เวลาที่คุณเข้าไปใช้งานโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ ซีเชื่อว่าน้อยคนที่จะอ่านเงื่อนไขการใช้งาน (terms of service) อย่างละเอียดครบทุกข้อ หลายคนมักจะกดยอมรับ ข้ามไปทั้งนั้น แต่คุณรู้หรือไม่ว่ามีเงื่อนไขบางข้อที่อาจจะละเมิดสิทธิของคุณเข้าเต็มๆเลย

1. รูปถ่ายของคุณอาจจะถูกนำไปขายได้

เว็บฝากรูปหรือแอพแชร์รูปส่วนใหญ่ อย่างเช่น Instagram ได้สงวนสิทธิ์การนำรูปไปใช้, การลบ, ดัดแปลงหรือเผยแพร่รูปถ่ายของคุณเอาไว้ แต่ Twitpic สำหรับแชร์ภาพบนทวิตเตอร์ก็นำสิทธิ์นี้มาใช้ประโยชน์ เนื่องจาก Twitpic มีเงื่อนไขห้ามห้ามนำรูปที่ถ่ายหรือโพสต์บน Twitpic ไปขาย แม้ว่ารูปนั้นคุณจะเป็นเจ้าของและถ่ายขึ้นมาด้วยตัวเอง แต่เมื่อปี 2011 ทางบริษัทได้เซ็นข้อตกลงในการขายภาพที่ถูกโพสต์ใน Twitpic ให้กับ World Entertainment Celebrity News Network นั่นหมายความว่าคุณอาจจะกลายเป็นปาปารัสซี่โดยไม่รู้ตัวหากคุณถ่ายภาพหลุดของเหล่าดาราด้วย Twitpic บนทวิตเตอร์ แถมรูปนั้นยังไม่ให้เครดิตว่าใครเป็นผู้ถ่ายหรือรายได้จากการขายรูปก็ไม่ได้ตกถึงคุณด้วย

2. ไม่สามารถลบบัญชีผู้ใช้ได้

Skype เป็นอีกบริการหนึ่งที่ผู้ใช้ไม่สามารถลบบัญชีผู้ใช้งานได้ในกรณีที่ต้องการเลิกใช้ ในส่วนของ FAQ บอกแค่เพียงว่าให้ผู้ใช้ลบข้อมูลส่วนตัวทั้งหมดแทน แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าข้อมูลเหล่านี้จะถูก Skype เก็บไว้ภายในบริษัทหรือไม่ หรืออย่างเว็บบล็อกอย่าง WordPress ก็ไม่มีการลบบัญชีผู้ใช้เช่นกัน

3. บริษัทสามารถติดตามการเข้าเว็บของคุณ แม้ว่าจะออกจากเว็บไปแล้วก็ตาม

หากคุณเข้าไปอ่าน Data Use Policy ของเฟซบุ้คก็จะพบว่าเค้าได้ใช้ cookies ใน browser เพื่อเก็บข้อมูลพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตของคุณ หลายๆเว็บมักจะมีการใช้ cookies อยู่แล้วแต่การใช้เก็บข้อมูลของเฟซบุ้คนั้นกว้างและลึกซึ้งกว่าที่คุณคิด  ถ้าคุณเข้าไปใช้งานเฟซบุ้ค เค้าก็จะเก็บข้อมูลทุกเว็บไซต์ที่คุณเข้าไป ถ้าหากเว็บเหล่านั้นมีปุ่ม “Like” หรือ “Share” และมันจะไปผูกข้อมูลชื่อและอีเมลของคุณเป็นเวลา 90 วัน แม้ว่าคุณจะ log out หรือไม่มีบัญชีเฟซบุ้ค ข้อมูลการท่องอินเตอร์เน็ตของคุณก็ยังอยู่ใน alphanumeric code ที่ผูกติดกับ IP address ของคุณอยู่ดี ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถเอาไปใช้หาเงินได้

4. ข้อมูลของคุณสามารถส่งให้หน่วยงานทางด้านกฎหมายโดยไม่ต้องแจ้งให้คุณทราบ

มีเว็บไซต์ไม่กี่แห่งที่มีการให้ข้อมูลแนะนำเรื่องนี้ แต่บริษัทส่วนใหญ่ก็ไม่ได้บอกตรงๆว่าเค้าจะจัดการกับข้อมูลของคุณอย่างไรเมื่อตำรวจมาเคาะประตูขอดูข้อมูล ส่วนใหญ่แล้วเค้าจะส่งข้อมูลให้โดยดี แถมยังไม่มีการแจ้งให้คุณทราบด้วย อย่างผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือเนี่ยเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด จากการสำรวจของ Electronic Frontier Foundation พบว่าทั้ง AT&T และ Verizon ไม่มีมีการแจ้งให้ลูกค้าทราบเลยเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐต้องการข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า ปีที่แล้วมีคำขอจากเจ้าหน้าที่ถึง 1.3 ล้านครั้งในการขอข้อมูล ตรวจสอบข้อความและข้อมูลเกี่ยวกับพิกัด ส่วนบริษัทอย่าง Apple และ Amazon ก็ไม่มีนโยบายแจ้งให้ผู้ใช้งานทราบเช่นกัน

5. ถึงแม้คุณจะลบเนื้อหาบางส่วนไป แต่ทางบริษัทยังสามารถเก็บข้อมูลนั้นเอาไว้ได้ 

แม้ว่าคุณจะสำนึกผิดจากการโพสต์รูปและข้อความที่ไม่เหมาะสม ด้วยการลบมันไปทันทีหลังจากโพสต์ลงไปในอินเตอร์เน็ต แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าข้อมูลเหล่านั้นจะถูกลบหายไปจากโลกนี้ในทันที หากคุณโพสต์ลงในเฟซบุ้ค เค้ามีสิทธิ์ที่จะเก็บข้อมูลที่ถูกลบใน “ระยะเวลาที่เหมาะสม” หรือถ้าโพสต์ลงใน Twitpic เค้าก็สามารถเก็บรูปนั้นได้ตลอดไปในกรณีที่รูปนั้นมีประเด็นทางกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือถ้าคุณทวีตข้อความบนทวิตเตอร์แล้วลบไป มันยังต้องใช้เวลาถึง 5 สัปดาห์กว่าที่รูปนั้นจะถูกลบไปจากเซิฟเวอร์ แน่นอนว่าสิ่งที่คุณโพสต์และแชร์ในอินเตอร์เน็ตมันจะถูกตรวจจับไว้โดย search cache ของกูเกิล จึงเป็นเรื่องยากที่จะลบข้อมูลเหล่านั้นออกไปอย่างถาวร

6. ไม่ว่าเงื่อนไขการใช้งานจะยุติธรรมหรือไม่ แต่ทางบริษัทสามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขตอนไหนก็ได้

หลายๆเว็บไซต์มักจะสงวนสิทธิ์ในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขข้อตกลงเมื่อไหร่ก็ได้ตามที่พวกเค้าเห็นว่าเหมาะสม อย่าง Yahoo จะไม่มีการแจ้งให้ทราบก่อน ส่วนบริษัทชื่อดังที่ให้ความสำคัญกับเงื่อนไขนี้ก็มี Instagram ก็มีเงื่อนไขว่าจะแจ้งให้ผู้ใช้ทราบก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลง กูเกิลจะให้เวลาคุณ 14 วันในการอ่านเงื่อนไขการใช้งานที่มีการเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะยอมรับว่าจะใช้งานต่อหรือไม่ ส่วนเฟซบุ้คถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขข้อไหนที่เกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวก็จะทำออกมาเป็นโพลให้ผู้ใช้ได้โหวตกันก่อน

นี่คือแค่เงื่อนไขบางส่วนที่คุณอาจจะกดข้ามๆไปไม่เคยอ่านให้ดีกันก่อน เพราะฉะนั้นครั้งต่อไปก็ลองอ่านให้ดีก่อนจะกดยอมรับจะได้ไม่มีปัญหาภายหลังนะ

VIA: moneyland