เป็นที่แน่นอนแล้วว่าการประมูล 1800 MHz ที่ทางกสทช.จะจัดขึ้นในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ล่มแน่นอน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ TRUE ออกมาประกาศแล้วว่าไม่สนใจประมูล
มาวันนี้ทาง AIS และ dtac ได้ยื่นเรื่องกับกลต.ว่าไม่เข้าร่วมการประมูล เนื่องจากราคาสูงเกินไป ไม่เหมาะสมต่อการลงทุน
สภาพแวดล้อมเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน
ล่าสุดทางผู้บริหาร dtac ได้จัดงานแถงข่าวแจงสาเหตุหลักที่ไม่เข้าร่วมประมูล สาเหตุหลักเพราะมีคลื่นย่านความถี่สูงเพียงพอต่อการใช้งาน เพราะ dtac นั้นเพิ่งประกาศจับมือกับทีโอทีใช้คลื่น 2300 MHz มาให้บริการ 4G LTE-TDD ด้วยความกว้างถึง 60MHz เรียกว่าเพียงพอต่อการใช้งานและชดเชยกับคลื่น 1800MHz ที่หายไป นอกจากนั้นยังมีคลื่น 2100 MHz ที่ได้จากการประมูลครั้งก่อนขนาด 15 MHz จำนวนสองสล็อต ด้วยจำนวนคลื่นในมือนั้นถือว่าดีแทคมีคลื่นย่านความถี่สูงมากที่สุดในผู้ให้บริการเครือข่ายทั้ง 3 ราย
แน่นอนว่าคลื่น 2300 MHz ก็มีข้อจำกัดคือเป็นคลื่นที่สั้นกว่า 1800MHz ทาง dtac เองก็แก้ปัญหาด้วยการลงทุนเพิ่ม เร่งตั้งเสาสัญญาณเพิ่มเพื่อให้สัญญาณครอบคลุม ถ้าหากมองย้อนไปในปีที่ผ่านมาอัตราการขยายสถานีฐานของดีแทคนั้นเติบโตอย่างรวดเร็วกว่าเดิมมาก โดยภายในปีนี้จะมีขยายสถานีฐาน 4G TDD อีก 4,000 แห่ง รวมๆแล้วสิ้นปีนี้ดีแทคจะขยายสถานีฐานทั้งหมดไม่น้อยกว่า 30,000 แห่ง
ราคาคลื่นสูงไป
เนื่องจากการประมูลครั้งก่อนมีปั่นราคาจากผู้ประมูลรายที่ 4 จึงทำให้ราคาสุดท้ายของคลื่นสูงกว่าความเป็นจริง ทางกสทช.เองก็ได้ใช้ราคาสุดท้ายของครั้งก่อนเป็นราคาตั้งต้นของของการประมูลครั้งนี้นั่นก็คือ 37,457 ล้านบาท ซึ่งไทยนั้นถือว่าราคาแพงเป็นอันดับ 2 รองจากอินเดียทุกค่ายก็มองตรงกันว่าราคาเริ่มต้นของการประมูลนั้นสูงเกินไป ไม่เอื้อต่อการแข่งขันในระยะยาว
ประการที่สองคือ การประมูลครั้งนี้จะมัดคลื่นเป็นล็อตใหญ่ ซึ่งจะประมูลใบอนุญาตละ 15MHz จำนวน 2 ใบ บางค่ายนั้นต้องการคลื่นเพิ่มแค่ 5MHz หรือ 10 MHz มาเสริมกับคลื่นที่มีอยู่แล้วมากกว่า จึงไม่มีเหตุต้องประมูลคลื่นเกินความจำเป็นที่ต้องใช้
ประการสามหลักการ N-1 นั้นอาจทำให้เกิดดีมานด์เทียม เพราะค่ายที่ไม่อยากได้คลื่นก็สามารถมาเคาะราคาได้ ทำให้ราคาสูงเกินจริง
ขาดแผน RoadMap บริหารจัดการคลื่นความถี่
อีกหนึ่งปัญหาก็คือ ในไทยยังมีอีกหลายคลื่นความถี่ที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น คลื่น 700 MHz รวมไปถึงคลื่น 2300 MHz หรือ 2600 MHz ที่ยังไม่มีการจัดสรร ทางค่ายต่างๆก็จดๆจ้องๆคลื่นเหล่านี้อยู่ซึ่งสามารถนำมาใช้ทดแทนกันได้
แน่นอนว่าถ้าหากทางกสทช.มีการวาง RoadMap ว่าคลื่นๆความถี่ต่างจะนำมาจัดสรรใช้ประโยชน์อย่างไร เมื่อไหร่ ซึ่งจะทำให้การวางแผนบริหารจัดการคลื่นความถี่ต่างๆได้ล่วงหน้า
dtac เตรียมแผนเยียวยาผู้ใช้ มั่นใจซิมไม่ดับ
ปัจจุบันคลื่น 1800MHz นั้นทางดีแทคเอาไว้ให้บริการ 2G ซึ่งแนวโน้มผู้ใช้นั้นก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางดีแทคเองก็ออกโปรโมชั่นจูงใจให้ผู้ใช้เปลี่ยนเครื่องมือถือมาใช้รุ่นที่รองรับ 3G/4G ตั้งแต่ต้นปี
นอกจากนั้นทางดีแทคยังจับมือกับ CAT ร่วมทำแผนเยียวยาส่งให้กับกสทช. คุมครองผู้ใช้ชั่วคราวในกรณีที่ใบอนุญาตหมดอายุและยังไม่มีผู้ที่ครอบครองคลื่น โดยดีแทคจะสามารถใช้งานคลื่นได้ไปสูงสุด 1 ปีจนกว่าจะมีผู้รับอนุญาตรายใหม่ แบบเดียวกับที่ค่ายทรูและ AIS ได้รับการคุ้มครองในอดีต นอกจากนั้นยังทำข้อตกลงกับ AIS ในการโรมมิ่งเครือข่ายได้
ส่วนคลื่น 850 MHz ที่จะหมดสัมปทานในช่วงปลายปีก็จะเข้าหลักเกณฑ์เดียวกัน เพราะทางกสทช.แสดงความชัดเจนแล้วว่าจะสำรองคลื่นสำหรับใช้งานกับรถไฟฟ้าความเร็วสูงจำนวน 5 MHz ซึ่งจะเหลือคลื่นอีก 5 MHz
การประมูลจะเกิดขึ้นได้มั้ย?
อันนี้ก็เป็นการบ้านที่ทางกสทช.ต้องเก็บไปคิดว่าจะทำอย่างไร แน่นอนว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกติกาในการประมูล แต่จะเป็นอย่างไรนั้นก็ต้องคิดรอบด้านให้เกิดประโยชน์กับตัวผู้ใช้และประเทศชาติมากที่สุด เพราะถ้าไม่มีคนเข้าประมูลเหมือนเดิมก็หมายถึงโอกาสที่ประเทศไทยจะสูญเสียไปจากการใช้คลื่นความถี่เหล่านี้ให้เกิดประโยชน์