรซุกซนแบบเด็กๆ จน Emma เรียกอุปกรณ์ชิ้นนี้ว่า “แขนเวทมนตร์”

ในกรณีที่ชิ้นใดเกิดเสียหาย พ่อแม่ของ Emma ก็แค่ถ่ายรูปชิ้นส่วนที่เสียส่งไปให้นักวิจัย ทางนักวิจัยก็จะส่งชิ้นส่วนใหม่มาให้ในวันรุ่งขึ้นทันที

ถึงแม้ว่าเมื่อตัว Emma เริ่มโตขึ้น เจ้า exoskeleton เวอร์ชั่นแรกก็จะใช้งานไม่ได้ แต่ปริ้นเตอร์ 3 มิติก็ยังสามารถกำหนดสเปคของชิ้นส่วนต่างๆและสั่งทำชิ้นส่วนใหม่ที่โตตามอายุออกมาได้

นี่จึงถือว่าเป็นการขยายขอบเขตการใช้งาน exoskeleton ในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งทางนักวิจัยก็ใช้อุปกรณ์ตัวนี้เป็นต้นแบบในการพัฒนาแขน WREX ที่มีน้ำหนักเบาสำหรับเด็กคนอื่นๆต่อไปค่ะ

[youtube]http://youtu.be/WoZ2BgPVtA0[/youtube]

VIA digitaltrends